xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:เศรษฐกิจโลก: ปัญหาและความเสี่ยงที่กำลังเปลี่ยนแปลง (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อันที่จริงผมตั้งใจจะเขียนถึงเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เพราะเป็นเรื่องสำคัญและคาดว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอีกหลายปีในอนาคต ทว่าบังเอิญมีประเด็นเศรษฐกิจเฉพาะหน้า เช่น อัตราดอกเบี้ย และปัญหา Sub-prime เกิดขึ้นก่อน จึงต้องพักเรื่องดังกล่าวไว้ และเพิ่งได้โอกาสเขียนถึงในคราวนี้ ผมขอแบ่งบทความนี้เป็น 2 ฉบับ โดยฉบับแรกนี้จะว่าด้วยการปรับตัวของเศรษฐกิจโลกต่อปัญหาและความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น ส่วนเรื่องความเสี่ยงใหม่คืออะไรจะสรุปในฉบับหน้าครับ

จากการติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกมาหลายปี ผมพบว่า ลักษณะของปัญหาเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แม้ว่าผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารเศรษฐกิจมหภาคที่ดีขึ้น จะทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีภูมิต้านทานปัญหาเดิมได้ดีขึ้น แต่ปัญหาที่เปลี่ยนไปทำให้มาตรการเดิมๆ ที่เคยใช้ได้ผล อาจจะไม่สามารถนำมาใช้เป็นทางป้องกันหรือแม้กระทั่งแก้ปัญหาได้

ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเผชิญกับปัญหาหลายประการ ตั้งแต่วิกฤตการณ์น้ำมันในปี 2522-23 (ซึ่งประเทศไทยเองก็เผชิญกับปัญหาดังกล่าว จนต้องมีการปรับลดค่าเงินบาทลงถึง 2 ครั้ง)หลังจากนั้นก็เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันเนื่องมาจากการถดถอยของเศรษฐกิจชั้นนำ เช่น สหรัฐฯ เยอรมนีและญี่ปุ่นเมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 และต่อมาเศรษฐกิจโลกก็ต้องพบกับปัญหาจากวิกฤติการเงินเอเชียตะวันออกในปี 2540/41 ตามด้วยปัญหาจากการแตกของฟองสบู่หุ้นสารสนเทศของสหรัฐฯ ในปี 2543/44 ต่อด้วยปัญหาสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน และลุกลามไปเป็นปัญหาการก่อการร้ายสากลจากกรณีวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดในสหรัฐฯ และล่าสุดเศรษฐกิจโลกก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

ท่ามกลางปัญหาและความเสี่ยงหลายประการดังกล่าว เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วกลับมีเสถียรภาพมากกว่าเดิม การศึกษาของ Stephen Cecchetti, Alfonso Flores-Lagunes และ Stefan Krause (2006) พบว่า 16 ประเทศจาก 25 ประเทศ ในกลุ่ม OECD มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น และการปรับตัวให้มีเสถียรภาพมากขึ้นนั้นไม่ได้มาอย่างโชคช่วย ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น วารสาร The Economist (September 22nd 2007) ให้เหตุผลว่า เสถียรภาพที่ดีขึ้นของประเทศชั้นนำดังกล่าวมาจากหลายปัจจัย โดยปัจจัยที่มีผลมากที่สุดคือ การลดลงของการสำรองสินค้าคงคลัง ซึ่งแม้ว่าจะมีสัดส่วนไม่สูงนักเมื่อเทียบกับ GDP แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ในปัจจุบันการจัดเก็บสินค้าคงคลังได้ลดลงอย่างมากจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในระบบ Logistic และการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ผลที่ตามมาคือหลายอุตสาหกรรมหันมาใช้ระบบ Just-in-time ในกระบวนการผลิตทำให้แทบจะไม่ต้องมีการสำรองสินค้าคงคลังเลย เทคโนโลยีดังกล่าวส่งผลให้ความผันผวนของเศรษฐกิจที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังแทบจะหมดไป ซึ่งการศึกษาของ Cecchetti, Flores-Lagunes และ Krause (2006) ก็สนับสนุนแนวความคิดนี้ โดยผลการศึกษาดังกล่าวพบว่า ครึ่งหนึ่งของการลดลงของความผันผวนของเศรษฐกิจเกิดจากการลดลงของความผันผวนของสินค้าคงคลัง

นอกจากการลดลงของการต้องสำรองสินค้าคงคลังแล้ว ยังมีพัฒนาการอีกหลายด้านที่ทำให้เศรษฐกิจชั้นนำของโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ทำให้สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันได้ การเปิดเสรีและอิงกับระบบกลไกตลาด ทำให้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นมากขึ้นและสามารถปรับตัวได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญอีก 2 ประการคือ การพัฒนาตลาดสินเชื่อและการมีนโยบายการเงินที่ดี ในระยะหลังตลาดสินเชื่อได้พัฒนาขึ้นมาก โดยมีการจัดระดับและบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น นำระบบการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) มาใช้ และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ส่งผลให้ตลาดสินเชื่อมีการขยายตัวอย่างกว้างขวางและตรงกับความต้องการของผู้ออมและผู้ลงทุนมากขึ้น ในส่วนการใช้นโยบายการเงินที่ดีขึ้นนั้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของหลายประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ดีขึ้นและเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในกรณีที่เผชิญกับถาวะถดถอย

ตัวอย่างที่ชัดเจนของความเข้มแข็งขึ้นของเศรษฐกิจชั้นนำของโลกคือกรณีเศรษฐกิจสหรัฐฯในคริสต์ทศวรรษปัจจุบัน ตัวอย่าง เช่น เศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่ 4 ของปี 2544 สามารถฟื้นตัวจากการถดถอยในไตรมาสก่อนได้ทั้งๆที่ต้องเผชิญกับการก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดในเดือนกันยายน และแม้ว่าสหรัฐฯจะทำสงครามกับอิรักครั้งที่ 2 ในปี 2546 แต่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ ผิดกับสงครามครั้งแรกในปี 2533/34 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย

ผมขอสรุปว่า ในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญหลายอย่าง ทำให้เรียนรู้ที่จะไม่ทำความผิดซ้ำอีก รวมทั้งเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคได้ดีขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้น ประกอบกับการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจด้วยการเปิดเสรีและลดกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ทำให้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังได้ปรับโครงสร้างให้มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานมากขึ้น จึงสามารถรองรับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานได้ดีกว่าในอดีตมาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจหลักของโลกจะมีภูมิคุ้มกันต่อปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ทว่ารูปแบบของปัญหามีการเปลี่ยนแปลงและเกิดความเสี่ยงใหม่ขึ้น ซึ่งยังไม่แน่ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีภูมิต้านทานต่อปัญหารูปแบบใหม่หรือไม่ สัปดาห์หน้าผมจะพูดถึงเรื่องนี้ในรายละเอียด ท่านผู้อ่านคงติดตามกันต่อไปนะครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น