xs
xsm
sm
md
lg

มุมมอง นักบริหารหนี้ : เส้นทางสู่การออม เพื่อวัยเกษียณและยามชรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 มาตรา 84 (4) ที่ระบุไว้ว่ารัฐบาลต้องดำเนินการจัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง ประชาชนทุกคนก็ต้องดูแลตนเองให้มีการใช้จ่ายอย่างประหยัดและเก็บออมย่างเพียงพอ เพื่อให้มีเงินเหลือเพื่อใช้ในคราวจำเป็นและมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีด้วย ซึ่งทั้งนี้จำต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ทั้งสิ่งจูงใจและการรณรงค์ส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม

การออมเพื่อวัยเกษียณและยามชราได้มีการดำเนินคืบหน้าและเป็นรูปธรรมมาโดยลำดับแล้วก่อนที่จะระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ส่วนการรณรงค์ส่งเสริมเงินออมและการใช้จ่ายอย่างประหยัดมีมานมนานแล้วแต่ก็ยังล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ซ้ำร้ายกว่านั้นการออมที่สะท้อนในภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

การออมเพื่อวัยเกษียณและยามชราในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ มีเงินออมรวมกัน ณ เดือนธันวาคม 2549 ถึง 1,160,700 ล้านบาท หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ทีเดียว ประกอบด้วยกองทุนต่างๆดังนี้

1.กองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับกรณีชราภาพและสงเคราะห์บุตร โดยมีลูกจ้างเอกชนและลูกจ้างชั่วคราวราชการเป็นสมาชิก เงินของกองทุนมาจากลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนฝ่ายละ 3 % ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เมื่อสิ้นเดือน ธันวาคม 2549 กองทุนนี้มีเงินออมถึง 394,460 ล้านบาท และมีสมาชิก 8,843,254 ราย

2.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. ซึ่งมีข้าราชการทั่วประเทศเป็นสมาชิก เงินออมกองนี้มาจากข้าราชการและรัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนฝ่ายละ 3 % ของเงินเดือน เมื่อสิ้นเดือน ธันวาคม 2549 เงินออมใน กบข. นี้มีถึง 320,726 ล้านบาท มีสมาชิก 1,172,953 ราย

3.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งมีลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างประจำราชการเป็นสมาชิก โดยลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนฝ่ายละ 2-15 % ของค่าจ้าง เมื่อสิ้นเดือน ธันวาคม 2549 กองทุนสำรองเลื้ยงชีพนิ้ มีเงินออมอยู่ 420,034 ล้านบาท และมีสมาชิก 1,853,273 ราย

4.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งสมาชิกกองทุนนี้แตกต่างจากกองทุนอื่นที่ผู้สนใจ ต้องซื้อหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 บาท หรือ 3 % ของเงินได้

ทั้งสี่กองทุนดังกล่าวข้างต้นแม้จะมีเงินออมรวมกันถึงเกือบ 1.2 ล้านล้านบาทก็ตาม แต่ยังไม่ครอบคลุมแรงงานทั่วประเทศที่มีจำนวน 35.5 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 64.2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีคนที่มีอายุ เกิน 60 ปีขึ้นไป 13 ล้านคน เรื่องนี้ทางการโดยกระทรวงการคลังกำลังอยู่ในขั้นตอนที่จะปฏิรูประบบการออมเพื่อการชราภาพให้ครอบคลุมแรงงานในระบบทั่วประเทศ โดยในโครงการนั้น มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายเงินออมเพื่อการชราภาพ ปรับปรุงกองทุนประกันสังคม จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ และการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การกำกับดูแลและตรวจสอบให้รัดกุมยิ่งขึ้น

การดำเนินการเรื่องนี้ต้องใช้เวลา แต่ก็หวังว่าคงไม่นานนัก ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่ต้องดูแลตามที่ระบุไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นความร่วมมือของทุกฝ่ายจึงมีความสำคัญเพื่อให้คนเกษียณและคนชรามีความเป็นอยู่ดี สมศักดิ์ศรี เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ

ครับ นี่ก็ใกล้ "วันออมแห่งชาติ วันที่ 31 ตุลาคม 2550”แล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะจัดให้มีการรณรงค์ส่งเสริมการออมและการประหยัดทั้งที่ต้องออมตามกฎหมายและโดยสมัครใจ เพื่อให้คนไทยมีเงินออมไว้ใช้ยามชราตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๐๐ และการดำเนินชีวิตที่มีเงินออมเป็นภูมิคุ้มกันตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และควรจัดให้มีการรณรงค์อย่างเป็นระบบโดยมีเจ้าภาพจัดการอย่างต่อเนื่อง อย่างเป็นรูปธรรมตลอดไป……………..????
กำลังโหลดความคิดเห็น