xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอย ‘สนธิ’ (4) - ดี.ซี. สัญจร

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

รายการยามเฝ้าแผ่นดินสัญจรฯ ณ วอชิงตัน ดี.ซี. ถูกจัดขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม โดยการจัดการของ Thai-DC Forum ที่มีลุงธัช-ป้าติ๋ว (ธัชพงศ์-จารุณี จันทรปรรณิก) เป็นพ่อบ้านและแม่บ้าน ณ ห้อง Lake Anne B โรงแรม Hyatt Reston มลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา

หากจะกล่าวไป Thai-DC Forum ก็คงเปรียบได้กับ ‘สภากาแฟ’ ของชาวไทยที่อาศัยอยู่ที่วอชิงตัน ดี.ซี.และพื้นที่ใกล้เคียง ... เป็นสภากาแฟที่เปิดให้คนไทยไกลบ้านผู้รักชาติทั้งหลายสามารถพูดคุย ถกเถียง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างเสรี

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ชาวไทยใน ดี.ซี.ที่อยู่ไกลบ้านนับพันนับหมื่นไมล์กลับมีความรู้ ความเข้าใจและความใส่ใจในสถานการณ์ที่เมืองไทยมากกว่าคนไทยโดยทั่วไปเสียอีก

ที่น่าสนใจคืออะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขาสามารถรับรู้ข่าวสาร และเข้าใจสถานการณ์เกี่ยวกับบ้านเกิดเมืองนอนได้อย่างลึกซึ้ง?

เท่าที่ผมสังเกตและพูดคุยกับพี่ๆ ที่เดินทางร่วมคณะ พวกเราต่างเห็นตรงกันว่าชาวไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.และแถบใกล้เคียงส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยที่ประกอบวิชาชีพเฉพาะ เช่น นักบัญชี นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย แพทย์ พยาบาล อันจะเห็นได้ชัดว่าแตกต่างไปจากชาวไทยที่อาศัยอยู่ในแถบอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หรือผู้ที่ทำงานอยู่ในภาคบริการ ซึ่งอาจเป็นด้วยเหตุนี้นี่เองที่ทำให้ชาวไทยที่อาศัยอยู่ที่นี่มีบุคลิก สุขุมนุ่มลึกไม่โผงผางมากเท่าใดนัก นี่ถือเป็นสาเหตุประการแรก ...

ส่วนสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง แน่นอนว่าเราคงจะปฏิเสธบทบาทของ ASTV ไม่ได้ ทั้งในแง่ของการเป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมง และ สื่อทางเลือกที่นำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ในห้วงเวลาที่ประชาชนปราศจากทางเลือก!... คนไทยไกลบ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่ต่างยอมรับบทบาทของ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล, ASTV และสื่อในเครือผู้จัดการว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขารับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมืองไทยอย่างตรงไปตรงมา

งานยามเฝ้าแผ่นดิน สัญจรฯ วอชิงตัน ดี.ซี. ในช่วงหัวค่ำของวันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม ดำเนินไปอย่างราบรื่นโดยมีผู้ให้ความสนใจหลายร้อยคน และเนื่องจากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เพิ่งจะเสร็จสิ้นไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม ส่งผลให้ความสนใจของผู้ชมและเนื้อหาการปราศรัยของพิธีกรบนเวทีในวันนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะให้น้ำหนักไปกับการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ผ่านการลงประชามติ

วันนั้นคุณสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่สะท้อนออกมาจากผลการลงประชามติ 19 สิงหาคม 2550 ว่า ผลการลงประชามติพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ผู้ลงมือทำรัฐประหารนั้นทำงานผิดพลาด ส่วน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ได้ทำงานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ของบ้านเมืองเลย เนื่องจากผลของการลงประชามติซึ่งออกมาว่ามีประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ประมาณ 14 ล้านคน และไม่เห็นชอบสูงถึง 10 ล้านคนนั้นชี้ให้เห็นว่าพรรคพลังประชาชน หรือพรรคนอมินีของคุณทักษิณนั้นมีโอกาสที่จะกลับมาได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งหน้าและมีสิทธิ์ที่จะเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง

คุณสนธิชี้ให้เห็นด้วยว่า “อาจกล่าวได้ว่าผลจากการลงประชามติคือการวางมัดจำเครือข่ายหัวคะแนนเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อที่จะรอการลงมือจริง คือ การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม 2550 ที่จะถึงนี้

“ซึ่งถ้าหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจริง ต้องถือว่า พล.อ.สนธิ และ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นผู้เปิดประตูให้ระบอบทักษิณกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาพวกเขาไม่ได้ทำอะไรเพื่อเป็นการให้ความรู้กับประชาชนเลย” คุณสนธิระบุ ทั้งยังกล่าวด้วยว่าถ้าหากในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง บรรดาประชาชนที่เคยลุกขึ้นต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะไม่สามารถยกเหตุและผลขึ้นขัดขวางหรือต่อสู้คัดค้านการกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อีก เพราะคราวนี้ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกก็จะยกเหตุผลของการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศผ่านการเลือกตั้งขึ้นมาแย้งได้อย่างง่ายดาย ...

ถามว่า ถ้าหากวันนั้นมาถึงจริงๆ ผลการสอบสวนการทุจริตเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณและบริวาร ที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา, คุณนาม ยิ้มแย้ม, อ.แก้วสรร อติโพธิ และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) คนอื่นๆ ดำเนินการไว้จะมีความหมายอะไร?

และคำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่อถึงวันนั้นเวลานั้น “คำพิพากษา” 30 พฤษภาคม 2550 ในคดียุบพรรคไทยรักไทยที่เปิดโปงความชั่วร้ายของ “ระบอบทักษิณ” โดยตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน จะถูกบิดเบือนให้กลายเป็นเพียงคำกล่าวหาที่เลื่อนลอย และการกลั่นแกล้งกันเท่านั้นหรือ?

................................
<b>สนธิ ลิ้มทองกุล ขณะสนทนานอกรอบกับสมาชิก Thai-DC Forum</b>
หลังรายการยามเฝ้าแผ่นดินสัญจรฯ ในวันที่ 20 สิงหาคมเสร็จสิ้น ...

เช้าวันอังคารที่ 21 สิงหาคม พันธมิตรชาวไทยในทีมงานของ Thai-DC Forum มารับคณะของเราถึงที่พักเพื่อไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ รอบกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

วอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเมืองเล็กๆ ที่มีพื้นที่เพียง 108 ตารางกิโลเมตรตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา วอชิงตัน ดี.ซี. ถูกล้อมรอบด้วยรัฐแมรีแลนด์ ถูกแบ่งออกจากรัฐเวอร์จิเนียโดยแม่น้ำโปโตแมค (Potomac) อย่างที่ทราบ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เป็นเมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกาและมีความสำคัญในหลายๆ ด้าน คือ หนึ่ง เป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองของประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ประเทศที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่า 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร โดยในจำนวนมลรัฐทั้งหมด 50 มลรัฐ กรุงวอชิงตันนั้น ถือเป็นเพียง District เพียงหนึ่งเดียว (คำว่า D.C. นั้นย่อมาจากคำว่า District of Columbia) เป็นที่ตั้งของ ‘สามสถาบันหลัก’ ที่ค้ำจุนระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ สามสถาบันหลักอันประกอบไปด้วย ‘ทำเนียบขาว (The White House)’ สัญลักษณ์ของอำนาจทางการบริหาร เป็นที่ตั้งของ ‘รัฐสภา (The US Capitol)’ สัญลักษณ์อำนาจทางนิติบัญญัติ เป็นที่ตั้งของ ‘ศาลฎีกา (US Supreme Court)’ สัญลักษณ์ของอำนาจสูงสุดในทางตุลาการ ...

สอง ณ เมืองอาร์ลิงตัน มลรัฐเวอร์จิเนียติดกรุงวอชิงตันคือที่ตั้งของตึกทรงห้าเหลี่ยมอันเลื่องชื่อที่รู้จักกันดีในนาม เพนตากอน (The Pentagon) สำนักงานใหญ่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ศูนย์กลางอำนาจทางการทหารของโลก

นอกจากนี้กรุงวอชิงตันยังเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ขององค์กรครอบโลกที่สำคัญหลายแห่งอย่างเช่น ธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารพัฒนาระหว่างอเมริกา (Inter-American Development Bank) เป็นต้น องค์กรเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลกอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง ซึ่งผมจะกล่าวถึงต่อไป

นอกจากนี้กรุงวอชิงตันและพื้นที่ใกล้เคียงยังมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม-ธรรมชาติ อนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ อีกมากมาย ...

ก่อนที่พวกเราจะออกเดินทางไปชมเมือง ‘ป้าติ๋ว’ ที่เดินทางมาส่งพร้อมกับมอบหนังสือนำเที่ยวกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ให้ บอกกับผมว่าหากจะเที่ยววอชิงตันให้ครบคงต้องใช้เวลาสักหนึ่งเดือน เพราะเพียงแค่การไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนให้ถ้วนทั่วก็อาจจะต้องใช้เวลาร่วมสัปดาห์แล้ว

... แม้สมาชิกในคณะของพวกเราบางส่วนจะยังรู้สึกอ่อนเพลียอยู่บ้างกับการเดินทางไกลและการจัดงานในคืนก่อนหน้า แต่เนื่องจากพวกเรามีเวลาที่จะเยี่ยมชม กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพียงหนึ่งวันเท่านั้นก่อนที่จะออกเดินทางต่อไปยังมหานครนิวยอร์ก ทุกคนจึงดูกระตือรือร้นเป็นอย่างยิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น