xs
xsm
sm
md
lg

ภิกษุสันดานกาพุทฺธุปปฺมาตำหนิพระเลว

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับพฤติกรรมอันไม่ดีไม่งาม ไม่เหมาะสมกับเพศภาวะของพระภิกษุเปรียบกับพฤติกรรมของกา 10 ประการว่า

“ภิกษุทั้งหลาย กาเป็นสัตว์ประกอบด้วยความเลวสิบประการ” สิบประการเป็นไฉน? สิบประการคือ

1. กาเป็นสัตว์ทำลายความดี 2. กาเป็นสัตว์คะนอง 3. กาเป็นสัตว์ทะเยอทะยาน 4. กาเป็นสัตว์กินจุ 5. กาเป็นสัตว์หยาบคาย 6. กาเป็นสัตว์ไม่กรุณาปรานี 7. กาเป็นสัตว์ทุรพล 8. กาเป็นสัตว์เสียงอึง 9. กาเป็นสัตว์ปล่อยสติ 10. กาเป็นสัตว์สะสมของกิน

ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุลามกก็เป็นเช่นเดียวกับกานั่นแหละ เป็นคนประกอบด้วยอสัทธรรมสิบประการ สิบประการเป็นไฉน? สิบประการคือ

1. ภิกษุลามกเป็นคนทำลายความดี 2. ภิกษุลามกเป็นคนคะนอง 3. ภิกษุลามกเป็นคนทะเยอทะยาน 4. ภิกษุลามกเป็นคนกินจุ 5. ภิกษุลามกเป็นคนหยาบคาย 6. ภิกษุลามกเป็นคนไม่กรุณาปรานี 7. ภิกษุลามกเป็นคนทุรพล 8. ภิกษุลามกเป็นคนร้องเสียงอึง 9. ภิกษุลามกเป็นคนปล่อยสติ 10. ภิกษุลามกเป็นคนสะสมของกิน

โดยนัยแห่งพฤติกรรมของนกกา สิบประการดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าล้วนแล้วแต่เป็นความเลวที่ไม่เหมาะไม่ควรที่คนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนมีศีล เช่น ภิกษุในพระพุทธศาสนาไม่ควรประพฤติ ไม่ควรปฏิบัติ

แต่ในความเป็นจริง ความเป็นปุถุชนคนมีกิเลส ถึงแม้ว่าจะมาบวชถือศีล 227 ข้อแล้วก็ยังมีภิกษุบางรูปในครั้งพุทธกาลมีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสสอนด้วยข้อวัตรปฏิบัติที่พระภิกษุที่เข้ามาบวชเพื่อการทำความดี โดยมุ่งความหลุดพ้น ควรงดเว้นอสัทธรรม 10 ประการ อันเป็นพฤติกรรมของกาดังกล่าว

แต่คำสอนที่ว่านี้มิได้หมายความว่าพระภิกษุทุกรูปจะเป็นเยี่ยงนี้ คงจะมีบ้างบางส่วน และเชื่อว่าเป็นส่วนน้อย พระพุทธองค์จึงได้ตรัสโดยใช้คำว่า “ลามก” อันหมายถึงผู้ที่มีจิตคิดแต่สิ่งเลวทราม และลุกลามออกไปทางกายและวาจา จนเป็นเหตุให้เป็นที่ตำหนิติเตียนและบ่อนทำลายศรัทธาของผู้ที่ได้พบเห็น แม้กระทั่งในยุคที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนมชีพอยู่ ด้วยเหตุนี้จะป่วยกล่าวไปไยถึงยุคนี้สมัยนี้ว่าจะไม่มีหรือมีน้อยกว่าสมัยพุทธกาล และนี่เองคือภาพสะท้อนความเหลวแหลกของวงการพระสงฆ์ดังที่ปรากฏทางสื่อต่างๆ อยู่บ่อยๆ และน่าจะเป็นเหตุจูงใจประการหนึ่งให้ใครต่อใครผู้ห่วงใยในพระพุทธศาสนา ได้ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา เช่น สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นต้น ได้ออกมารับผิดชอบในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น และบ่อนทำลายพุทธศาสนา

แต่ในขณะที่ฝ่ายห่วงใยได้ออกมาเรียกร้องและปกป้องพุทธศาสนา โดยการให้จัดการแก้ไขพฤติกรรมอันไม่เหมาะไม่ควรของภิกษุในประเทศไทย ก็ได้มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ที่ออกมาคัดค้าน และไม่เห็นด้วยกับการออกมาตีแผ่ความประพฤติไม่เหมาะไม่ควรของพระสงฆ์ ถึงแม้จะกระทำด้วยเจตนาดีก็ตาม ดังที่ได้เกิดขึ้นในกรณีของการออกมาคัดค้านภาพเขียนของคุณอนุพงศ์ จันทร ที่ชื่อว่า ภิกษุสันดานกา ด้วยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำย่ำยีพระพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่ภาพนี้เป็นเพียงการนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเผยแผ่ในรูปของภาพอันเปรียบได้กับการสอนในรูปแบบของบุคลาธิษฐานเท่านั้น และนี่เองคือเหตุจูงใจให้นำเรื่องนี้มาเขียนภายใต้ข้อกังขาในประเด็นดังต่อไปนี้

1. เมื่อภาพที่วาดขึ้นมีที่มาจากพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น จึงมีปัญหาว่าทำไมพระภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับที่มีความรู้ในด้านปริยัติเป็นอย่างดีออกมาคัดค้าน?

2. ในการออกมาคัดค้าน เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวได้เห็นพระภิกษุรูปหนึ่งนอนลงกับพื้นแสดงท่าทางไม่พอใจในลักษณะที่ไม่ต่างไปจากคฤหัสถ์ และการแสดงท่าทางแบบนี้จะยิ่งเป็นเหตุให้ผู้พบเห็นเสื่อมศรัทธายิ่งเสียกว่ามองดูภาพดังกล่าวเสียอีก

3. ถ้าผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับภาพนี้ทำไมไม่ร้องเรียนมหาเถรสมาคมตามขั้นตอน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักพุทธ เป็นต้น ดำเนินการ จะดีเสียกว่าที่พระสงฆ์ออกมาแสดงอาการคัดค้านโดยกิริยาท่าทางไม่ต่างไปจากคฤหัสถ์กระทำ

ด้วยเหตุปัจจัยอันถือได้ว่าเป็นข้อกังขานี้ ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าคิดให้รอบคอบแล้วจะเห็นได้ว่าการออกมาคัดค้านเป็นไปอย่างไม่เหมาะสมที่พระภิกษุสงฆ์ผู้ประกอบด้วยศีลและจริยวัตรจะพึงกระทำ

อีกประการหนึ่ง ถ้ามองในแง่ว่าถ้ากลุ่มผู้คัดค้านมองเห็นการเขียนภาพที่เป็นการกระทำย่ำยีพระพุทธศาสนาจริงแล้ว ทำไมผู้คัดค้านกลุ่มนี้จึงมองไม่เห็นการกระทำอันไม่ดีไม่งามของพระสงฆ์ เช่น พระค้ายาบ้า พระทำเสน่ห์ยาแฝดรักษาโรคด้วยวิธีที่ผิดทำผิดพระวินัย รวมไปถึงพระที่เดินย่านคลองถมซื้อซีดีที่พระไม่ควรมีไว้ในครอบครองด้วยเล่า

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นว่าถ้ากลุ่มคัดค้านต้องการปกป้องพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง และให้ได้ผล ก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขพฤติกรรมพระสงฆ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเป็นเหตุให้ผู้เห็นเสื่อมศรัทธา ไปพร้อมๆ กับการแก้ไขพฤติกรรมของผู้คนในสังคมที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของพระ

แต่ในความเป็นจริงที่ปรากฏพฤติกรรมอันไม่เหมาะไม่ควรในวงการสงฆ์ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากสงฆ์ด้วยกันเท่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่มหาเถรสมาคม และสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรจะได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา และกำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันดังต่อไปนี้

1. ทำการสำรวจสำมโนประชากรพระสงฆ์ในประเทศไทยให้แน่ชัดว่ามีอยู่เท่าใด และมีรายละเอียดลงลึกถึงเรื่องการศึกษา อายุพรรษา และภาระหน้าที่ต่อสังคมเท่าที่พระจะพึงกระทำได้ เช่น เป็นครูสอนศีลธรรม อบรมประชาชน และให้ความรู้แก่พระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น

2. เมื่อได้ข้อมูลแล้วให้จัดทำแผนฟื้นฟูพฤติกรรมพระสงฆ์ที่ไม่ได้รับการศึกษา และการอบรมอย่างทั่วถึง

3. ให้นำพระภิกษุสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถในการสอนมาประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ แนวทางการปรับองค์กรสงฆ์ แล้วมอบหมายให้แต่ละท่านกลับไปดำเนินการในถิ่นของตนเองเป็นระยะเวลา 1-3 ปี แล้วส่งคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานออกไปทำการประเมิน

ในการดำเนินการ 3 ประการนี้ ทางรัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน และบุคลากรให้เพียงพอแก่การดำเนินงาน

ในขณะเดียวกัน ถ้าพบว่าในท้องถิ่นใดดำเนินการไม่ได้ผล ก็ควรอย่างยิ่งที่ทางการปกครองจะต้องเข้ามาดูแลแก้ไขโดยใช้อำนาจบริหาร เช่น การโยกย้ายหรือปลดออกจากตำแหน่ง เป็นการลงโทษผู้รับผิดชอบในระดับเจ้าคณะจังหวัด อำเภอ และตำบลลงไปตามลำดับชั้น

ยิ่งกว่านี้ ทางมหาเถรสมาคมจะต้องไม่ปล่อยให้พระสงฆ์ในระดับปกครองเข้าไปมีส่วนได้เสียกับกิจกรรมใดๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการช่วยกันปกปิดความผิดของผู้อยู่ใต้ปกครอง เพื่อแลกกับลาภสักการะที่ผู้กระทำผิดมอบให้

ถ้าทุกหน่วยงานดำเนินการได้เยี่ยงนี้ เชื่อว่าพฤติกรรมอันไม่เหมาะไม่ควรของพระสงฆ์จะลดลง และหมดไปในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น