xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอย ‘สนธิ’ (7) - K Street ถนนสายล็อบบี้ยิสต์

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


“การเมืองอเมริกาแบ่งเป็นสองขั้ว คือ เดโมแครตและรีพลับลิกัน
แต่เมื่อดูองค์รวมลึกๆ แล้ว ก็ไม่ต่างกัน ทั้งสองพรรคถูกครอบงำโดยกลุ่มธุรกิจ
คนที่บริหารประเทศอเมริกา คือ กลุ่มคอร์ปอเรชัน
การเลือกตั้งในอเมริกา มีการใช้เงินใช้ทองเหมือนเมืองไทย
เป็นระบบที่ไม่โปร่งใสเหมือนกันประธานาธิบดีบุชที่ชนะก็เพราะโกงการเลือกตั้ง
อเมริกาพัฒนาการคอร์รัปชัน มาจนกระทั่งถึงจุดที่ทันสมัยมากที่สุด กลายเป็นการ 'ล็อบบี้' ได้
พูดง่ายๆ ว่าเมืองไทยยังคอร์รัปชันแบบเถื่อนๆ อยู่ แต่อเมริกานี่คอร์รัปชันแบบแนบเนียน

(สนธิ ลิ้มทองกุล จากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ 4 กรกฎาคม 2546)
...................................

หลังจากเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศ (The Smithsonian’s National Air and Space Museum; NASM) และบางส่วนของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ในช่วงเช้า คณะของเราก็แวะทานอาหารกลางวันที่ร้าน Bangkok One ร้านอาหารไทยที่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 1411 ถนนเค ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ (K Street NW)

ประมาณจากการสังเกตด้วยสายตา ช่วงมื้อกลางวันของวันทำงานเช่นนี้ ร้าน Bangkok One คลาคล่ำไปด้วยคนทำงานในชุดสูทสากล ...

พนักงานในร้านบอกกับผมว่า สาเหตุที่ช่วงกลางวันลูกค้าในร้านจะเยอะก็เนื่องมาจากเหนือร้านขึ้นไปข้างบนตึกนั้นล้วนแล้วแต่เป็นสำนักงานของบริษัทเอกชนล้วนๆ และย่านถนนเค หรือ K Street โดยเฉพาะถนนเคในฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงวอชิงตันนี้ก็เป็นย่านที่ชุกชุมไปด้วย ‘ล็อบบี้ยิสต์’

ทั้งนี้ด้วยความชุกชุมของบริษัทล็อบบี้ยิสต์ กล่าวกันว่า K Street ถือเป็นสัญลักษณ์ของ ‘อุตสาหกรรมล็อบบี้ยิสต์’ ของอเมริกาหรือของโลกเลยทีเดียว

อุตสาหกรรมการล็อบบี้คืออะไรและใหญ่โตถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นอุตสาหกรรมได้เชียวหรือ?

พจนานุกรม American Heritage ระบุถึงความหมายหนึ่งของคำว่า ล็อบบี้ (lobby) ว่าคือ กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับความพยายามในการจูงใจผู้ออกกฎหมาย หรือ เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น นักล็อบบี้ด้านการธนาคาร, นักล็อบบี้ด้านแรงงาน

นอกจากด้านการธนาคารและแรงงานแล้ว หากใครยังจำเรื่องของการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า CL (Compulsory Licensing) ในยาสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคมะเร็ง และโรคหัวใจโดยกระทรวงสาธารณสุขไทย ที่ตกเป็นข่าวดังทั่วโลกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา ก็คงจำได้ถึงบทบาทของ บรรดา ‘ล็อบบี้ยิสต์’ ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลก ที่พยายามกดดันรัฐบาลไทยทุกวิถีทาง ผ่านทางรัฐบาลประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และอังกฤษ ผ่านองค์กรโลกบาลอย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมไปถึงองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่ง เพื่อบีบให้รัฐบาลไทยล้มเลิกการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาที่จะเอื้ออำนวยให้ผู้ป่วยโรคร้ายแรงเหล่านี้ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยสามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น

โดยในตอนนั้นมีข่าวอย่างเช่น ‘ล็อบบี้ยิสต์’ ในองค์กรยูเอสเอ ฟอร์ อินโนเวชั่น (USA for Innovation) โดยนายเคน อีเดลแมน ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพยายามกดดันผ่านองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เข้าตรวจสอบคุณภาพโรงงานผลิตยาขององค์การเภสัชกรรม (อภ.)เพื่อโต้ตอบกรณีที่ไทยจะประกาศใช้ซีแอล ในขณะเดียวกันองค์กร USA for Innovation ก็ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับโดยระบุว่า องค์การเภสัชกรรมของไทยผลิตยาที่ไม่ได้มาตรฐาน จนเป็นเรื่องราวให้องค์การเภสัชกรรมต้องประกาศฟ้ององค์กรดังกล่าวโดยเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินถึง 1,000 ล้านบาท

ล็อบบี้ยิสต์ที่ทำงานให้กับบริษัทยาต่างๆ นั้นถูกเรียกรวมๆ ว่า Pharmaceutical Lobby หรือ Drug Lobby

กล่าวกันว่า ธุรกิจการล็อบบี้เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทยาในสหรัฐอเมริกานั้นเป็นธุรกิจการล็อบบี้ที่ใหญ่ที่สุดและมีกองทัพล็อบบี้ยิสต์ที่ลงทะเบียนมากที่สุดถึง 1,274 คน เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้เกี่ยวพันกับความเป็นความตายของผู้คน ซึ่งแน่นอนย่อมทำให้มูลค่าของธุรกิจยาในระดับโลกนั้นสูงมหาศาล

อ้างอิงข้อมูลของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ วันที่ 12 มกราคม 2550 ระบุว่าในช่วงปี 2541-2547 (ค.ศ.1998-2004) อุตสาหกรรมยาและเทคโนโลยีชีวภาพนั้นมีการล็อบบี้รัฐสภาสหรัฐฯ ให้ออกกฎหมายที่เกี่ยวพันถึงประโยชน์ของบริษัทยาถึงกว่า 1,600 ฉบับ นอกจากนี้ในช่วงปี 2541-2548 ยังมีการใช้เงินเพื่อการดังกล่าวถึงกว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยากลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เงินในการล็อบบี้มากที่สุด ทั้งนี้ขอบข่ายของการใช้เงินเพื่อการล็อบบี้ดังกล่าวไม่ได้สิ้นสุดแค่การซื้อเสียงจากฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ยังก้าวล่วงไปถึงการให้เงินสนับสนุนผู้ลงสมัครรับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วย โดยในปี 2547 อันเป็นปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ นั้นจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้เงินบริจาคจากอุตสาหกรรมยาถึงกว่าหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐ

ในส่วนของประเทศไทย แม้จะไม่มีการลงทะเบียนล็อบบี้ยิสต์ของอุตสาหกรรมยาหรืออุตสาหกรรมใดๆ อย่างเป็นทางการหรือปรากฏอย่างเป็นตัวเป็นตน แต่ในระดับปฏิบัติการ จริงๆ แล้วในอุตสาหกรรมยา เซลส์ขายยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ของบริษัทต่างๆ ก็อาจถือได้ว่าเป็น ‘ล็อบบี้ยิสต์’ ในลักษณะหนึ่งที่คอยเป็นสปอนเซอร์เพื่อจัดงานสัมมนา-ประชุมทางการแพทย์ต่างๆ รวมไปถึงการเข้าถึงผู้บริหารองค์กร และตัวแพทย์เพื่อจูงใจให้มีการแนะนำใช้ยาหรือเครื่องมือของบริษัทตัวเองกับคนไข้ ...

ขณะที่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ข้อมูลจากหนังสือ สงครามของชนชั้นกลาง (War On The Middle Class) ซึ่งเขียนโดย Lou Dobbs ในบทที่ 2 และบทที่ 3 ก็ระบุชัดเจนว่าตั้งแต่ปี 2541 (ค.ศ.1998) เป็นต้นมา The Business Roundtable ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ติดอยู่ใน Fortune 200 ได้กดดันให้ภาครัฐวางแนวทางนโยบายสาธารณะอันเป็นประโยชน์กลุ่มของตนโดยใช้เงินกว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อล็อบบี้ให้มีการผลักดันนโยบายด้าน ‘การค้าเสรี’

นอกจากนี้ในปี 2543 (ค.ศ. 2000) ในวาระที่จีนกำลังจะเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก กลุ่ม Business Roundtable ดังกล่าวยังออกแคมเปญกดดันให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปรับระดับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนให้อยู่ในระดับปกติ เพื่อที่บริษัทเหล่านี้จะได้ประโยชน์จากการทำการลงทุนและการค้ากับประเทศจีน โดยไม่คำนึงถึงว่าประชาชนและชนชั้นกลางชาวอเมริกันจะเดือดร้อนหรือตกงานไปมากมายเท่าไหร่จากการที่บริษัทเหล่านี้ย้ายฐานการผลิตจากสหรัฐฯ ไปยังประเทศจีน และบริษัทเหล่านี้ ไม่สนใจด้วยว่าการผลักดันดังกล่าวจะทำให้ดุลการค้าของสหรัฐฯ นั้นขาดดุลกับจีนมากเพียงไร (ตัวเลขดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปี 2549 ระบุว่าสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากว่า 232,588.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 8 ล้านล้านบาท)

ที่ร้าน Bangkok One พวกเรารับประทานอาหารไปพลางเงี่ยหูฟังคุณพี่เจ้าของร้านสนทนาถึงเรื่องราวต่างๆ

“รู้สึกว่าไอ้เจ้า ‘บริษัทอีเดลแมน’ ที่ทักษิณจ้างเพื่อทำประชาสัมพันธ์ให้กับตัวเองและมีความเกี่ยวพันกับเรื่อง USA for Innovation ที่ออกมาโจมตีประเทศไทยเรื่องซีแอลยาก็ต้องตั้งอยู่แถวๆ นี้นี่แหละ ...” ชาวไทยในวอชิงตันคนหนึ่งกล่าวขึ้นกลางโต๊ะอาหาร

เมื่อผมไปค้นข้อมูลที่ตั้งของอีเดลแมนในอินเทอร์เน็ตก็พบว่าแม้สำนักงานของอีเดลแมนสาขาวอชิงตัน จะไม่ได้อยู่บนถนนเค (K Street) แต่ก็ถือว่าอยู่ในละแวกเดียวกันเพราะ สำนักงาน ณ กรุงวอชิงตันของบริษัทอีเดลแมนที่ว่านั้น ตั้งอยู่ ณ อาคารเลขที่ 1875 บนถนนไอ (I Street) ห่างจากร้าน Bangkok One ไปเพียงไม่กี่ช่วงตึกเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น