xs
xsm
sm
md
lg

กระแส “พระราชอำนาจ” จากพระโอษฐ์ในหลวง

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ถ้าท่านยังไม่ทราบ เรามาช่วยกันเดาดีไหมว่า ข้อความในวงเล็บข้างล่างนี้ เป็นของใคร

“ก็มีประเพณีเป็นที่ยอมรับกันในนานาประเทศแล้วมิใช่หรือว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้นน่ะสัมพันธ์กับรัฐบาลตามที่ได้ย่อไว้อย่างสั้นเป็นภาษาอังกฤษว่า “to advise and be advised” หมายความว่ารัฐบาลน่ะมีหน้าที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายรายงานเป็นประจำถึงสถานะโดยทั่วๆ ไปและเหตุการณ์ที่สำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เช่น ในอังกฤษ นายกฯ ของเขาจะต้องเข้าเฝ้าฯ พระราชินีของเขาทุกวันศุกร์ เพื่อถวายรายงาน และไม่ว่าพระราชินีจะเสด็จไปไหน ในประเทศอังกฤษเองหรือต่างประเทศ ก็จะต้องมีที่เรียกว่า กระเป๋าดำตามไปตลอดเวลา ซึ่งรายงานสถานการณ์บ้านเมืองและรายงานข้อสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ในทางกลับกัน ถ้าหากรัฐบาลกราบบังคมทูลขอพระราชทานคำปรึกษาหรือถ้าทรงเห็นว่าพระองค์ควรจะพระราชทานคำปรึกษาเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติและทุกข์สุขของราษฎรไม่ว่าในเรื่องใด พระมหากษัตริย์ก็จำเป็นต้องพระราชทานคำปรึกษานั้นให้กับรัฐบาล”

ถึงแม้ว่าเราจะเดาผิดหรือถูกก็ตาม เรามาช่วยกันคิดต่อดีไหมว่า การที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีต้องถวายรายงานสถานะโดยทั่วๆ ไปและเหตุการณ์ที่สำคัญต่อความมั่นคงของประเทศเป็นประจำต่อพระมหากษัตริย์นั้นดีหรือไม่ สมควรหรือไม่สมควรกระทำอย่างไร

เรื่องนี้ในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นต้นตำรับไม่มีใครบอกว่าไม่ดี แต่มีผู้ที่เกี่ยวข้องบ่นเหมือนกัน เช่น นายกรัฐมนตรีบางคนบ่นว่าบางครั้งก็อาจก่อความไม่สะดวก กินเวลา (ไม่ถึงกับใช้คำว่าเสียเวลา) ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจอย่างอื่นที่สำคัญได้

แต่ พระมหากษัตริย์ หรือที่จริง พระบรมราชินีอลิซาเบธ ไม่เคยทรงบ่นเลย ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็น พระราชภารกิจหรือพูดอีกทีก็ได้ว่าเป็นพระราชอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ พระนางเจ้าได้พบนายกรัฐมนตรีอังกฤษในกรณีเช่นนี้ทุกสัปดาห์มาแล้ว 11 คน นับตั้งแต่วินสตัน เชิชชิล (Winston Churchill 1951-55) เป็นต้นมา จนถึงคนปัจจุบันคือ กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown from 2007 )

นี่คือตัวอย่างของพระราชอำนาจประเภทหนึ่งของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย พระราชอำนาจประเภทนี้เรียกว่า พระราชอำนาจทั่วไป ซึ่งนอกจาก advise กับ be advised แล้ว ยังรวมถึงการให้กำลังใจ (encourage) และเตือน (warn) รัฐบาลผ่านนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

การใช้พระราชอำนาจทั่วไป ด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายรายงานและข้อราชการทุกเย็นวันอังคารนี้ เป็นกลไกหรือจารีตประเพณีอย่างหนึ่งที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ และเป็นหลักประกันให้พระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขของประเทศและผู้แทนประจำของปวงชน สามารถมีส่วนร่วมในการปกครองอย่างแท้จริง มิใช่ดังที่พรรคการเมืองหนึ่งซึ่งเป็นผู้เหมาโอนพรรคพลังประชาชนถูกกล่าวหา ว่ามีแผนจะจำกัดให้พระมหากษัตริย์ มีส่วนร่วมแต่ในนามหรือสัญลักษณ์แต่อย่างเดียว โดยหาได้คำนึงไม่ว่า รัฐบาลเป็นเพียงผู้แทนชั่วคราวของปวงชนเท่านั้น

ท่านผู้อ่านคงจะมองเห็นประโยชน์ของการเข้าเฝ้าหรือพระราชอำนาจทั่วไปซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงใช้เป็นประจำทุกสัปดาห์เช่นนี้ว่าจะเป็นการป้องกันมิให้รัฐบาลใช้อำนาจในทางที่ผิดนอกลู่นอกทาง รัฐบาลจะต้องบริหารราชการด้วยหลักการและความระมัดระวังรอบคอบ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทหรือเหิมเกริม ป้องกันความขัดแย้งหรือวิกฤตทางการเมืองหรือแม้กระทั่งการเปิดอภิปรายที่ไม่จำเป็น เพราะทั้งฝ่ายค้านและประชาชนย่อมจะนอนใจได้ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงรับรู้ ( be advised ) และคุ้มครองประเทศชาติและประชาชนได้

สำหรับกฎเกณฑ์หรือกติกาของการเข้าเฝ้าดังกล่าว ที่เป็นหลักๆ ก็มีง่ายๆ ดังนี้

1. นายกรัฐมนตรีต้องเข้าเฝ้าทุกวันอังคารเย็น เป็นที่แน่นอนตามกำหนดหมายที่ตั้งขึ้นไว้ล่วงหน้าโดยจารีตประเพณี ถ้าหากมีเหตุขัดข้องด้วยประการใดก็สามารถใช้โทรศัพท์แทนได้ ในความเป็นจริง การใช้โทรศัพท์นั้นน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย เพราะต่างก็ถือว่าเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์

2. จะต้องเป็นการเข้าเฝ้าเฉพาะตัว ตัวต่อตัว ไม่มีการจดบันทึก ไม่มีระเบียบวาระ ไม่มีการเปิดเผยหัวข้อหรือเนื้อหาใดๆ ทั้งก่อนหรือหลังการเฝ้า

3. ข้อตกลงหรือความเห็นชอบใดๆ นายกรัฐมนตรีหรือพระมหากษัตริย์จะ (ทรง) นำไปปฏิบัติโดยไม่มีการอ้างอิงใดๆ (ว่าเกิดจากการเข้าเฝ้าถวายรายงานหรือข้อปรึกษาวันนั้นวันนี้ พระมหากษัตริย์หรือนายกรัฐมนตรีเสนอว่าอย่างนั้นอย่างนี้ฯลฯ) ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาสัมพันธภาพระหว่างพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรี และมิให้มีการนำไปแอบอ้างในทางหนึ่งทางใด และมิให้ใครกล่าวหาได้ว่าพระมหากษัตริย์ลำเอียงไม่เป็นกลางในเรื่องนั้นเรื่องนี้

4. ในประเด็นที่เห็นต่าง หากเป็นเรื่องการบริหารราชการที่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ให้ถือตามความเห็นของนายกรัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อสภา

ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่าผมเคยเขียนถึงความคล้ายคลึงหลายๆ อย่างระหว่าโทนี แบลร์ (1997- มิถุนายน2007) กับทักษิณ และทำนายว่าทั้งคู่จะอยู่ไม่ครบเทอม คราวนี้ผมจะขอเล่าเฉพาะเกร็ดของแบลร์ให้ท่านผู้อ่านไปคิดเปรียบเทียบเอาเอง ผู้สังเกตการณ์ในอังกฤษสรุปว่า การเข้าเฝ้าถวายรายงานตามจารีตประเพณีที่เคยราบรื่นมาทุกนายกรัฐมนตรี เกิดมีความตึงเครียดขึ้นบางครั้งในสมัยของแบลร์ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะความแตกต่างของอายุระหว่างพระบรมราชินีกับแบลร์ และความแตกต่างระหว่างบุคลิก เพราะแบลร์เป็นคนว่องไว มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงซึ่งอาจจะมองว่าหยิ่งจองหองแบบไทยๆ ก็ว่าได้ และขาดความสำรวมหรือเคารพต่อพระบรมราชินี จริงหรือไม่ ลองดูภาพข้างล่างนี้เองนะครับ ผมลงคำบรรยายที่ฝรั่งเขียน เพราะอาจจะมีคนตะแบงว่ามารยาทของฝรั่งต่างกับไทย

No respect for the royals: The Blairs
show their boredom at the Highland Games

ทีนี้หันมาดูของเราบ้าง ผมเคยเขียนมาหลายครั้งแล้วว่า พระราชอำนาจของในหลวงถูกเบียดบัง มิดเม้ม ฉ้อโกง โดยระบบการเมืองและนักการเมืองไทยมาเป็นเวลายาวนาน โดยเทคนิคการเขียนรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย รวมทั้งการเผยแพร่ทฤษฎีผิดๆ ว่า ในหลวงทรงอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ทรงเป็นกลางและต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ว่าโดยประการใดๆ ในกรณีเช่นนี้นักการเมือง นักกฎหมายและนักวิชาการไทยปกปิดบิดเบือน เชือนเฉย จารีตประชาธิปไตยของอังกฤษที่ผมเล่ามาข้างต้นนี้ ผมมีข้อสังเกต 3 ประการ

1.ผมเห็นด้วยคำอธิบายของอดีตรองราชเลขาธิการท่านหนึ่ง ซึ่งผมแน่ใจว่าท่านได้ฟังมาจากราชาธิบายของในหลวงดังนี้ “การที่พูดกันอยู่ทั่วไปว่า พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองนั้น ผมว่าต้องเข้าใจคำว่าการเมืองกันให้ถ่องแท้กันเสียก่อนนะครับ ถ้าการเมืองหมายถึงระบบการปกครองโดยทั่วๆ ไป อันหมายถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศโดยทั่วไป และการดำเนินการเพื่อการปกครองคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน ก็จะพูดว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองไม่ได้ มิฉะนั้น ก็หมดความหมายครับ พระมหากษัตริย์จะทำอะไร จะมีไว้ทำไม”

2. นายกรัฐมนตรีของเราเข้าเฝ้าในหลวงอย่างเป็นระบบที่ไม่เป็นระบบ กล่าวคือ แต่ละนายกรัฐมนตรีจะเข้าเฝ้าถี่หรือห่างตามแต่สถานการณ์และการตัดสินใจของนายกฯ แต่ละคน ถ้าอยากจะเข้าเฝ้าหรือมีเหตุจะขอเฝ้าก็ถวายคำขอผ่านราชเลขาธิการเป็นครั้งๆ ไปซึ่งบางครั้งก็ต้องยอมรับว่าไม่สะดวกเป็นการรบกวนเบื้องยุคลบาท หากนายกฯ ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ไปเล่นกอล์ฟผ่านมาก็ขอเฝ้า หรือบัญชีแต่งตั้งทหารไม่ได้ดั่งใจก็จะขอเข้าเฝ้าเพื่อขอให้ลงพระปรมาภิไธย เป็นต้น ผมทราบจากการไต่ถามว่านายกฯ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันมีพฤติกรรม และจำนวนถี่ห่างของการเข้าเฝ้าเป็นอย่างไร เกิดประโยชน์หรือไม่ และสรุปได้ว่า ของเรายังไม่สอดคล้องกับจารีตประชาธิปไตย และไม่เกิดประโยชน์สมบูรณ์ดังเช่นการเข้าเฝ้าของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ

3. ผมเคยเสนอให้นายกฯ หลายท่านสร้างจารีตประเพณีการเฝ้าให้เป็นระบบ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตย และให้ในหลวงทรงมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ปรากฏว่าไม่มีใครใจถึงสักคน (ความจริงใจดำต่างหาก) บ้างก็อ้างว่าไม่อยากรบกวนฯ บ้างก็ว่า ในหลวงทรงแนะนำและเตือนได้อยู่แล้วในพระราชดำรัสประจำปี ทรงมีส่วนร่วมอยู่แล้วในโครงการพระราชดำริ หรือทรงแนะนำเรื่องป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น ผมว่านี่ล้วนแต่เป็นข้อแก้ตัว ปล่อยให้ในหลวงถูกนำไปแอบอ้างโดยนักการเมืองและข้าราชการประจำอยู่บ่อยๆ แม้กระทั่งการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งฯ ก็ยังมีการสอดไส้ แอบแฝงและไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน แล้วเอาพระปรมาภิไธยมาเป็นข้ออ้าง เป็นต้น

ผมขอกล่าวถึงเรื่อง ม. 7 หรือ การขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี ซึ่งผมนำไปถูกกล่าวอ้าง โดยขออัญเชิญพระราชดำรัส มาเป็นหลักเสียก่อน ดังนี้

“มาตรา 7 นั้น ไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่. มาตรา 7 นั้น พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง. ถ้าทำ เขาจะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่. ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่. ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย.

เขาอ้างถึงเมื่อครั้งก่อนนี้ เมื่อรัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์. ตอนนั้นไม่ได้ทำเกินอำนาจของพระมหากษัตริย์. ตอนนั้นมีสภา สภามีอยู่ ประธานสภา รองประธานสภามีอยู่ แล้วก็รองประธานสภาทำหน้าที่ แล้วมีนายกฯ ที่สนองพระบรมราชโองการได้ตามรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น. ไม่ได้หมายความว่าที่ทำครั้งนั้นผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่. ตอนนั้นเขาไม่ใช่นายกฯ พระราชทาน. นายกฯ พระราชทานหมายความว่าตั้งนายกฯ โดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย. ตอนนั้นมีกฎเกณฑ์. เมื่อครั้งอาจารย์สัญญาได้รับตั้งเป็นนายกฯ เป็นนายกฯ ที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ รองประธานสภานิติบัญญัติ นายทวี แรงขำ. ดังนั้น ไปทบทวนประวัติศาสตร์หน่อย. ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ ท่านก็ทราบมี มีกฎเกณฑ์ที่รองรับ แล้วก็งานอื่นๆ ก็มี แม้จะที่เรียกว่าสภาสนามม้า ก็หัวเราะกัน สภาสนามม้า แต่ไม่ผิด ไม่ผิดกฎหมาย เพราะว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนอง. นายกรัฐมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับสนองพระบรมราชโองการ. ก็สบายใจว่าทำอะไรแบบถูกต้อง ตามครรลองของรัฐธรรมนูญ. แต่ครั้งนี้ก็เขาจะให้ทำอะไรผิด ผิดรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนบอกก็ไม่ทราบนะ แต่ว่าข้าพเจ้าเองรู้สึกว่าผิด.”

ทั้งหมดนี้แสดงว่าในหลวงทรงเข้าพระทัยประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง และจะไม่มีวันทำลายประชาธิปไตยโดยเอาแต่พระราชหฤทัยเป็นใหญ่ ต่างกับนายพลและนักการเมืองใหญ่ที่เอาแต่ใจตนเอง ความจริงในหลวงทรงตรัสกับศาลว่า หากจำเป็นจะต้องใช้ ม. 7 ก็ไม่กลัว ขอให้ศาลบอก นั่นก็คือนัยที่บอกว่า จะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และมีเงื่อนไขที่จะให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ ควบไปกับมาตรา 7 ได้ มิใช่ใช้ ม. 7 โดดๆ

ผมเองมีความคิดตามรอยพระบาทตลอดมา ไม่ว่าจะโดยการเขียนหรือการพูดหลายสิบปีมาแล้ว ว่าการถวายคืนพระราชอำนาจนั้นจะต้องขึ้นกับเงื่อนไขและเงื่อนเวลาต่างๆ ที่สมบูรณ์ เงื่อนไขบางอย่างเช่นวิกฤตนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องคอยให้นองเลือดเสียก่อน ดังเช่นในหลวงทรงกล่าวถึง “วิกฤตที่สุดในโลก” ก็ยังไม่มีการนองเลือดแต่อย่างใด

ความใจร้อนของขบวนการขับไล่ทักษิณอาจจะทำให้มองข้ามขั้นตอนไป เพราะดูแต่ตัวหนังสือ ไม่เคยศึกษาถึงเงื่อนไขเงื่อนเวลาให้ตลอด

เงื่อนไขของการใช้พระราชอำนาจพิเศษนั้น 1. เพื่อจะให้มีการแก้ไขหรือป้องกันวิกฤต และ 2. เพื่อจะรักษาหรือสร้างความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

ผมเสียดายที่ทั้งทหาร ศาล และนักวิชาการไมมีใครกล้าจริงที่จะชี้ว่าทักษิณพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเมื่อประกาศจะไม่ปฏิบัติหน้าที่ และสื่อทุกประเทศตีพิมพ์แล้วว่านายกฯ ไทยลาออก ขณะนั้นเรามีรัฐสภารักษาการอยู่ มีบุคคลที่จะรับสนองพระบรมราชโองการได้ เราจึงจำเป็นต้องพากันยอมรับ 19 กันยายน และเวลาที่ต้องเสียไป

ผมเชื่อว่า วันนี้เงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่จะถวายคืนพระราชอำนาจยังไม่หมดไปเสียเลยทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น