xs
xsm
sm
md
lg

ยามฯเชื่อ!มีกระบวนการจัดตั้งหวังล้ม”บรรณวิทย์”คาสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยามฯ อัดยับ “สมเจตน์” ฉวยโอกาสแฉพฤติกรรมอดีตผู้บริหารองค์การแบตเตอรี่กลางสภาไม่เหมาะ เชื่อเป็นกระบวนการจัดตั้งหวังล้ม”บรรณวิทย์”เขณะเดียวกันย้อนถาม “อนุพงษ์”เต้นแจงจัดซื้อรถหุ้มเกราะนอกสภาถูกต้องหรือไม่ เผยเป็นเรื่องที่ ครม.ต้องทบทวน

รายการยามเฝ้าแผ่นดิน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เอเอสทีวี คืนวันที่ 11 ตุลาคม 2550 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ และนางสโรชา พรอุดมศักดิ์ ร่วมดำเนินรายการ

โดยในช่วงแรก ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวถึงการอภิปรายญัตติคุณธรรม จริยธรรมการบริหารงานของรัฐบาลเมื่อคืนวัน 10 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า เป็นที่น่าเสียดายแทนรัฐบาล รัฐบาลน่าจะใช้โอกาสนี้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน แต่กลับไม่ทำ ไม่มีแม้กระทั้งการถ่ายทอดสดการอภิปรายทางสถานีโทรทัศน์ทั่วไป ทั้งๆ ที่สมาชิก สนช.ก็อภิปรายได้ดี เห็นจะมีเพียงเอเอสทีวีเพียงสถานีเดียวเท่านั้นที่ถ่ายทอดสด

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า รัฐบาลกำลังมองการอภิปรายฯ เป็นเพียงแค่ญัตติที่ถูกสมาชิก สนช.บางกลุ่มเสนอขึ้นมาโจมตีเพียงเท่านั้น สอดคล้องกับการโหมกระแสก่อนการอภิปรายฯ ที่สมาชิก สนช.เหล่านี้ถูกมองว่า เป็นแค่เพียงตัวป่วน ซึ่งมันแตกต่างกับสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงมีจะเป็นรัฐบาลที่คอรัปชั่นมากที่สุด แต่ก็ยังเปิดให้มีการถ่ายทอดสดการอภิปรายในสภาฯ เกือบทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้าน

นอกจากนี้ มันยังสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่มีจริยธรรม พยายามปิดกั้นไม่ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริง การที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลาานท์ นายกรัฐมนตรี ปล่อยให้นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นมาชี้แจงในสภาแทนนั้น มันก็ไม่เหมาะสม แสดงให้เห็นได้ว่า นายกฯ ไม่พร้อมที่จะตอบด้วยตัวเอง ทำตัวเหมือนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ไม่ค่อยมาชี้แจงในสภา

ขณะเดียวกัน ผู้ดำเนินรายการ ยังแสดงท่าทีไม่พอใจกับการทำหน้าที่ของรัฐบาล โดยเฉพาะปัจจุบันรัฐบาลกำลังพยายามเข้ามาแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ การปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เห็นได้อย่างชัดเจนว่า นายกฯ ไม่สนับสนุนให้มีการถ่ายทอดสดการอภิปราย ทั้งๆที่ ปัญหาครอบครองที่ดินบนเขายายเที่ยง อ.สี่คิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นเรื่องที่เล็กมาก หากถูกนำมาเปรียบเทียบกับปัญหาวิกฤติของชาติ ในเมื่อเราให้โอกาสท่านเข้ามาแก้ไขวิกฤติ ท่านก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา พล.อ.สุรยุทธ์ กลับไม้ได้แก้ไขอะไรอย่างเป็นจริงจังเลย

***เชื่อมีกระบวนการจัดตั้ง-จ้องล้ม “บรรณวิทย์”กลางสภา

ส่วนกรณีที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช.หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แฉพฤติกรรมของอดีตผู้บริหารองค์การแบตเตอรี่ สังกัดกระทรวงกลาโหม จนเป็นเหตุให้องค์การแบตเตอรี่ขาดทุนอย่างหนักและต้องปิดตัวลงในที่สุด ระหว่างการอภิปรายนั้น ผู้ดำเนินรายการ เชื่อว่า เป็นการพูดที่ผิด จริงอยู่ที่ พล.อ.สมเจตน์ ต้องทำหน้าที่สมาชิก สนช.เพื่อตรวจสอบ แต่ประเด็นนี้มันไม่ใช่วาระที่จะต้องถูกนำเข้ามาพูด เนื่องจากหากเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในกระทรวงกลาโหม กระทรวงก็ต้องรับผิดชอบไปตรวจสอบ เพื่อเอาผิด ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องมาตอบในเรื่องนี้

“มีคนจัดตั้งกระบวนการเพื่อเชือด พล.ร.อ.บรรณวิทย์ ต้องการดิสเครดิตให้ลดความน่าเชื่อถือกลางสื่อ โดยที่สื่อไม่รู้ว่า ใครเป็นประธาน แต่เพื่อความเป็นธรรม ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.สมเจตน์ เป็นหนึ่งในทีมงานของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม ถ้ามีกรณีอย่างนี้จริงๆ และมองว่าเป็นความผิดอย่างร้ายแรง สิ่งที่ต้องทำคือทำเรื่องตรวจสอบความผิด และเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ไม่ใช่แค่พูดในสภาเหมือนนักการเมืองทั่วไป ตัวเองมีอำนาจอยู่ทำได้ ในประการที่สองก็มีคนบอกว่า นี่คือการตรวจสอบอะไร ญัตติหัวข้อเมื่อวานนี้ คือ หัวข้อปัญหาด้านคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงานของรัฐบาล ไม่ใช่ของประธานองค์การแบตเตอรี่ ไม่ใช่ของ สนช. ไม่ใช่คนที่กำลังตรวจสอบรัฐบาลอยู่”

นอกจากนี้หากดูจากการพาดหัวข่างของหนังสือพิมพ์วันนี้ (11 ต.ค.) ก็รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโพสต์ทูเดย์ พาดหัวข่าวว่า เชือด‘บรรณวิทย์’คาสภา ทั้งๆที่ประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่หากมองย้อนกลับก็ไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะโพสต์ทูเดย์ นั้นมีผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับเครือเซ็นทรัล เป็นบริษัทที่ถูก พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน เปิดโปงเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการเช่าที่ดินของการรถไฟ โพสต์ทูเดย์ จึงหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาโจมตี

***ย้อนถาม”อนุพงษ์”แจงซื้อรถถังนอกสภาถูกต้องหรือไม่

ในช่วงที่สองผู้ดำเนินรายการ ได้กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ออกมาตอบโต้เรื่องการจัดซื้อรถหุ้มเกราะจากประเทศยูเครน มูลค่า 3,898 ล้านบาท ว่า รู้สึกตกใจที่คนออกมาชี้แจงเป็น พล.อ.อนุพงษ์ สมาชิก สนช.ไม่ได้พูดถึงกองทัพบก กำลังพูดถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2550 และที่พูดไปทั้งหมดก็คือข้อสังเกตจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว หรือว่าเป็นการประมวลข่าวมาจากนักวิชาการ และความเห็นของสื่อมวลชน

“ผมฟังดูมีเหตุผล แต่ว่าทางกองทัพบกอาจจะมีเหตุผลมากกว่าก็ได้ ก็เป็นเรื่องที่ทาง ครม.จะต้องตัดสินใจว่าจะทบทวนหรือไม่ ถ้าไม่ทบทวน ครม.ก็ควรจะแถลงต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนเขาเกิดความสบายใจว่าเงิน 4 พันล้าน ของชาติ ได้ของดีมา ชีวิตทหารจะไม่เสี่ยงภัย ผมเป็นคนรู้น้อย ผมก็เสนอแนะไปอย่างนั้น เป็นเรื่องของครม. ไม่ใช่เรื่องของกองทัพ ถ้า ครม.เห็นด้วยกับกองทัพบกและเห็นด้วยกับมติที่ทำไปแล้วนั้นถูกต้องที่สุด สมบูรณ์แล้ว ก็ช่วยแถลงชี้แจงแสดงเหตุผลกับประชาชนด้วย”

อย่างไรก็ตาม ผู้ดำเนินรายการ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงท่าทีของ พล.อ.อนุพงษ์ โดยเฉพาะการอ้างถึงขั้นตอนการยื่นข้อเสนอการจัดซื้อนั้น มันไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่ สตง.มอง โดยเฉพาะเมื่อมีการยื่นเสนอเงื่อนไขไปแล้ว แต่เหตุกลับปล่อยให้มีการยื่นเสนอจากบริษัทอื่นเข้ามาอีก ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องของคุณภาพ การที่ ผบ.ทบ.ออกมาการันตีนั้น มันคงไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากความจริงรถหุ้มเกราะชนิดดังกล่าวมันไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ยิ่งหากมองถึงประสิทธิภาพและคุณภาพด้วยแล้ว ก็ยิ่งหนักใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น