xs
xsm
sm
md
lg

ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรยังอืด เดือนสิงหาเพิ่มแค่1.6พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - เผยปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเดือนสิงหาคมยังไม่คึกคัก มียอดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนแค่ 1.6 พันล้าน ชี้เป็นผลจากวันหยุดยาว ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงส่งผลให้ปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศลดลงจากเดือนก่อน 380 ล้านบาท และยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าโดยรวมยังเพิ่มเกือบ 2 พันล้าน ยกเว้นในส่วนของนอนแบงก์ลดลง 27 ล้านบาท โดยแบงก์ชาติรับหนี้เน่าของบัตรเครดิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากสุด แต่ยังประเมินตัวเลขไม่ได้ เหตุผู้ประกอบการใช้วิธีตัดหนี้เร็วและโยกออกจากบัญชีเพื่อฟ้องร้องกับลูกหนี้ทันที

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สายนโยบายสถาบันการเงิน แจ้งว่า ให้บริการบัตรเครดิตแยกตามประเภทบัตรเครดิตล่าสุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2550 มีปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมทั้งสิ้น 69,911 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 8,390 ล้านบาท คิดเป็น 13.64% และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 1,636 ล้านบาท คิดเป็น 2.40%

โดยในส่วนของปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมเริ่มกระเตื้องขึ้น หลังจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาลูกค้าบัตรเครดิตทั่วไปมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจาก ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวมากทั้งวันแม่แห่งชาติและวันรับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีการเบิกจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น

ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างในเดือนส.ค.มีจำนวนทั้งสิ้น 168,763 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 891 ล้านบาท หรือลดลง 0.52%จากเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนกลับเพิ่มขึ้น 10,067 ล้านบาท คิดเป็น 6.34% โดยแบ่งเป็นยอดสินเชื่อในส่วนของธนาคารพาณิชย์ 57,720 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 34,287 ล้านบาท และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) 76,756 ล้านบาท

ขณะที่ปริมาณบัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 11,396,027 ใบ แบ่งเป็นบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ 4,539,700 ล้านใบ สาขาธนาคารต่างประเทศ 1,270,383 ล้านใบ และนอนแบงก์ 5,585,944 ล้านใบ ทำให้ปริมาณบัตรเครดิตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 810,785 ใบ หรือคิดเป็น 7.66% และเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 95,041 ใบ คิดเป็น 0.84% โดยปริมาณบัตรที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตเร่งเพิ่มปริมาณบัตร หวังให้ลูกค้ามีการใช้จ่ายมากขึ้น

ทั้งนี้ ในเดือนส.ค.นี้มีปริมาณการใช้จ่ายในประเทศจำนวน 50,393 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์จำนวน 24,863 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 7,955 ล้านบาท และนอนแบงก์อีก 17,574 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 4,827 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 137 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งส่วนนี้มีเพียงยอดการใช้จ่ายผ่านสาขาธนาคารต่างชาติเท่านั้นที่ติดลบ 236 ล้านบาท

ส่วนปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศจำนวน 2,437 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายในต่างประเทศที่เกิดจากบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ 929 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 514 ล้านบาท และนอนแบงก์ 993 ล้านบาท โดยเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 315 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนกลับมียอดติดลบ 380 ล้านบาท ซึ่งล้วนเกิดจากผู้ประกอบการที่ให้บริการบัตรเครดิตทุกประเภทมียอดลดลง โดยเป็นผลมาจากค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ทำให้ประชาชนท่องเที่ยวในต่างประเทศลดลง

ขณะที่การเบิกเงินสดล่วงหน้ามีจำนวน 17,080 ล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกเงินสดล่วงหน้าผ่านธนาคารพาณิชย์ 11,786 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 1,209 ล้านบาท และนอนแบงก์ 4,084 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนก็เพิ่มขึ้น 3,247 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 1,879 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งมีเพียงธุรกิจนอนแบงก์เท่านั้นที่มียอดเบิกเงินสดล่วงหน้าลดลง 27 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มียอดเพิ่มขึ้น 1,844 ล้านบาท และสาขาต่างประเทศก็เพิ่มขึ้น 61 ล้านบาท

นายสรสิทธ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท. สายตรวจสอบสถาบันการเงิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อบัตรเครดิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากที่สุด ในจำนวนเอ็นพีแอลด้วยกัน แต่ยังไม่เห็นตัวเลขหนี้เสียบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นออกมา เนื่องจากผู้ประกอบการใช้วิธีตัดหนี้เร็วพอหนี้เสียครบ 3 เดือนก็กันสำรอง 100% แล้วตัดหนี้ออกจากบัญชีทันทีเพื่อนำไปฟ้องร้องกับลูกหนี้ ทำให้ไม่เห็นตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งคงทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นวิธีที่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตทำได้
กำลังโหลดความคิดเห็น