xs
xsm
sm
md
lg

จับตา"พรรคเพื่อแผ่นดิน"จะยืนขั้วใด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการเลือกตั้งทั่วไป ที่กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้ 25 ต.ค.นี้ เป็นต้นไป

ในส่วนของกลุ่มการเมืองนั้น ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีการเปิดตัวของพรรคเพื่อแผ่นดินไปเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ซึ่งพรรคนี้ มีนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นผู้ประสานงาน และมีตำแหน่งเป็นเป็นประธานสภานโยบาย และยุทธศาสตร์ของพรรค โดยมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นหัวหน้าพรรค

ส่วนแกนนำคนสำคัญๆ ล้วนมีชื่อเสียง คุ้นหน้าคุ้นตา ประกอบไปด้วย นายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ นำสมาชิกในกลุ่ม 12 คน มาเข้าร่วม กลุ่มนายพินิจ จารุสมบัติ นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ จากริมชายโขง นายแวมาหะดี แวดาโอ๊ะ พร้อมสมาชิกกลุ่มสัจจานุภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ว. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายวัฒนา อัศวเหม จากกลุ่มปากน้ำ พล.อ .พัลลภ ปิ่นมณี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ และนายวัชระ พรรณเชษฐ์ เป็นต้น

ส่วนพรรคที่ลงตัวไปก่อนหน้านี้ อย่างพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา หรือนัยหนึ่งคือ กลุ่มนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็มี พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร เป็นหัว หน้าพรรค นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค แกนนำคนสำคัญๆ ประกอบด้วย นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายพิจิตต รัตตกุล นายพิเชษฐ สถิรชวาล และกลุ่ม นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จากนครราชสีมา

ด้าน พรรคมัชฌิมาธิปไตย มีนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค กลุ่มการเมืองที่อยู่ในสังกัดได้แก่ กลุ่มมัชฌิมา ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งแม้ว่าตัวเองจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี แต่ก็ส่ง นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภรรยา รั้งเก้าอี้เลขาธิการพรรค นอกจากนี้ก็มีกลุ่มอดีต ส.ว.ที่ไปร่วมชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อาทิ นายการุณ ใสงาม มาลีรัตน์ แก้วก่า นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ นายสมบูรณ์ ทองบุราณ และกลุ่มวาดะห์ จากภาคใต้ นำโดยนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ มาร่วมด้วย

สำหรับพรรคการเมืองเก่า เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน และ ประชาราช ก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก เช่นเดียวกับพรรคพลังประชาชน ก็ยังเป็นที่ชุมนุมของกลุ่มอำนาจเก่า ที่ยังจงรักภักดีกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม การย้ายพรรคของกลุ่มการเมือง และผู้สมัครส.ส.จะยังไม่นิ่งเสียทีเดียว เพราะเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองเป็นเวลา 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งหากนับตามเกณฑ์นี้ เวลาของการย้ายพรรค ก็ยังเปิดกว้างไปถึงวันที่ 24 พ.ย.

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กกต. ได้กำหนดไว้เบื้องต้นว่า จะเปิดรับสมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วน ระหว่างวันที่ 7-11พ.ย. ส่วนส.ส.ระบบเขต วันที่ 12-16 พ.ย. ดังนั้นช่วงเวลาที่ยังสามารถย้ายพรรคของ ส.ส.ระบบเขต ก็จะยาวไปถึงวันที่ 16 พ.ย. ส่วนส.ส.ระบบสัดส่วน ก็แค่วันที่ 11 พ.ย.

ดังนั้น กระแสข่าวการซื้อตัว หรือการดูดผู้สมัคร ส.ส. ก็ยังคงมีต่อไป แม้ว่าด้านหนึ่งอาจจะเป็นการสมัครใจไป หรือเป็นการปั่นกระแสค่าตัวก็ตาม ซึ่งขณะนี้ก็มีข่าวว่า ค่าตัวผู้สมัครระดับเกรดเอ นั้นมีราคาสูงถึง 40 ล้านบาท โดยผู้ที่ย้ายพรรคจะมีข้ออ้างยอดฮิตคือ ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน หรือไม่ก็อุดมการณ์ทางการเมืองไม่ตรงกัน

ล่าสุด นายโสภณ เพชรสว่าง อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ ซึ่งสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็ได้ลาออก แล้วย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดินแล้ว เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมาโดยให้เหตุผลว่า อุดมการณ์ทางการเมืองไม่ตรงกัน เนื่องจากพรรคมัชฌิมาธิปไตย ภายใต้การนำของนายประชัยนั้น มีจุดยืนว่าอยู่ตรงข้างกลุ่มอำนาจเก่า ขณะที่ตนเองนั้นยึดแนวทางสมานฉันท์

อย่างไรก็ตาม เมื่อโฟกัส ลงไปที่ พรรคเพื่อแผ่นดิน จะเห็นว่าแกนนำหลักๆ ล้วนเป็นกลุ่มที่แยกออกมาจากกลุ่มอำนาจเก่า หรือ พรรคไทยรักไทยเดิม ซึ่งการออกมาตั้งพรรคใหม่นั้น อาจจะด้วยเหตุผลในเรื่องของการหาเสียง เพราะคงเป็นเรื่องยาก หรืออึดอัดใจ ที่จะอธิบายให้กับประชาชนเข้าใจว่า ทำไมยังอยู่กับกลุ่มอำนาจเก่า ที่ถูกตราหน้าว่า เป็นรัฐบาลที่ทุจริต คอร์รัปชั่น และจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง

อีกทั้งการที่นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ที่มานั่งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้กำกับดูแลการเลือกตั้งร่วมกับ กกต. เพื่อขจัดการซื้อสิทธิ์ ขายเสียงโดยตรง ก็เป็นอีกเงื่อนไขที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้กลุ่มดังกล่าวนี้ต้องผันตัวออกมาจากพรรคพลังประชาชน เพราะเชื่อว่า ยุทธศาสตร์ บล็อก สกัด แยกสลาย จะถูกนำมาใช้แน่

แม้ พล.อ.สนธิ ประกาศว่าจะทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง แต่การเมืองยอมมีเดิมพันเสมอ การปล่อยให้กลุ่มอำนาจเก่ากลับมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง กับการมีรัฐบาลใหม่ที่ไม่เอาทักษิณ และยังมีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง หรือเก้าอีรัฐมนตรีกลาโหม เป็นตำแหน่งรับเชิญ พล.อ.สนธิ จะเลือกอย่างไหน

หากมองในภาพรวมขณะนี้ พรรคเพื่อแผ่นดิน ก็น่าจะจัดอยู่ในขั้วที่ไม่เอาทักษิณ โดยหลังเลือกตั้ง หากไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็อาจจะไปรวมกลุ่มกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน รวมทั้งมัชฌิมาธิปไตย ของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และพรรคประชาราช ของนายเสนาะ เทียนทอง จัดตั้งรัฐบาลได้

ในทางกลับกัน อย่าได้ปักใจเชื่อ 100% ว่าพรรคเพื่อแผ่นดิน จะไม่ร่วมกับพรรคพลังประชาชน ในการจัดตั้งรัฐบาล หากสถานการณ์เป็นตัวพาไป เพราะคำพูดที่ว่า "การเมืองไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร" ยังถูกนำมาใช้ได้เสมอ
กำลังโหลดความคิดเห็น