แผนรวมพรรค "ประชาราช-มัชฌิมาธิปไตย-รวมใจไทยชาติพัฒนา" เพื่อเป็นทางเลือกที่ 3 ล่ม "กร" อ้างหารือกกต.แล้วพบว่า เวลากระชั้นชิด ติดขัดที่ขั้นตอน แต่ยังเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน "อนงค์วรรณ"ยืนยันยังทำงานร่วมกับกลุ่มอื่นได้ แต่ต้องเป็นในนามมัชฌิมาธิปไตย ด้าน"สุวจน์" ยังยืนหยัดอยู่รวมใจไทยชาติพัฒนา เชื่อได้ส.ส.40-50 เก้าอี้ "สุริยะใส"ชี้ "แม้ว"ใช้ยุทธศาสตร์ แยกกันเดิน รวมกันตี
เมื่อวานนี้ (21ต.ค.) นายกร ทัพพะรังสี รองหัวหน้าพรรคประชาราช กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับ นายเสนาะเทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ถึงการรวมพรรคประชาราช พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ว่า ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับหัวหน้าพรรคทั้งสองพรรค มาตลอด เพราะมีเจตนารมณ์ และอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน และมีความผูกพันกันมา แต่เมื่อนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ออกมาระบุว่า ไม่ขอควบรวมด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และไม่ได้ทำให้เกิดความบาดหมางกัน สำหรับในส่วนของพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคประชาราชยังคงมีแนวคิดเดิม
อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่า เรื่องรวมพรรคนั้น ติดขัดเรื่องกระบวนการขั้นตอน ระยะเวลาข้อบังคับตามกรอบกฎหมาย จึงทำให้ไม่สามารถรวมตัวกันได้ แต่ยังจะเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นต่อกัน
"จากตารางเวลาที่มีไม่เพียงพอ ทำให้เราต้องยุติการควบรวมพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน พรรคประชาราช ประกาศจุดยืนที่จะอยู่บนนโยบายของพรรค เดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งเต็มรูปแบบ โดยยึดอุดมการณ์เดิมที่จะทำเพื่อแผ่นดิน โดยไม่มีวาระซ่อนเร้น ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่มีให้กับพรรคประชาราช โดยจะรับไว้ในความเป็นมิตรที่ดีต่อกัน" นายกรกล่าว และว่า กรอบระยะเวลาไม่สามารถทำได้จริงๆ จึงต้องยุติเรื่องการรวมพรรค ซึ่งไม่เกี่ยวกับการหาชื่อพรรค หรือ ตกลงเรื่องหัวหน้าพรรคใหม่ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม อยากฝากประชาชนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ขอให้เข้าคูหา กาพรรคใดก็ได้ที่จะทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ไม่กลับไปสู่วังวนเดิมๆ อีก
มัชฌิมาธิปไตยทำงานกับกลุ่มอื่นได้
นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เลขาธิการพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวถึงความชัดเจนในการควบรวมระหว่าง พรรคมัชฌิมาธิปไตย รวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคประชาราช ว่า จากการหารือ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา เราไม่มีแนวคิดเรื่องการตั้งพรรคการเมืองใหม่ แต่พรรคยินดีต้อนรับทุกกลุ่มและทุกพรรคการเมืองที่สนใจเข้าร่วมงานในนามของพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยเฉพาะ นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช หากสนใจมาร่วมงานกับพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็ต้องหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้ ซึ่งนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หัวหน้าพรรคจะแถลงความชัดเจนในวันนี้
"ขณะนี้พรรคมัชฌิมาธิปไตย มีความพร้อมเรื่องการจัดผู้สมัครลงเลือกตั้งครบเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ทั้งนี้ ไม่ได้คิดว่า พรรคมัชฌิมาธิปไตยดีกว่าพรรคประชาราช หรือ รวมใจไทยชาติพัฒนา หรือใครดีกว่าใคร แต่ก็มั่นใจในนโยบายของพรรค อีกทั้งการที่ไม่ตั้งพรรคการเมืองใหม่ เนื่องจากมีเรื่องของเงื่อนเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง และใกล้ถึงวันเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถทำงานด้วยกันได้ ก็ยังสามารถพูดคุยกันได้ภายหลังการเลือกตั้ง" เลขาธิการพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าว
"สุวัจน์"ยืนหยัดอยู่รวมใจไทยฯ
ด้าน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวหน้ากลุ่มชาติพัฒนา ในพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กลุ่มชาติพัฒนาได้หารือกันแล้ว และตัดสินใจที่จะทำงานการเมืองร่วมกับพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาต่อไป ไม่มีการไปรวมกับพรรคอื่น
"ทางเราไม่ทราบเรื่องนี้เลย เมื่อมีข่าวออกไปทำให้เกิดความสับสน ภายในกลุ่มไม่มีใครทราบเรื่องนี้ และไม่ได้มีการหารือกับใคร ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่เกี่ยวข้อง"นายสุวัจน์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อ้างตัวเป็นสมาชิกของกลุ่ม เข้าร่วมหารือกับหัวหน้าพรรคประชาราช และหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตยนั้น นายสุวัจน์ กล่าวว่า ตนไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ จึงไม่ทราบเรื่อง ยอมรับว่าตนรู้จักสนิทสนมกับ พล.ร.อ.บรรณวิทย์จริง แต่เป็นการรู้จักในฐานะที่ทำงานร่วมกันในลอนเทนนิสสมาคม ซึ่งพูดคุยกันเฉพาะเรื่องเทนนิส ไม่เคยคุยกันเรื่องการเมือง ส่วนกรณีนายกร ทัพพะรังสี รองหัวหน้าพรรคประชาราช ซึ่งเป็นเจ้าภาพนัดหารือ นายสุวัจน์ กล่าวว่า ตนไม่ได้พูดคุยกับนายกร นานแล้ว จึงไม่ทราบทิศทางการเมืองของนายกร ว่าเป็นอย่างไร
เมื่อถามถึงโอกาสที่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา จะไปรวมกับกลุ่มการเมืองอื่น นายสุวัจน์ กล่าวย้ำว่า พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา มีความพร้อมที่เหมาะสมอยู่แล้ว คงมุ่งที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งต่อไป
"วันนี้เป็นเวลาที่ต้องบอกกับประชาชนถึงนโยบายของพรรคการเมืองว่าจะทำอะไร หรือจะแก้ปัญหาให้ประเทศได้อย่างไร การสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นคงไม่มีประโยชน์อะไร สำหรับฐานเสียงของพรรคฯ เมื่อประเมินจาก อดีต ส.ส.ในกลุ่มที่มีฐานเสียงในจังหวัดนครราชสีมา , นครสวรรค์ , มุกดาหาร , มหาสารคม และ สกลนคร แล้วรวมกับฐานเสียงของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรค ที่มีอยู่ทางภาคเหนือ ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถได้ที่นั่งจากการเลือกตั้งประมาณ 40-50 ที่นั่ง"
นายสุวัจน์ ยังประเมินอีกว่า หลังจาก กกต. ประกาศผลการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จะมีการเคลื่อนไหวย้ายเข้า-ออกพรรคการเมืองอีกครั้ง เพราะเมื่อมีความชัดเจนของการแบ่งเขต จะทำให้กลุ่ม และพรรคการเมืองประเมินได้ว่า แต่ละพรรคจะมีโอกาสได้รับเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด
ระวังแม้วใช้แผนแยกกันเดิน รวมกันตี
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึง กรณีที่มีกระแสข่าวการรวมพรรค ว่า การรวมพรรคจะทำให้เกิดความชัดเจนทางการเมืองมากยิ่งขึ้น และจะทำให้ประชาชนเห็นการแบ่งขั้วทางการเมือง และนโยบายได้อย่างชัดเจน เพราะการมีพรรคการเมืองจำนวนมาก แต่มีนโยบายที่ไม่แตกต่างกันยิ่งจะทำให้การเมืองไม่เป็นผลดี แต่ถ้าหากไม่รวมพรรคกันหากมีการเลือกตั้งก็จะตัดคะแนนกันเอง นอกจากนี้ยังจะเป็นการเปิดโอกาสพรรคพลังประชาชน ชนะการเลือกตั้งเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล
"จากที่ผมฟังหลายฝ่ายวิเคราะห์ทางการเมืองว่า เลือกตั้งครั้งหน้าพรรคพลังประชาชน จะได้เสียง 100-150 เสียง โดยจะได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคอื่นลงตัดคะแนนกันเอง นอกจากนี้กลุ่มที่น่าจับตามองคือ กลุ่มทุนอำนาจเก่าที่อยู่เบื้องหลังพรรคพลังประชาชน โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจใช้ยุทธศาสตร์แยกกันเดิน รวมกันตี โดยจะสนับสนุนการเงินให้กับพรรคการเมืองหลายพรรค ไม่สนับสนุนเฉพาะพรรคพลังประชาชน" นายสุริยะใส กล่าว
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ สนับสนุนเพียงพรรคพลังประชาชน ในทางการเมืองถือว่าเสี่ยงเกินไป เพราะอาจทำให้ตกเป็นเป้า และถูกกลุ่มการเมืองที่แยกตัวมาจากขั้วอำนาจเก่าโจมตีรอบด้าน ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจจะสนับสนุนทุกพรรคที่เคยอยู่กับพรรคไทยรักไทย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตนอยากให้ประชาชนจับตามองให้ดี และจำเป็นจะต้องแสดงจุดยืน โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่เกิดใหม่ที่มาจากขั้วอำนาจเก่า ควรจะดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และอดีตรัฐมนตรีขั้วอำนาจเก่า ควรสนับสนุนการทำงานของ คตส. และ ป.ป.ช.
นายสุริยะใส ยังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าพันธมิตรฯ อยู่เบื้องหลังและนับสนุนการดำเนินการของพรรคมัชฌิมาธิปไตย ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะถึงแม้จะมีพันธมิตรฯ บางคนที่เคยร่วมต่อสู้กับเรา จะไปลงสมัครรับเลือกตั้งก็ตาม ถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่พันธมิตรฯ ที่อยู่และองค์กรภาคประชาชนยืนยันจะตรวจสอบทางการเมืองของทุกพรรคอย่างแน่นอน
กกต.วอนขอข้อมูลซื้อ-ขาย ส.ส.
นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีการซื้อตัว ส.ส. ว่า ทราบจากข่าวเท่านั้น ดังนั้นต้องขอความกรุณาคนให้สัมภาษณ์ ช่วยชี้เบาะแส.ให้กับ กกต. ด้วย เพื่อทำการสอบสวนในเชิงลึก โดยกกต.จะเก็บเรื่องการแจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ นอกจากนี้จะนำข้อมูลประสานงานไปกับคณะกรรมการป้องกันการซื้อสิทธิ ขายเสียง ชุดที่มี พล.อ.สนธิ บญยรัตกลิน เป็นประธานด้วย
"การให้ข้อมูลอย่างนี้กระจายออกไปนอกประเทศ ทำให้ชื่อเสียงเราโดนว่าประชาธิปไตยได้มาโดยการซื้อขาย ท่านต้องได้ข้อเท็จจริง ไม่อย่างนั้นท่านคงไม่พูดออกมา ซื้อขายอย่างไร ผู้ใดเป็นคนขาย ผู้ใดเป็นคนซื้อ ไม่ใช่พูดกันแล้วให้ กกต. ไปสืบเอาเอง เราจะขอข้อมูลว่าใครซื้อใครขาย กระแสการเงินมาจากด้านใด อย่างไรก็ตาม กกต.มีฝ่ายสืบสวนสอบสวนไม่มาก หากท่านบอกว่าคนโน้นคนนี้ ซื้อขายแล้วให้เราไปสอบ ก็ถือเป็นภารกิจหนัก"
เมื่อถามว่า มีความเหมาะสมเพียงใด ที่จะนำข้อมูลไปประสานกับคณะกรรมการป้องกันฯ นางสดศรี กล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันฯ มีภารกิจที่ต้องช่วยเหลือ กกต. เมื่อท่านมีภารกิจ หน้าที่นั้น ท่านต้องสืบสวนด้วย และฝ่ายบุคคลท่านก็พร้อมกว่าและ สามารถประสานงานกับทุกส่วนได้ นอกจากนี้ก็จะประสาน ให้คณะกรรมการป้องกันตรวจสอบ เรื่องธุรกรรมทางการเงินโดยจะเริ่มดำเนินการอาทิตย์หน้า เพราะพระราชกฤษฎีกา จะมีผลบังคับ
นางสดศรี กล่าวต่อว่า ตาม พ.ร.บ. พรรคการเมือง มาตรา 22-23 และมาตรา 109 ระบุเว่า การซื้อขายตัว ส.ส. ถือว่ามีความผิด โดยระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี
เมื่อถามว่า จะมีการจับตานักการเมืองที่มีพฤติกรรมย้ายพรรคไปมาหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า ท่านจะไปไหนท่านมีสิทธิ พฤติการณ์อย่างนี้ ไม่ชัดเจนว่ามีการซื้อขายจริงๆ เราจะไปมองเจตนาว่าไปทุจริตคงไม่ได้ หากมองย่างนั้นประชาธิปไตยจะขับเคลื่อนไม่ได้ และการพิจารณาเรื่องใดก็ต้องใช้หลักฐาน
พปช.อ้าง กก.ชุดบิ๊กบังอาจขัด รธน.
นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชาชน แถลงถึง การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการตามวาระแห่งชาติ ว่าด้วยการรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงว่า พรรคมีความห่วงใยต่อการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ที่มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานรัฐนำไปปฏิบัติได้ โดยหน่วยงานดังกล่าวมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานซึ่งเคยเป็นคนที่ปฏิวัติยึดอำนาจมาจากรัฐบาลที่แล้ว และนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ เป็นรองประธาน ก็ยังดำรงตำแหน่งประธานวอร์รูมรัฐบาล ที่ออกมาโจมตีกลุ่มอำนาจเก่าบ่อยครั้ง รวมทั้งมีคณะกรรมการอีก 51 คน ซึ่งมีนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.เป็นกรรมการอยู่ด้วย ซึ่งเราเป็นห่วงว่า การตั้งคณะกรรมการฯ เป็นการหมิ่นเหม่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และได้ให้คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพิจารณา รวมทั้งเรายังเฝ้าดูพฤติกรรมการทำงาน เนื่องจากบุคคลที่เคยเป็นประธาน หรือว่าคณะกรรมการ จะเลือกปฏิบัติกับพรรคพลังประชาชนหรือไม่
นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้ นายสุทธิพล ลาออกจากคณะกรรมการดังกล่าว เนื่องจาก นายสุทธิพล เป็นเลขาธิการกกต.และกกต. เป็นหน่วยงานมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการ หรือมีอำนาจสั่งการให้รัฐบาลดำเนินการได้ ซึ่งอาจหมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย รวมทั้งยังอาจถูกมองว่า ไม่เป็นกลางในการทำหน้าที่
ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่รัฐบาลประกาศขจัดการซื้อสิทธิ ขายเสียง เป็นวาระแห่งชาติ และแต่งตั้ง พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน เป็นประธานปราบปรามการซื้อสิทธิ์ ขายเสียงนั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง เป็นปัญหาของประเทศ หากรัฐบาลเอาจริงในการแก้ไขปัญหา ก็จะทำให้การเมืองดีขึ้น ประเทศชาติก็จะพัฒนาตามไปด้วย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการขจัดการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง จะเป็นการช่วยใครคนใด หรือพรรคการเมืองใด แต่เป็นการช่วยประเทศชาติในทางกลับกัน พรรคการเมือง นักการเมืองที่ดี ที่จะเข้าสู่การแข่งขันการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรมย่อมต้องเห็นด้วย จะมีแต่นักการเมืองน้ำเน่า พรรคการเมืองที่ยึดติดกับอำนาจ ที่ใช้เงินเป็นตัวนำ ที่มักจะเดือดร้อนกับนโยบายที่ช่วยประเทศชาติเช่นนี้
เมื่อวานนี้ (21ต.ค.) นายกร ทัพพะรังสี รองหัวหน้าพรรคประชาราช กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับ นายเสนาะเทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ถึงการรวมพรรคประชาราช พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ว่า ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับหัวหน้าพรรคทั้งสองพรรค มาตลอด เพราะมีเจตนารมณ์ และอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน และมีความผูกพันกันมา แต่เมื่อนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ออกมาระบุว่า ไม่ขอควบรวมด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และไม่ได้ทำให้เกิดความบาดหมางกัน สำหรับในส่วนของพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคประชาราชยังคงมีแนวคิดเดิม
อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่า เรื่องรวมพรรคนั้น ติดขัดเรื่องกระบวนการขั้นตอน ระยะเวลาข้อบังคับตามกรอบกฎหมาย จึงทำให้ไม่สามารถรวมตัวกันได้ แต่ยังจะเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นต่อกัน
"จากตารางเวลาที่มีไม่เพียงพอ ทำให้เราต้องยุติการควบรวมพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน พรรคประชาราช ประกาศจุดยืนที่จะอยู่บนนโยบายของพรรค เดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งเต็มรูปแบบ โดยยึดอุดมการณ์เดิมที่จะทำเพื่อแผ่นดิน โดยไม่มีวาระซ่อนเร้น ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่มีให้กับพรรคประชาราช โดยจะรับไว้ในความเป็นมิตรที่ดีต่อกัน" นายกรกล่าว และว่า กรอบระยะเวลาไม่สามารถทำได้จริงๆ จึงต้องยุติเรื่องการรวมพรรค ซึ่งไม่เกี่ยวกับการหาชื่อพรรค หรือ ตกลงเรื่องหัวหน้าพรรคใหม่ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม อยากฝากประชาชนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ขอให้เข้าคูหา กาพรรคใดก็ได้ที่จะทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ไม่กลับไปสู่วังวนเดิมๆ อีก
มัชฌิมาธิปไตยทำงานกับกลุ่มอื่นได้
นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เลขาธิการพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวถึงความชัดเจนในการควบรวมระหว่าง พรรคมัชฌิมาธิปไตย รวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคประชาราช ว่า จากการหารือ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา เราไม่มีแนวคิดเรื่องการตั้งพรรคการเมืองใหม่ แต่พรรคยินดีต้อนรับทุกกลุ่มและทุกพรรคการเมืองที่สนใจเข้าร่วมงานในนามของพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยเฉพาะ นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช หากสนใจมาร่วมงานกับพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็ต้องหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้ ซึ่งนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หัวหน้าพรรคจะแถลงความชัดเจนในวันนี้
"ขณะนี้พรรคมัชฌิมาธิปไตย มีความพร้อมเรื่องการจัดผู้สมัครลงเลือกตั้งครบเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ทั้งนี้ ไม่ได้คิดว่า พรรคมัชฌิมาธิปไตยดีกว่าพรรคประชาราช หรือ รวมใจไทยชาติพัฒนา หรือใครดีกว่าใคร แต่ก็มั่นใจในนโยบายของพรรค อีกทั้งการที่ไม่ตั้งพรรคการเมืองใหม่ เนื่องจากมีเรื่องของเงื่อนเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง และใกล้ถึงวันเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถทำงานด้วยกันได้ ก็ยังสามารถพูดคุยกันได้ภายหลังการเลือกตั้ง" เลขาธิการพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าว
"สุวัจน์"ยืนหยัดอยู่รวมใจไทยฯ
ด้าน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวหน้ากลุ่มชาติพัฒนา ในพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กลุ่มชาติพัฒนาได้หารือกันแล้ว และตัดสินใจที่จะทำงานการเมืองร่วมกับพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาต่อไป ไม่มีการไปรวมกับพรรคอื่น
"ทางเราไม่ทราบเรื่องนี้เลย เมื่อมีข่าวออกไปทำให้เกิดความสับสน ภายในกลุ่มไม่มีใครทราบเรื่องนี้ และไม่ได้มีการหารือกับใคร ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่เกี่ยวข้อง"นายสุวัจน์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อ้างตัวเป็นสมาชิกของกลุ่ม เข้าร่วมหารือกับหัวหน้าพรรคประชาราช และหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตยนั้น นายสุวัจน์ กล่าวว่า ตนไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ จึงไม่ทราบเรื่อง ยอมรับว่าตนรู้จักสนิทสนมกับ พล.ร.อ.บรรณวิทย์จริง แต่เป็นการรู้จักในฐานะที่ทำงานร่วมกันในลอนเทนนิสสมาคม ซึ่งพูดคุยกันเฉพาะเรื่องเทนนิส ไม่เคยคุยกันเรื่องการเมือง ส่วนกรณีนายกร ทัพพะรังสี รองหัวหน้าพรรคประชาราช ซึ่งเป็นเจ้าภาพนัดหารือ นายสุวัจน์ กล่าวว่า ตนไม่ได้พูดคุยกับนายกร นานแล้ว จึงไม่ทราบทิศทางการเมืองของนายกร ว่าเป็นอย่างไร
เมื่อถามถึงโอกาสที่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา จะไปรวมกับกลุ่มการเมืองอื่น นายสุวัจน์ กล่าวย้ำว่า พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา มีความพร้อมที่เหมาะสมอยู่แล้ว คงมุ่งที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งต่อไป
"วันนี้เป็นเวลาที่ต้องบอกกับประชาชนถึงนโยบายของพรรคการเมืองว่าจะทำอะไร หรือจะแก้ปัญหาให้ประเทศได้อย่างไร การสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นคงไม่มีประโยชน์อะไร สำหรับฐานเสียงของพรรคฯ เมื่อประเมินจาก อดีต ส.ส.ในกลุ่มที่มีฐานเสียงในจังหวัดนครราชสีมา , นครสวรรค์ , มุกดาหาร , มหาสารคม และ สกลนคร แล้วรวมกับฐานเสียงของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรค ที่มีอยู่ทางภาคเหนือ ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถได้ที่นั่งจากการเลือกตั้งประมาณ 40-50 ที่นั่ง"
นายสุวัจน์ ยังประเมินอีกว่า หลังจาก กกต. ประกาศผลการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จะมีการเคลื่อนไหวย้ายเข้า-ออกพรรคการเมืองอีกครั้ง เพราะเมื่อมีความชัดเจนของการแบ่งเขต จะทำให้กลุ่ม และพรรคการเมืองประเมินได้ว่า แต่ละพรรคจะมีโอกาสได้รับเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด
ระวังแม้วใช้แผนแยกกันเดิน รวมกันตี
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึง กรณีที่มีกระแสข่าวการรวมพรรค ว่า การรวมพรรคจะทำให้เกิดความชัดเจนทางการเมืองมากยิ่งขึ้น และจะทำให้ประชาชนเห็นการแบ่งขั้วทางการเมือง และนโยบายได้อย่างชัดเจน เพราะการมีพรรคการเมืองจำนวนมาก แต่มีนโยบายที่ไม่แตกต่างกันยิ่งจะทำให้การเมืองไม่เป็นผลดี แต่ถ้าหากไม่รวมพรรคกันหากมีการเลือกตั้งก็จะตัดคะแนนกันเอง นอกจากนี้ยังจะเป็นการเปิดโอกาสพรรคพลังประชาชน ชนะการเลือกตั้งเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล
"จากที่ผมฟังหลายฝ่ายวิเคราะห์ทางการเมืองว่า เลือกตั้งครั้งหน้าพรรคพลังประชาชน จะได้เสียง 100-150 เสียง โดยจะได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคอื่นลงตัดคะแนนกันเอง นอกจากนี้กลุ่มที่น่าจับตามองคือ กลุ่มทุนอำนาจเก่าที่อยู่เบื้องหลังพรรคพลังประชาชน โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจใช้ยุทธศาสตร์แยกกันเดิน รวมกันตี โดยจะสนับสนุนการเงินให้กับพรรคการเมืองหลายพรรค ไม่สนับสนุนเฉพาะพรรคพลังประชาชน" นายสุริยะใส กล่าว
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ สนับสนุนเพียงพรรคพลังประชาชน ในทางการเมืองถือว่าเสี่ยงเกินไป เพราะอาจทำให้ตกเป็นเป้า และถูกกลุ่มการเมืองที่แยกตัวมาจากขั้วอำนาจเก่าโจมตีรอบด้าน ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจจะสนับสนุนทุกพรรคที่เคยอยู่กับพรรคไทยรักไทย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตนอยากให้ประชาชนจับตามองให้ดี และจำเป็นจะต้องแสดงจุดยืน โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่เกิดใหม่ที่มาจากขั้วอำนาจเก่า ควรจะดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และอดีตรัฐมนตรีขั้วอำนาจเก่า ควรสนับสนุนการทำงานของ คตส. และ ป.ป.ช.
นายสุริยะใส ยังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าพันธมิตรฯ อยู่เบื้องหลังและนับสนุนการดำเนินการของพรรคมัชฌิมาธิปไตย ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะถึงแม้จะมีพันธมิตรฯ บางคนที่เคยร่วมต่อสู้กับเรา จะไปลงสมัครรับเลือกตั้งก็ตาม ถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่พันธมิตรฯ ที่อยู่และองค์กรภาคประชาชนยืนยันจะตรวจสอบทางการเมืองของทุกพรรคอย่างแน่นอน
กกต.วอนขอข้อมูลซื้อ-ขาย ส.ส.
นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีการซื้อตัว ส.ส. ว่า ทราบจากข่าวเท่านั้น ดังนั้นต้องขอความกรุณาคนให้สัมภาษณ์ ช่วยชี้เบาะแส.ให้กับ กกต. ด้วย เพื่อทำการสอบสวนในเชิงลึก โดยกกต.จะเก็บเรื่องการแจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ นอกจากนี้จะนำข้อมูลประสานงานไปกับคณะกรรมการป้องกันการซื้อสิทธิ ขายเสียง ชุดที่มี พล.อ.สนธิ บญยรัตกลิน เป็นประธานด้วย
"การให้ข้อมูลอย่างนี้กระจายออกไปนอกประเทศ ทำให้ชื่อเสียงเราโดนว่าประชาธิปไตยได้มาโดยการซื้อขาย ท่านต้องได้ข้อเท็จจริง ไม่อย่างนั้นท่านคงไม่พูดออกมา ซื้อขายอย่างไร ผู้ใดเป็นคนขาย ผู้ใดเป็นคนซื้อ ไม่ใช่พูดกันแล้วให้ กกต. ไปสืบเอาเอง เราจะขอข้อมูลว่าใครซื้อใครขาย กระแสการเงินมาจากด้านใด อย่างไรก็ตาม กกต.มีฝ่ายสืบสวนสอบสวนไม่มาก หากท่านบอกว่าคนโน้นคนนี้ ซื้อขายแล้วให้เราไปสอบ ก็ถือเป็นภารกิจหนัก"
เมื่อถามว่า มีความเหมาะสมเพียงใด ที่จะนำข้อมูลไปประสานกับคณะกรรมการป้องกันฯ นางสดศรี กล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันฯ มีภารกิจที่ต้องช่วยเหลือ กกต. เมื่อท่านมีภารกิจ หน้าที่นั้น ท่านต้องสืบสวนด้วย และฝ่ายบุคคลท่านก็พร้อมกว่าและ สามารถประสานงานกับทุกส่วนได้ นอกจากนี้ก็จะประสาน ให้คณะกรรมการป้องกันตรวจสอบ เรื่องธุรกรรมทางการเงินโดยจะเริ่มดำเนินการอาทิตย์หน้า เพราะพระราชกฤษฎีกา จะมีผลบังคับ
นางสดศรี กล่าวต่อว่า ตาม พ.ร.บ. พรรคการเมือง มาตรา 22-23 และมาตรา 109 ระบุเว่า การซื้อขายตัว ส.ส. ถือว่ามีความผิด โดยระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี
เมื่อถามว่า จะมีการจับตานักการเมืองที่มีพฤติกรรมย้ายพรรคไปมาหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า ท่านจะไปไหนท่านมีสิทธิ พฤติการณ์อย่างนี้ ไม่ชัดเจนว่ามีการซื้อขายจริงๆ เราจะไปมองเจตนาว่าไปทุจริตคงไม่ได้ หากมองย่างนั้นประชาธิปไตยจะขับเคลื่อนไม่ได้ และการพิจารณาเรื่องใดก็ต้องใช้หลักฐาน
พปช.อ้าง กก.ชุดบิ๊กบังอาจขัด รธน.
นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชาชน แถลงถึง การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการตามวาระแห่งชาติ ว่าด้วยการรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงว่า พรรคมีความห่วงใยต่อการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ที่มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานรัฐนำไปปฏิบัติได้ โดยหน่วยงานดังกล่าวมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานซึ่งเคยเป็นคนที่ปฏิวัติยึดอำนาจมาจากรัฐบาลที่แล้ว และนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ เป็นรองประธาน ก็ยังดำรงตำแหน่งประธานวอร์รูมรัฐบาล ที่ออกมาโจมตีกลุ่มอำนาจเก่าบ่อยครั้ง รวมทั้งมีคณะกรรมการอีก 51 คน ซึ่งมีนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.เป็นกรรมการอยู่ด้วย ซึ่งเราเป็นห่วงว่า การตั้งคณะกรรมการฯ เป็นการหมิ่นเหม่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และได้ให้คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพิจารณา รวมทั้งเรายังเฝ้าดูพฤติกรรมการทำงาน เนื่องจากบุคคลที่เคยเป็นประธาน หรือว่าคณะกรรมการ จะเลือกปฏิบัติกับพรรคพลังประชาชนหรือไม่
นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้ นายสุทธิพล ลาออกจากคณะกรรมการดังกล่าว เนื่องจาก นายสุทธิพล เป็นเลขาธิการกกต.และกกต. เป็นหน่วยงานมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการ หรือมีอำนาจสั่งการให้รัฐบาลดำเนินการได้ ซึ่งอาจหมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย รวมทั้งยังอาจถูกมองว่า ไม่เป็นกลางในการทำหน้าที่
ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่รัฐบาลประกาศขจัดการซื้อสิทธิ ขายเสียง เป็นวาระแห่งชาติ และแต่งตั้ง พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน เป็นประธานปราบปรามการซื้อสิทธิ์ ขายเสียงนั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง เป็นปัญหาของประเทศ หากรัฐบาลเอาจริงในการแก้ไขปัญหา ก็จะทำให้การเมืองดีขึ้น ประเทศชาติก็จะพัฒนาตามไปด้วย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการขจัดการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง จะเป็นการช่วยใครคนใด หรือพรรคการเมืองใด แต่เป็นการช่วยประเทศชาติในทางกลับกัน พรรคการเมือง นักการเมืองที่ดี ที่จะเข้าสู่การแข่งขันการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรมย่อมต้องเห็นด้วย จะมีแต่นักการเมืองน้ำเน่า พรรคการเมืองที่ยึดติดกับอำนาจ ที่ใช้เงินเป็นตัวนำ ที่มักจะเดือดร้อนกับนโยบายที่ช่วยประเทศชาติเช่นนี้