xs
xsm
sm
md
lg

เตือนส่งออกไทยปีหน้าทรุดฮวบ รับผลเศรษฐกิจสหรัฐ-คู่ค้าชะลอตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) ประเมินส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวถึง 35% ของการส่งออกทั้งหมด ชี้ปีหน้าส่งไทยขยายตัวแค่ 8% ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลน้อยลงในปลายปีนี้ และจะขาดดุลในปีหน้าประมาณ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งค่าเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ 36.5 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนเศรษฐกิจปีหน้าโต 4.7% ขณะที่ธปท.รายงานภาวะส่งออก 8 เดือนแรกในรูปเงินบาทขยายตัว 7.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย)จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งคาดว่าจะมีการชะลอตัวลงจากเดิมขยายตัวที่ 3% อาจจะลดลงเหลือเพียง 1.5-2.0%ในปีหน้านั้น จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านของการส่งออกโดยตรง แม้ว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯนั้นจะมีเพียง 15% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงแล้วผลกระทบที่ไทยได้รับสุทธิจะสูงถึง 35% ของการส่งออกทั้งหมด เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆนอกจากสหรัฐฯนั้นจะเป็นสินค้าวัตถุดิบ ซึ่งจะนำไปผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ดังนั้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวก็ย่อมจะมีผลต่อประเทศเหล่านั้นและส่งต่อมายังไทยด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก หากเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีการชะลอตัวก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดตามไปด้วย เพราะการบริโภคในประเทศยังคงมีความอ่อนแอ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลนั้นเป็นผลมาจากภาคการส่งออกเติบโตได้ดีมาก โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานั้นการส่งออกมีการเติบโตอยู่ที่ 18% แต่หากจะให้ขยายตัวอยู่ในระดับดังกล่าวต่อไปถือเป็นเรื่องที่ยากมากโดยเฉพาะในปีหน้า โดยคาดว่าการส่งออกปีหน้านั้นจะอยู่ที่ระดับ 8% จากปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 10-12%

อย่างไรก็ตาม มองว่าจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงและการนำเข้าสูงขึ้น จากปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมันและการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์นั้นจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และจะขาดดุลในปีหน้าประมาณ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อมายังค่าเงินบาท ซึ่งในปัจจุบันยังคงแข็งค่าได้อยู่จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล ดังนั้น หากการเกินดุลมีน้อยลงแรงหนุนให้ค่าเงินแข็งก็จะมีน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งโอกาสที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าไปแตะระดับ 33.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯคงเป็นเรื่องที่ยาก โดยปลายปีนี้ค่าเงินบาทสิ้นปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าไปอยู่ที่ระดับ 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาสแรกของปีหน้าและอ่อนลงมาอยู่ที่ 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาสที่สอง

ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุนนั้นจะมีความผันผวน โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์อาจจะไปทดสอบที่ระดับ 900 จุดได้ แต่จะไม่สามารถรักษาให้อยู่ในระดับนี้ได้ต่อเนื่อง ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนอาจจะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และนักลงทุนบางส่วนจะมีการทยอยลดสัดส่วนการลงทุนหากดัชนียังขึ้นไปสูงในช่วง 1-2 เดือนนี้ จากการขายทำกำไร

"เราสังเกตเห็นตั้งแต่รอบแรกที่มีปัญหาซับไพรม์ เราก็ได้ปรับตัวมาแล้ว 1 รอบ รวมถึงมีการขายของที่มีความเสี่ยงสูงออกไปเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและเสริมสภาพคล่อง แต่ปัญหาซับไพรม์นี้ยังไม่จบ อาจจะเห็นผลกระทบอีกรอบใน 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะมีนัยต่อค่าเงินบาทด้วย เพราะอาจจะทำให้มีการขายทำกำไรออกมาแล้วดึงเงินออกไปชั่วคราว" นางสาวอุสรากล่าว

นางสาวอุสรา กล่าวว่า หากเศรษฐกิจไทยต้องการจะขยายตัวแข็งแกร่งขึ้นในภาวะที่การส่งออกชะลอตัว จะต้องมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก จากเดิมในปีนี้ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 4% นั้นตัวขับเคลื่อนจะมาจากการส่งออกเป็นหลัก โดยสิ่งที่จะต้องพึ่งพิงคือการกระตุ้นภาคการลงทุนในประเทศให้มากขึ้น จากการลงทุนด้านนโยบายของการคลังรวมถึงโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะสามารถมาชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัวได้ ทำให้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวอยู่ที่ 4.7% แต่จากประมาณการณ์ของกระทรวงการคลังที่คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 6% นั้นคงจะต้องติดตามปัจจัยอีกหลายอย่าง รวมถึงเศรษฐกิจโลกและความพร้อมของการลงทุนในประเทศด้วยว่าเป็นอย่างไรและเพียงพอจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับดังกล่าวได้หรือไม่

สำหรับประเด็นที่เป็นห่วงในเรื่องของการลงทุนภาคเอกชน คือ สังเกตว่าที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องถึง 5 ครั้ง จากอัตราดอกเบี้ยที่ 5% ลงมาอยู่ที่ 3.25% ซึ่งการส่งผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคการลงทุนนั้นทำได้ยากพอสมควร เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ โดยจะเห็นได้จากตัวเลขการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจะมีอัตราการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบอยู่ประมาณ 7-8% แต่ในปีนี้มีเพียง 2% เท่านั้น

นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับลดลงมาถึง 1.75% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับลงมา 1.5-1.75% แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์)ปรับลงมาแค่ 0.875% เท่านั้น ถือว่าเป็นอุปสรรคของการฟื้นตัวด้านการลงทุนในภาคเอกชน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าไม่มีความจำเป็นที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่อย่างไรก็ตามมองว่าการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) นั้นจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้นหากต้องการการลงทุนมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นจะต้องกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ ส่วนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดดอกเบี้ยอีก 2 รอบๆ ละ 0.25%

ทั้งนี้ มองว่าในที่สุดแล้วอาจจะต้องมีการยกเลิกมาตรการการกันสำรอง 30% เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมีความจำเป็นน้อยลงจากการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเปลี่ยนจากเดินดุลเป็นเกินดุลน้อยลงและขาดดุล ทำให้แรงกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามีน้อยลง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยของไทยซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเพื่อนบ้านทำให้แรงจูงใจในตลาดพันธบัตรมีน้อยลงมาก อีกทั้งเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากปัญหาที่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจแข่งขันกับเอกชนในการระดมสภาพคล่อง

"ผู้ส่งออกมองว่าค่าเงินบาทผ่านจุดแข็งค่าที่สุดไปแล้ว แต่ยังขอแนะนำให้ชะลอการขายดอลลาร์ล่วงหน้า ส่วนผู้นำเข้านั้นให้ทยอยซื้อเงินดอลลาร์และเยน เพราะดอลลาร์และเยนจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท ส่วนยูโรรอซื้อได้ เพราะตอนนี้แข็งค่ามาก และในอีก 5 เดือนข้างหน้าคงจะอ่อนค่าลงมา " นางสาวอุสรากล่าว

ธปท.เผยส่งออก8เดือนโต7.7%

ด้านรายงานข่าวจากสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงตัวเลขการขยายตัวของการส่งออกล่าสุด ในรูปเงินบาท 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 2550 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 3.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 7.7% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 3.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 2.8%

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่มียอดการส่งออกในรูปเงินบาท ลดลงมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ มีมูลค่ารวม 8 เดือนแรกของปี 128,657 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน 10.8% เนื่องจากอุตสาหกรรมสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ทั้งจากค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่า 5% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้คำสั่งซื้อเริ่มลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2549 ที่ผ่านมา

สำหรับสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ที่ดีใน 8 เดือน ประกอบด้วย สัตว์น้ำกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9% มีมูลค่าการส่งออกนวม 37,113 ล้านบาท การส่งออกก๊าซธรรมชาติ ส่งออกทั้งสิ้น 6.9,365 ล้านลบ.ฟุต เพิ่มขึ้น 6.5% ขณะที่ก๊าซธรรมชาติเหลว ลดลง 4.7%

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การส่งออกในครึ่งปีหลังยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อไป จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ในขณะที่ การนำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังการเริ่มเห็นแนวโน้มการใช้จ่าย และการลงทุนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 นี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น กระทบต่อการส่งออกในระดับที่ไม่สูงมากเท่ากับปีที่ผ่านมา แต่เมื่อรวมการแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2549 จนถึงขณะนี้ ทำให้กลายเป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม การส่งออกในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงที่หดตัวนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันมาตั้งปีที่ผ่านมา โดยในส่วนของสิงทอการขยายตัวในปี 2549 ติดลบอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น