ศูนย์ข่าวขอนแก่น-สนข.เร่งพัฒนาระบบการขนส่งทางรถไฟ แทนการขนส่งดั้งเดิม ที่ใช้รถบรรทุก ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าหลายสิบเท่า หวังลดต้นทุนขนส่งสินค้าเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในตลาดโลก เลือกนำร่องใน 2 เส้นทางหลัก ขอนแก่น-โคราช-ท่าเรือแหลมฉบัง และนครสวรรค์-ท่าเรือแหลมฉบัง เผยประเดิมสินค้าเศรษฐกิจสำคัญทั้งข้าว-มันสำปะหลังและน้ำตาล
วานนี้ (8 ต.ค.)ที่โรงแรมเจริญธานีปริ๊นเซส จ.ขอนแก่น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นและปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับโครงการนำร่อง(Pilot Project)การพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้า(Logistics)ทางรถไฟของหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการเอกชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา และนครสวรรค์ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน โดยมี นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานเปิดงาน
นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ากระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ สนข.ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)และการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)จัดทำโครงการนำร่องการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นมากในการพัฒนาระบบการขนส่งในอนาคตของประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อประหยัดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าภายในประเทศและขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออก และเป็นการสนับสนุนด้านความปลอดภัย รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านการจราจรในการขนส่งด้วยระบบรางแทนการขนส่งทางถนน( Modal Shift)
"โครงการดังกล่าวต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆรอบด้าน ตลอดเส้นทางการขนส่ง ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางว่ามีกิจกรรมใดบ้างที่สามารถลดต้นทุนหรือสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยเฉพาะปัญหาและอุปสรรค ซึ่งต้องอาศัยการสะท้อนความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศ" นายสรรเสริญกล่าวและว่า
การจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการเอกชนในพื้นที่จัดทำโครงการนำร่องในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ โดยพิจารณาในส่วนของจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ที่สามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งรูปแบบต่างๆไปยังท่าเรือแหลมฉบังใน 2 เส้นทาง ประกอบด้วย
เส้นทางที่ 1 การขนส่งสินค้าจากสถานีท่าพระ จ.ขอนแก่นและสถานีกุดจิก จ.นครราชสีมาไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนเส้นทางที่ 2 การขนส่งสินค้าทางรถไฟจากท่าข้าวกำนันทรง จ.นครสวรรค์ไปยังสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง(ICD)ที่ลาดกระบัง และท่าเรือแหลมฉบัง
นายสรรเสริญ ระบุว่าโครงการนำร่องทั้ง 2 เส้นทางจะต้องถกกันในรายละเอียดทั้งแหล่งผลิตสินค้าเกษตรว่ามีกลุ่มบุคคลใดบ้างที่เกี่ยวข้อง จุดไหนต้องพัฒนาเป็นรางคู่ จะพัฒนาระบบการขนส่งอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ปลอดภัย รวมถึงการจัดสร้างคลังสินค้าทั้งบนเส้นทางที่รถไฟผ่านและปลายทางที่ท่าเรือ ขณะเดียวกันต้องเสาะหาเทคโนโลยีการขนส่งที่เหมาะสมเข้ามาใช้ประกอบ
"ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือรูปแบบการบริหารจัดการการขนส่ง แต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะเข้ามามีบทบาทด้านใดบ้าง ท้ายที่สุดระบบการบริหารแผนโครงการจะออกมาในลักษณะใด อาจจะเป็นส่วนราชการหรือมอบให้เอกชนทำหรือทั้ง 2 ภาคส่วนร่วมกันบริหาร แม้แต่การเชื่อมโยงการขนส่งไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มแม่น้ำโขงก็ต้องมองให้ทะลุ เพื่อรองรับการขยายเส้นทางขนส่งในอนุภูมิภาคในอนาคต"
สำหรับโครงการนำร่องดังกล่าวได้บรรจุแผนงานโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรางให้เป็นรูปธรรม ทั้งการสร้างรถไฟรางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง ระยะทาง 78 กิโลเมตร(กม.)ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม.และช่วงมาบกะเบา-ปากช่อง-นครราชสีมา ระยะทาง 129 กม. อีกทั้งจะได้มีการพัฒนาลานขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงโครงข่ายถนนเชื่อมทางเข้าสู่ย่านกองเก็บตู้สินค้า(CY-Container Yard) ที่สถานีรถไฟท่าพระ กุดจิก บ้านเกาะและชุมทางถนนจิระ
นอกจากนี้ยังมีแผนการจัดตั้งโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวในจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อสนับสนุนให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าข้าว(Hub&Spoke)ในจังหวัดภาคเหนือตอนล่างตลอดจนแผนการดำเนินการด้านบริหารจัดการเดินขบวนรถไฟ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนจัดหารถจักรและแคร่บรรทุกสินค้ามาร่วมบริการเดินรถกับการรถไฟฯอีกด้วย
ด้านนายวรเดช หาญประเสริฐ ผู้อำนวย สนข.เปิดเผยว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าด้วยรถยนต์บรรทุกทางถนนมีส่วนแบ่งสูงสุด ตัวเลขเมื่อสิ้นปี 2548 อยู่ที่ 86.32 % ขนส่งทางน้ำ 11.62 % และขนส่งระบบรางทางรถไฟเพียงแค่ 0.05 % ซึ่งหากเปรียบเทียบต้นทุนการขนส่งสินค้าต่อน้ำมันเชื้อเพลิง 1 ลิตรพบว่าการขนส่งด้วยรถบรรทุก 1 คัน ขนสินค้าได้ 13-14 ตัน ต้นทุนอยู่ที่ 25 ตัน/กม./ลิตร ขณะที่ขนส่งทางรถไฟ 1 ขบวน( เท่ากับรถบรรทุก 70-80 คัน) ขนสินค้าได้ราว 1,000 ตัน ต้นทุนอยู่ที่ 85.5 ตัน/กม./ลิตร
สำหรับโครงการนำร่องการพัฒนาระบบการจัดการขนส่งทางรถไฟระหว่าง จ.ขอนแก่น-นครราชสีมา-ท่าเรือแหลมฉบังนั้น หากเจาะจงเฉพาะสินค้าข้าวสาร แป้งมันสำปะหลังและน้ำตาลทราย จะพบว่าปัจจุบัน(2549)มีปริมาณขนส่งทางรถไฟทั้งสิ้น 22,000 ตัน/เดือน ขณะที่คาดว่าความต้องการขนส่งสินค้ากลุ่มดังกล่าวทางรถไฟจะเพิ่มขึ้นเป็น 48,000 ตัน/เดือน โดยเพิ่มขึ้น 26,000 ตัน/เดือน คิดเป็นเที่ยวรถไฟที่จะเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 65 ขบวน/เดือน ซึ่งจะทำให้ประหยัดต้นทุนค่าขนส่งได้ 7.88 ล้านบาท/เดือน หรือเท่ากับ 94.56 ล้านบาท/ปี สามารถลดการใช้รถบรรทุกขนส่งตู้สินค้าทางถนนได้ราว 4,875 เที่ยว(ไป-กลับ)ต่อเดือน
นายวรเดชกล่าวถึงเป้าหมายของโครงการนำร่องดังกล่าวว่า ต้องการส่งเสริมให้มีการใช้การขนส่งทางรถไฟสำหรับขนส่งข้าวสาร แป้งมันสำปะหลัง และน้ำตาลทรายระหว่าง จ.ขอนแก่น-นครราชสีมาไปส่งออกที่ท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนการจัดการขนส่งและค่าขนส่งสินค้าทั้ง 3 ชนิดในเส้นทางดังกล่าว
จากการศึกษาของสนข.พบว่าจะสามารถลดลงได้ประมาณร้อยละ 27 ขณะที่การขนส่งข้าวสารเพื่อการส่งออกระหว่าง จ.นครสวรรค์-สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง(ICD)ที่ลาดกระบัง-ท่าเรือแหลมฉบังจะลดลงร้อยละ 33 จากการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาใช้ทางรถไฟ
สำหรับวงเงินลงทุนโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ระหว่างขอนแก่น-นครราชสีมาไปยังท่าเรือแหลมฉบังใช้งบประมาณรวมราว 20,241.40 ล้านบาท ส่วนวงเงินลงทุนจัดตั้งโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวบริเวณพื้นที่ จ.นครสวรรค์คาดว่าใช้เงินลงทุนราว 300 ล้านบาท ทั้งนี้โครงการนำร่องฯทั้ง 2 เส้นทางมีระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 7 ปี ระหว่าง พ.ศ.2551-2557