xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจอดีตผู้บริหารกองทุนฟื้นฟูฯเร่งสางขายหุ้นแบงก์-ตั้งประกันเงินฝาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - "ไพโรจน์ เฮงสกุล"หนึ่งในผู้บริหารแบงก์ชาติที่เพิ่งอำลาตำแหน่งไปเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา และก่อนหน้านั้นได้เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ผู้จัดการรายวัน" ถึงภาระหน้าที่ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการ สายจัดการกองทุน ที่ดูแลงานในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งถือเป็นอีกหน่วยงานมีความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายของสถาบันการเงินต่างๆไม่แพ้หน่วยงานอื่นๆในแบงก์ชาติ

นายไพโรจน์ เฮงสกุล อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการ สายจัดการกองทุน และผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า หลังจากเข้ามาดูแลงานในกองทุนฟื้นฟูฯ มองว่า คนที่ทำงานจุดนี้ได้จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่กล้าตัดสินใจ เพราะการทำงานในทุกๆ ส่วน ล้วนมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาไม่ควรยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และต้องกล้าประนีประนอม เพื่อดูแลคนที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมทั้งฝ่ายผู้ฝากเงิน ลูกหนี้ เจ้าหนี้ รวมทั้งผู้ถือหุ้น

นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ในการดูแลสถาบันการเงินด้วย แม้จะไม่ใช่ในด้านนโยบายโดยหลัก แต่เป็นภาระหน้าที่ในส่วนของความรับผิดชอบต่อเงินฝาก เพราะแม้สถาบันการเงินสามารถสร้างปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบได้หลายสิบเท่าตัวจากเงินฝากก้อนแรก แต่เมื่อใดเกิดเหตุการณ์ด้านลบจนส่งผลให้ผู้ฝากเงินและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น สถาบันการเงินแห่งนั้นก็ยืนอยู่ไม่ได้ แม้การบริหารงานจะดีแค่ไหนก็ตาม จึงจำเป็นที่ต้องมีกองทุนฟื้นฟูฯหรือสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพื่อช่วยหยุดความตื่นตระหนกนี้ จึงเปรียบเสมือนโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญของระบบสถาบันการเงินเช่นกัน

ตั้งเป้าขายหุ้นแบงก์ให้นักลงทุนต่างชาติ

และอีกหนึ่งภาระของกองทุนฟื้นฟูฯที่ยังคงติดค้างมาตั้งแต่วิกฤตสถาบันการเงินเมื่อ 10 ปีก่อน ในฐานะผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาในช่วงนั้น ซึ่งนายไพโรจน์กล่าวว่า ขณะนี้งานของกองทุนฟื้นฟูฯ มีการบริหารจัดการกลุ่มสถาบันการเงินที่ปิดตัวในสมัยวิกฤตเศรษฐกิจที่เหลืออีก 10 กว่าแห่งจากจำนวน 56 แห่ง ซึ่งยังมีจำนวนมาก โดยเฉพาะสินทรัพย์จากการปล่อยสินเชื่อ เหลือเป็นภาระที่กองทุนฟื้นฟูฯต้องรับผิดชอบที่อยู่ทั้งสิ้น 2 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยในแต่ละปี 5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งล่าสุดบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ธนพัฒน์ ที่เพิ่งปิดกิจการไป และกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการล้มละลายอีก 3-4 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินในรูปที่ดิน

ดังนั้น กองทุนฟื้นฟูฯ มีนโยบายจะเร่งสะสางในส่วนของทรัพย์สินและหนี้สินที่เหลืออยู่ในปัจจุบันของกลุ่มสถาบันการเงินที่ปิดตัวไป แต่หากยังมีค้างอยู่ก็จะโอนภาระและความรับผิดชอบต่างๆ เหล่านี้ให้แก่ธปท.ดูแลต่อไป อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าจากผลงานที่ผ่านมาจะช่วยให้การบริหารจัดการที่เหลือเสร็จสิ้นทันก่อนจะมีการปิดตัวกองทุนในปี 2556 และมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะเงินฝากมาแทน

ขณะที่หุ้นของธนาคารพาณิชย์ที่ถืออยู่อีก 2-3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทยในสัดส่วน 55.50% นครหลวงไทยในสัดส่วน 47.58% และไทยธนาคารในสัดส่วน 48.98% โดยขณะนี้ทางกองทุนฟื้นฟูฯได้มีนโยบายออกมาแล้วว่าจะขายให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่สามารถเสริมความแกร่งให้แก่ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ได้ หลังจากที่มีการแก้ไขกฎหมายธุรกิจสถาบันการเงินที่เปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ถึง 49% เป็นโอกาสที่ดีในการนำทางให้สถาบันการเงินกลุ่มนี้ไปสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นบริษัทมหาชนเต็มตัว

"ในช่วง 1-2 ปีนี้ก็คงยังไม่เห็นการขายหุ้นของธนาคารพาณิชย์ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่ เพราะต้องยอมรับว่าธุรกิจสถาบันการเงินจะดีได้ต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ถ้าอัตราการขยายตัวแค่ 4-5% ก็ไม่เอื้ออำนวยในการขายหุ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเรื่องนี้คงจบได้ไม่เกินขอบเขตเวลาของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 ในช่วงปี 2551-2556 นี้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้สถาบันการเงินไทยมีมาตรฐานสากลสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ จึงเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาร่วมทุนได้ เพื่อให้สถาบันการเงินไทยเข้มแข็ง”

ส่วนหุ้นที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่ในส่วนของบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) บริษัทสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ซึ่งล้วนเป็นการถือหุ้นในสัดส่วน 100%นั้น ในอนาคตมีแผนจะปิดบริษัทสินทรัพย์สุขุมวิท(บสส.) และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) และจะขายสินทรัพย์ทั้งหมดให้แก่บสก.บริหารต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางบสก.เองก็สามารถพิสูจน์ความสามารถจากผลงานในการบริหารงานที่ดีมาก ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยด้วย ดังนั้น การที่บสก.มีแผนจะยกระดับองค์กรเป็นบริษัทมหาชนเต็มตัว ทางกองทุนฟื้นฟูฯ ก็พร้อมสนับสนุน

เชื่อกฎหมายใหม่ช่วยขัดเกลาการทำงาน

นายไพโรจน์ กล่าวว่า จุดอ่อนของการกำกับดูแลสถาบันการเงินไทยในปัจจุบัน คือ แม้ผู้บริหารสถาบันการเงินจะเข้มงวดการบริหารงานที่เน้นจริยธรรมดีแค่ไหน แต่หากรู้ว่ารัฐบาลช่วยประกันความเสียหายที่เกิดขึ้น ก็จะมีการบริหารที่มีความเสี่ยงบ้างเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดี ถือว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ธปท.จึงมีการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากขึ้นมา เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีการปรับปรุงระบบการทำงานที่มีความรอบคอบมากขึ้น ถือเป็นการใส่สูทให้แก่ร่างกายในการช่วยลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงจากการบริหารน้อยลง

และในทางกลับกันก็จะช่วยให้กลไกตลาดเข้ามาดูแลกันเอง โดยประชาชนทั่วไปจะเข้าไปรับผิดชอบและตรวจสอบหลักจริยธรรม ธรรมาภิบาลที่ดีของสถาบันการเงินที่ดูแลเงินฝากของตนมากขึ้น ดังนั้น ในปัจจุบันในระบบมีกลุ่มผู้ฝากเงินที่มียอดเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มที่รัฐยังประกันความเสี่ยงให้อยู่จำนวน 51.8 ล้านราย จากปริมาณผู้ฝากเงินในระบบทั้งสิ้น 52.5 ล้านราย ถือเป็นการคุ้มครองให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่แล้ว

"ปัญหาในการทำงานของกองทุนฟื้นฟูฯในช่วงที่ผ่านมามีบ้าง โดยเฉพาะกระบวนการบังคับชำระหนี้ที่ทุกคนถือปฏิบัติกันมาช้านาน แต่หากมองว่าในแง่ของธุรกิจและการเงินมันยังหนืดอยู่มาก เพราะการผ่านขั้นตอนในแต่ละขั้นต้องใช้เวลานาน ทำให้การทำธุรกิจที่เดิมทีก็มีการแข่งขันตลอดเวลาอยู่แล้วก็อาจเสียหายได้ ดังนั้น มองว่าเมื่อมีกฎหมายคุ้มครองเงินฝากประกาศใช้ขึ้นมา จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดปัญหานี้ให้มีการชำระบัญชีของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นการรักษามูลค่าทรัพย์ให้สามารถจ่ายชดเชยแก่ประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเร็วขึ้น”

ยืนยันไม่เป็นเครื่องมือนักการเมือง

แม้ในช่วงที่ผ่านมามีกระแสสังคมบ้างส่วนมองว่าการทำงานของกองทุนฟื้นฟูฯ อาจมีการเบี่ยงช่วยเหลือคนในรัฐบาลอย่างกรณีการขายที่ดินแถบรัชดาภิเษกให้แก่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร แต่ในส่วนตัวยังมั่นใจถึงกระบวนทำงานของกองทุนฟื้นฟูฯ ว่าดีที่สุดแล้วและคงไม่มีการปรับกระบวนการทำงาน แต่ยังใช้วิธีการหรือกระบวนการทำงานแบบเดิม เพราะเรามั่นใจว่าสิ่งที่กองทุนฟื้นฟูฯ ทำไปนั้นยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย

"ทุกวันนี้ภาครัฐมีการดูแลเศรษฐกิจโดยรวมและกลุ่มสถาบันการเงินที่ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ฝากไว้อยากให้ภาครัฐมองเข้าใจคนที่ทำงานเพื่อประชาชนด้วย โดยเราก็พยายามทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินให้เขาปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และหลักจริยธรรม แต่เมื่อใดที่เขาไม่ได้ปฏิบัติตามแล้วเกิดล้มมาก็มาโทษว่าคนกำกับไม่ดี ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะการทำธุรกิจการเงินเราไม่มีสิทธิไปจำกัดการทำธุรกิจเขาทุกประเภท จึงอยากให้ภาครัฐเองควรที่จะเข้าใจคนที่ทำงานเพื่อรัฐด้วยกัน อย่าคิดว่าเราเลือกปฏิบัติเพียงแค่เรามีแผลในใจหรือมีจิตใจที่คิดไม่ดี”
กำลังโหลดความคิดเห็น