xs
xsm
sm
md
lg

5ปีสคร.พัฒนารัฐวิสาหกิจก้าวกระโดด สอดคล้องกับยุทธศาตร์พัฒนาประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในโอกาสที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกรมครบรอบ 5 ปี "นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” ผู้อำนวยการสคร.จึงได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ผู้จัดการรายวัน” ถึงผลงานของสคร.ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาและทิศทางการดำเนินงานในอนาคต

Q : ผลงานของสคร.ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ?

A : สคร.สามารถพัฒนารายได้ ทรัพย์สิน และกำไรของรัฐวิสาหกิจให้สูงขึ้น จากปี 2545 มีรายได้ 1.4 ล้านล้านบาท ทรัพย์สิน 4.6 ล้านล้านบาท และกำไรสุทธิ 138,000 ล้านบาท ในปี 2549 สามารถพัฒนารายได้เพิ่มเป็น 2.6 ล้านล้านบาท ทรัพย์สิน 6 ล้านล้านบาท และกำไรสุทธิเพิ่มเป็น 227,000 ล้านบาท นอกจากนี้ในด้านของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) เพิ่มขึ้นจากปี 2545 อยู่ที่ระดับ 2.20% เป็น 3.70% ในปี 2549

ด้านการบริหาร ภายหลังจากสคร.ได้จัดทำคู่มือแนวทางการกำกับดูแลที่ดี คู่มือกรรมการตรวจสอบ และคู่มือตรวจสอบภายใน ซึ่งเป็นแนวทางให้กับรัฐวิสาหกิจในการปฏิบัติงาน ทำให้รัฐวิสาหกิจมีระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานการกำกับดูแลที่ดีเช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียน

ส่วนด้านการวางระบบและระเบียบต่างๆประกอบด้วย การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาใช้ การติดตั้งระบบ GFMIS-SOE ให้กับรัฐวิสาหกิจ เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ ตัดสินใจ และวางแผนองค์กร รวมทั้งเป็นระบบที่ให้หน่วยงานรัฐที่ต้องการข้อมูลจากรัฐวิสาหกิจได้ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลเดียวกัน และติดตามการดำเนินงานด้านการเงินของรัฐวิสาหกิจได้

Q : ทิศทางของการดำเนินงานในระยะต่อไป ?

A : สคร. ได้วางยุทธศาสตร์ในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ และกลยุทธ์การสร้างมูลค่าเพิ่มแบบก้าวกระโดด โดยจะเน้นใน 3 ส่วนคือ ด้านกรรมการรัฐวิสาหกิจ การจัดทำบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจและถ่ายทอดนโยบายที่ชัดเจนต่อกรรมการอย่างใกล้ชิด และสร้างความต่อเนื่องของการดำรงตำแหน่งของกรรมการ เพื่อให้การพัฒนารัฐวิสาหกิจเป็นไปตามทิศทางที่ได้วางไว้

ด้านรัฐวิสาหกิจ จากในปี 2550 ที่ผ่านมาจนถึง 5 ปีข้างหน้า สคร. ได้ร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจ กระทรวงเจ้าสังกัด และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการกำหนดแนวนโยบายการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

และด้านการพัฒนาองค์กร สคร. การพัฒนาทั้งสภาพแวดล้อมการทำงานให้เทียบเคียงเอกชน การพัฒนาข้าราชการและบุคลากร สคร. ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลรัฐวิสาหกิจและทรัพย์สินของรัฐ ตลอดจนมุ่งหวังให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ และปรับบทบาทใหม่ให้เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเชิงรุกร่วมกับรัฐวิสาหกิจ

Q : นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 50

A : ในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่ากิจการใดที่ภาคเอกชนทำได้รัฐบาลก็จะไม่ทำรวมถึงเรื่องของโครงข่ายผูกขาดให้รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ไม่เกิน 49% ตอนนี้เราพูดถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหากจะมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ใดๆ ที่มีลักษณะผูกขาดจะต้องตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาดูแลควบคุมร่างขึ้นเป็นกฎหมาย เช่น รัฐวิสาหกิจสาขาพลังงานจะต้องออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบกิจการพลังงาน มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลและแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนที่ชัดเจน สาขาขนส่งจะมีพ.ร.บ.บริหารการขนส่ง จัดตั้งองค์กรกำกับดูแลด้านขนส่งและเป็นโอกาสให้เอกชนลงทุนได้อย่างชัดเจน เป็นต้น

Q : แผนงานที่เตรียมไว้สำหรับรัฐบาลชุดต่อไป

A : สิ่งที่เราเตรียมไว้คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้าเพราะฉะนั้นรัฐบาลไหนจะมาก็ตามมันคือสิ่งที่ต้องเดินหน้าทำ คนและรถเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลาหากไม่มีระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพทุกอย่างจะแย่ ระบบลอจิสติกส์ก็สำคัญหากไม่มีระบบรถไฟรางคู่และการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้เชื่อมโยงทั้งภูมิภาคประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศก็จะลดลง อีกทั้งการขนส่งสินค้าทางรถมีต้นทุนการขนส่งที่สูงกว่าทางรางถึง 5 เท่าตัวหากไม่เร่งดำเนินการประสิทธิภาพในการแข่งขันจะสู้คู่แข่งไม่ได้อย่างแน่นอน

โดยในขณะนี้ภาพรวมทั้งประเทศใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันสูงถึง 38% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดหากสามารถพัฒนาระบบรางได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะลดการใช้น้ำมันได้เหลือเพียง 30% จึงจำเป็นต้องสร้างขนส่งระบบรางและทางท่อ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจมันมากแต่ไม่อยากนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนก็ต้องหาวิธีอื่นแต่คงสู้วิธีนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่

Q : การบริหารรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน

A : ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนประมาณ 7-8 แห่ง ตอนนี้เราแก้ไขปัญหายุบเลิกรัฐวิสาหกิจที่เอกชนทำได้ คือองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์(ร.ส.พ.) องค์การฟอกหนัง องค์การแบตเตอรี่ ทำสำเร็จแล้ว ส่วนที่ขาดทุนใหญ่คือการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และองค์การขนส่งมวลขนกรุงเทพ(ขสมก.) กำลังแก้ไขโดยใช้ระเบียบการให้เงินอุดหนุนสาธารณะหรือ PSO ในเชิงนโยบายสังคม โดยภาพใหญ่แล้วหากแก้ไขเสร็จแล้วจะไม่มีการขาดทุนเกิดขึ้น

โดยในส่วนของรถเมล์ที่จะเปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวีทั้งหมดก็จะนำ PSO เข้ามาอุดหนุน ทำให้ต่อไปนี้ภาพของ ขสมก.จะเปลี่ยนไป ในขณะที่การรถไฟเป็นหน้าที่ที่การรถไฟจะต้องวางหน้าที่ จัดระบบของการบริหารจัดการภายใน ซึ่งภาครัฐเองจะรับในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานอะไรที่ให้บริการต่ำกว่าต้นทุนภาครัฐจะเป็นผู้รับภาระอยู่ที่ฝ่ายบริหารของเขา จะเห็นได้ว่าบอร์ดการรถไฟชุดนี้มีความเข้มแข็งดีแล้วหากอยู่ต่อไปได้นานน่าจะเห็นภาพของการรถไฟดีขึ้น

Q : โครงสร้างเงินเดือนของรัฐวิสาหกิจเหมาะสมหรือยัง ?

A : มีการสำรวจระหว่างรัฐวิสาหกิจกับภาคเอกชนในแง่โครงสร้างเงินเดือนจะแบ่งรัฐวิสาหกิจออกเป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มที่มีขั้นเงินเดือน 58 ขั้น 2.กลุ่มที่มีอิสระในการปรับขึ้นเงินเดือนเพราะอยู่ในภาคธุรกิจที่มีการแข่งขัน 3.เป็นกลุ่มที่มีการแข่งขั้นแต่ต้องมีการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยเฉลี่ยแล้วเงินเดือนตั้งแต่ระดับล่างถึงระดับกลางสูงกว่าเอกชน และในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาแม้ว่ารายได้และกำไรเพิ่มขึ้นแต่ผลตอบแทนของสินทรัพย์ลดลงเพราะค่าน้ำมันและการปรับขึ้นเงินเดือนของกลุ่ม 58 ขั้น

การตัดสินใจขึ้นเงินเดือนฝ่ายบริหารต้องมีหน้าที่ดูแลค่าใช้จ่ายส่วนนี้ พยายามลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นหรือเพิ่มรายได้และประสิทธิภาพทดแทนถ้าไม่ทำก็จะกลายเป็นภาระของประชาชน เพราะรัฐวิสาหกิจทั้งหลายเป็นสิ่งผูกขาดคนที่จ่ายก็คือประชาชน หากขึ้นเงินเดือน 4% ประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจก็จะต้องเพิ่ม 4% หรือมากกว่าเช่นกันจะมีการประเมินผลตรงนี้เพราะเงินเดือนไม่ได้ต่ำกว่าเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น