xs
xsm
sm
md
lg

มุมมองนักบริหารหนี้:30 ปี ของการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก ยังไปไม่ถืงไหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การจะฝากเงินไว้กับใครหรือสถาบันใด นอกจากจะหวังผลตอบแทนที่เป็นดอกเบี้ยแล้ว ความปลอดภัยของเงินเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งสถาบันประกันเงินฝากถือเป็นองค์กรสำคัญที่หลายประเทศจัดตั้งขึ้นมา เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้มีเงินออมในสถาบันการเงิน ว่าหากสถาบันการเงินล้มละลาย ไม่สามารถจ่ายเงินฝากคืนได้ตามเงื่อนไข สถาบันประกันเงินฝากจะจ่ายแทนตามวงเงินที่กำหนดไว้

การจ่ายเงินฝากคืนดังกล่าวกระทำได้รวดเร็ว เพราะไม่ต้องรอขั้นตอนการชำระบัญชีหรือกระบวนการล้มละลายตามกฎหมายให้สิ้นสุดก่อน ซึ่งหลายกรณีกระบวนการของศาลใช้เวลานาน ดังนั้นหากสถาบันการเงินเกิดปัญหาผู้ฝากเงินก็ไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจ แห่กันไปถอนเงินจนอาจทำให้สถาบันการเงินทั้งระบบล้มได้ ทั้งนี้เพราะไม่มีสถาบันการเงินใดเก็บเงินไว้นิ่งๆทั้งหมด ต้องนำเงินไปลงทุน ให้กู้ยืมเพื่อออกดอกผลนำมาจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก จ่ายเงินปันผล และเก็บสำรองตามกฎหมาย

ดังนั้น สถาบันประกันเงินฝาก จึงมีประโยชน์หลายประการ โดยนอกจากผู้ฝากเงินได้รับการคุ้มครองเงินฝากแล้ว ยังส่งเสริมให้ผู้ฝากเงินคำนึงถึงความมั่นคงและผลประกอบการของสถาบันการเงิน นอกเหนือจากมุ่งเน้นดอกเบี้ยเงินฝากการที่จะเลือกฝากธนาคารใด และเป็นการเสริมมาตรการการกำกับดูแลความมั่นคงอย่างครบวงจรให้แก่สถาบันการเงินให้ดำเนินการอย่างระมัดระวังมิให้สถาบันการเงินมีปัญหาจนเป็นภาระที่รัฐบาลต้องนำภาษีประชาชนไปแก้ปัญหา

แปลก แต่จริง สำหรับประเทศไทย ของดีๆเกิดขึ้นยาก ไม่ว่าจะเป็นสถาบันประกันเงินฝากดังประโยชน์ที่กล่าวข้างต้น การเก็บภาษีมรดกที่มีการพูดถึงมานานแสนนานว่าจะช่วยลดช่วงห่างของรายได้ชงัดนัก ฯลฯ

ประเทศไทยได้มีการริเริ่มคิดที่จัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากประมาณปี พ.ศ. 2520 โดยมีการศึกษา จัดทำร่างกฎหมาย และรูปแบบองค์กร เพื่อเตรียมจัดตั้ง พร้อมในช่วงแรกๆเสร็จแล้ว ซึ่งจัดทำและนำเสนอโดยธนาคารแห่งประเทศไทย แต่รัฐบาลในสมัยนั้นไม่ให้ความสนใจ เพราะเศรษฐกิจการเงินในช่วงนั้นยังเจริญเติบโตอย่างมีเสถีรยภาพ “การจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก จะสะท้อนความอ่อนแอของระบบการเงินของไทย” ซึ่งเป็นความเห็นของ รมต. ท่านหนึ่ง ในสมัยนั้น สถาบันประกันเงินฝาก จึงถูกฝากไว้ในลิ้นชัก จนเกือบลืม โดยนำเอาแนวดำเนินการคล้ายกับการประกันเงินฝากบางส่วนไว้ใน กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย และดำเนินการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มาทำหน้าที่ส่วนหนึ่ง แต่ก็ม่สามารถป้องกัน หรือลดผลกระทบจากวิกฤตได้

ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ในปี 2540 เพื่อลดผลกระทบต่อระบบการเงิน การธนาคาร รัฐบาลได้เลือกการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนตามมติ ค.ร.ม. และมีผลจนถึงปัจจุบัน โดยให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนต่อระบการเงินการธนาคารไม่ให้ตื่นตระหนกไปถอนเงินจากสถาบันการเงิน

การดำเนินการดังกล่าวได้สร้างภาระทางการคลังอย่างมาก โดยมีการประเมินความเสียหายสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาททีเดียว และยังสร้างวัฒนธรรมไม่พึงประสงค์เกิดขึนด้วย อาทิ ผู้ฝากเงินฝากเพราะดอกเบี้ยมากกว่าที่จะมองลึกถืงความมั่นคงของสถาบันการเงินนั้นๆ และสถาบันการเงินเองก็อาจดำเนินการเสี่ยงเกินไป เพราะแน่ใจว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันการเงิน รัฐได้คุ้ฒครองเงินฝากไว้เต็มจำนวนแล้ว

จากปี 2520 ถึงปี 2550 ที่ใช้เวลาถึงสามทศวรรษ หวังว่ากฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากที่กำลังอยู่ในขั้นตอนต่างๆขณะนี้ คงจะช่วยให้ผู้ฝากได้เห็นและได้ประโยชน์โดยเร็ว โดยประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยสรุปไว้มีดังนี้

รูปแบบองค์กร :
หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่หลักในการคุ้มครองเงินฝากของประชาชนและชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูก ปิดกิจการ

โครงสร้างการบริหาร : คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนทางการและผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ค.ร.ม. แต่งตั้ง

การคุ้มครองเงินฝาก : คุ้มครองเงินฝากทุกรายในวงเงิน 1 ล้านบาทในสถาบันการเงินแต่ละแห่ง หากฝากหลายแห่งก็จะได้รับการคุ้มครองในวงเงิน 1 ล้านบาทต่อแห่ง อย่างไรก็ดีในช่วงเริ่มต้นจะคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน และจะทยอยลดวงเงินคุ้มครองให้เหลือ 1 ล้านบาทภายใน 4 ปี

แหล่งเงินทุน : ทุนประเดิม 1000 ล้านบาท และสถาบันการเงินจะจ่ายเงินสมทบเป็นประจำทุกปี

การจ่ายคืนเงินฝาก : การจ่ายเงินฝากของสถาบันการเงินที่นำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากไม่ใช้เงินภาษีของประชาชน

การชำระบัญชี : สถาบันคุ้มครองเงินฝากทำหน้าที่ชำระบัญชสถาบันการเงินที่ปิดกิจการ เพื่อลดความเสียหายจากการเสื่อมมูลค่าของสินทรัพย์จะทำให้ผู้ฝากเงินเกินกว่าจำนวนที่คุ้มครองจะได้รับชำระมากขึ้น

ครับ ครั้งนี้อย่าให้สถาบันประกันเงินฝาก แท้งนะครับ?
กำลังโหลดความคิดเห็น