xs
xsm
sm
md
lg

"สาระ ล่ำซำ"ฝากความหวังคปภ. หนุนธุรกิจประกันแข่งขันอย่างเข้มแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยในประเทศไทยกำลังเป็นที่จับตามองหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังการจัดตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อกำกับดูแลธุรกิจประกัน ซึ่งจะมีบทบาทหน้าที่ในลักษณะเดียวกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ที่มีการพูดถึงกันมานับ 10 ปี มีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถจัดตั้งขึ้นมาได้อย่างเป็นรูปธรรมในรัฐบาลชุดนี้

โดยในวันที่ 1 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ได้ถือกำเนิดขึ้นมาซึ่งทำให้ในแง่ของการกำกับดูแลภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากต้องมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังแทนที่กระทรวงพาณิชย์เดิมต้นสังกัดของกรมการประกันภัย

ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการก็มีการเตรียมพร้อมปรับตัวเพื่อรับแนวทางการกำกับดูแลใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร หรือมีความคาดหวังต่อองค์กรที่จัดตั้งใหม่นี้อย่างไร "สาระ ล่ำซำ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทยได้ให้ความเห็นถึงภาพรวมของการดำเนินธุรกิจประกันชีวิตกับ "ผู้จัดการรายวัน” ภายหลังการที่ต้องอยู่ภายใต้การส่งเสริมและกำกับดูแลของกระทรวงการคลังดังนี้

Q : ภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้

A : มองว่าถึงสิ้นปีนี้น่าจะโตอยู่ที่ประมาณ 15% ถือว่าดีมากและโตกว่าการขยายตัวของจีดีพีหลายเท่า ทั้งนี้เหตุผลเบื้องต้นมาจากคนไทยรู้เรื่องประกันชีวิตดีขึ้น เห็นความสำคัญของการประกันชีวิตมากขึ้น นอกจากนี้นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่มีความหลากหลายทำให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคหลายๆ ด้านที่ไม่เคยมีมาก่อน เกิดช่องทางการขายใหม่มากขึ้นจากที่เคยมีเฉพาะตัวแทน ปัจจุบันมีแบงก์แอสชัวรันส์เกิดขึ้น มีการขายผ่านทางโทรศัพท์ ทำให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น สุดท้ายเองปัจจัยทางเศรษฐกิจก็มีส่วนช่วยธุรกิจประกันชีวิตเติบโต

Q : หลังจากมีการตั้งคปภ.แล้วธุรกิจประกันจะมีการปรับตัวอย่างไร

A : การตั้งคปภ.ขึ้นมาถือเป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่เรื่องที่บริษัทเอกชนจะต้องปรับตัว แต่คปภ.เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกัน และเรื่องที่สำคัญคือการอยู่ใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะธุรกิจประกันก็เป็นสถาบันการเงินประเภทหนึ่ง ประเด็นหลายๆ อย่างที่ภาคการเงินอื่นๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ได้แต่ประกันสามารถตอบโจทย์บางอย่างได้ โดยเฉพาะเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับบำนาญที่สามารถจะช่วยในภาคธุรกิจของประเทศทั้งหมด เมื่อคนไทยอายุยืนขึ้นการมีระบบบำนาญถือเป็นเรื่องที่ดีประกันจะสามารถจัดการเรื่องของบำนาญได้ แต่ในขณะนี้ยังติดในเรื่องของภาษีทำให้ไม่สามารถเกิดผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมาได้

เมื่อพูดถึงเรื่องภาษีหรือมาตรการอื่นๆ หากธุรกิจประกันมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังแล้วก็อาจจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น และเมื่อมองภาพอีกฝั่งหนึ่งประกันเองไม่ใช่แต่เรื่องของการขายประกันชีวิตแล้วคุ้มครองความเสี่ยง แต่เงินจากธุรกิจประกันที่หมุนเวียนในประเทศสูงถึง 6 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่สามารถนำไปลงทุนในภาคธุรกิจและพัฒนาประเทศชาติได้อย่างดีมาก และใน 6 แสนล้านบาทนี้ เป็นสินทรัพย์ในการลงทุนกว่า 80% ลงทุนในตราสารหนี้และส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาลหากมีโครงการใหญ่ๆ เมกกะโปรเจกต์ก็สามารถใช้เงินส่วนนี้ได้อีก 10% ในตลาดทุนซึ่งก็สามารถช่วยพัฒนาได้ และส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องของเงินให้กู้

Q : มีข้อเสนอแนะต่อคปภ.ในเรื่องออกกฎเกณฑ์ต่างๆอย่างไรบ้าง

A : ตอนนี้คปภ.และสมาคมประกันได้ร่วมกันดูแลในเรื่องการดูแลให้เกิดความเข้มแข็ง และกำลังอยู่ระหว่างศึกษาเรื่อง Risk Base Capital ร่วมกันอยู่แล้ว นอกจากนี้โครงสร้างยังทำให้เกิดความโปร่งใส บรรษัทภิบาล มีการพูดถึงว่าในอนาคตจะต้องเป็นบริษัทมหาชน ส่วนประเด็นที่จะช่วยส่งเสริมอื่นๆ คือเรื่องของภาษีซึ่งมีอยู่หลายประเด็นมากซึ่งต้องฝากหน่วยงานกำกับและส่งเสริมไว้ด้วย

Q : การเปิดเสรีการเงินจะกระทบต่อธุรกิจประกันอย่างไร

A : การเปิดเสรีการเงินจะมีขึ้นในปี 2020 ตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก(WTO) และปี 2015 ในกรอบของสหภาพเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN ECONOMIC COMMUNITY) ระยะเวลาที่มีอยู่จะต้องเตรียมความพร้อมให้กับบริษัทที่มีอยู่ในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง ซึ่งเราเองก็มองว่าในปี 2020 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม

Q : การดำเนินธุรกิจของเมืองไทยประกันชีวิตถึงสิ้นปีเป็นอย่างไร

A : ผลการดำเนินงานน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย เบี้ยรับใหม่ในขณะนี้เติบโตที่ประมาณ 70% ถือว่าดีและได้ตามเป้า พอร์ตของเบี้ยประกันชีวิตเป็นลำดับที่ 4 ของประเทศมีเบี้ยประกันที่คาดว่าสิ้นปีนี้จะจบที่ 12,700 ล้านบาท

ส่วนผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาจะมีความแตกต่างมากขึ้นโดยล่าสุดเมืองไทยประกันชีวิตได้ออก "เมืองไทย ไอ ลิ้งก์ SET50” ซึ่งสามารถทำยอดขายได้ดีตามเป้าและสามารถปิดการขายได้แล้วครบ 100 ล้านบาท เป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ไปอิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ซึ่งในธุรกิจประกันชีวิตกำลังเกิดสิ่งเหล่านี้มากขึ้น หลายๆ บริษัทกำลังมีการพัฒนาขึ้นมา แต่ก็ต้องทำความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนมากขึ้น

Q : ความพร้อมในการแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน

A : เมืองไทยประกันชีวิตมีความพร้อมที่จะเป็นบริษัทมหาชนเมื่อไหร่ คือจะให้เป็นเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะ ณ วันนี้โครงสร้างของเมืองไทยประกันชีวิตมีความโปร่งใสมากกว่าบริษัทมหาชน มีการตั้งคณะกรรมการอิสระ 1 ใน 3 กรรมการตรวจสอบตั้งไว้เรียบร้อยมากกว่า 3 คนตามเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ซึ่งเรามีถึง 5 คน มีความรู้เรื่องบัญชี การลงทุนการตลาดด้วย

นอกจากนั้นเรายังมีการตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงซึ่งคณะกรรมการต่างๆ เหล่านี้ต่างมีความเป็นอิสระโดยสิ้นเชิง และด้วยขนาดของเงินกองทุนและปัจจัยส่งเสริมสนับสนุนอื่นๆ ที่เมืองไทยประกันชีวิตใช้มาตรฐานบริษัทในยุโรปและสูงกว่ามาตรฐานของยุโรป 200% ฉะนั้น เมื่อไหร่ที่จะให้เราเป็นมหาชนเราก็พร้อมที่จะเป็นทันที แต่ประเด็นคือการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจะต้องให้เวลาที่เพียงพอกับบริษัทที่ต้องปรับตัว

"เวลา 5 ปีที่ตั้งไว้ไม่ใช่ประเด็น แต่มีคำถามว่าทำไมต้องไปให้เขาเป็นมหาชนมันมีวิธีการอื่นๆ ที่จะทำให้โปร่งใสได้ อย่างของเมืองไทยประกันชีวิตเรามีเครดิตเรตติ้งของเอสเอนด์พี BBB+ คำถามคือจะให้เป็นบริษัทมหาชนเพื่ออะไร เพื่อให้เป็นบรรษัทภิบาล หรือเพื่อให้มีกฎหมายรองรับ ถ้าเพื่อบรรษัทภิบาลมันมีตัวเลือกเยอะมาก แต่ถามว่ามันหนักหนาสาหัสไหมสำหรับธุรกิจประกันชีวิตผมบอกเลยว่าไม่เราสามารถปรับตัวได้"นายสาระกล่าว

Q : พันธมิตรอย่าง KBANK สนับสนุนธุรกิจของบริษัทเพียงใด

A : สำหรับธนาคารกสิกรไทยเองก็ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์ของประเทศไทยซึ่งประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้มาก ดูจากตัวเลขการขยายตัวจะเห็นว่า KBANCASSURANCE เติบโตได้ดีมาก แต่เป็นส่วนหนึ่งของช่องทางขายของเมืองไทยประกันชีวิตเท่านั้นเรายังมีการขายผ่านตัวแทนและการขายผ่านช่องทางอื่นๆด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น