xs
xsm
sm
md
lg

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

สถาบันพระปกเกล้าเพิ่งจัดพิมพ์หนังสือ “พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับแรก พ.ศ. 2427” เขียนโดย ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา และคณะ

เป็นที่น่ายินดีว่าได้มีการจัดพิมพ์คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน รศ. 103 ขึ้นอีก เอกสารฉบับนี้มีความสำคัญเพราะเป็นการถวายความเห็นเกี่ยวกับการจัดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเพื่อรับกับภัยจากอาณานิคม เจ้านายและข้าราชการได้วิเคราะห์ทางเลือกไว้หลายทาง และลงความเห็นว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการจัดให้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญ

หนังสือที่สถาบันพระปกเกล้าจัดพิมพ์ขึ้นมีการนำพระประวัติของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์มาสรุปไว้ย่อๆ และยังไม่ได้ตอบคำถามสำคัญคือสาเหตุที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ต้องไปบวชที่ลังกา

ในจำนวนเจ้านายที่ร่วมกันถวายความเห็นนั้น มีพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เพียงองค์เดียวที่ไม่ได้เป็นพระโอรสในรัชกาลที่ 4 มีข้อสงสัยว่าในที่สุดอาจมีการซัดทอดว่าทั้งหมดนี้เป็นแผนการของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์แล้วไปชักชวนให้ผู้อื่นร่วมลงรายชื่อด้วย การเข้าชื่อกันถวายความเห็นถือว่าไม่เป็นการเหมาะสม เข้าทำนองการเรียกร้อง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เองทรงบันทึกไว้ว่า พระองค์พลาดไป! เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถามความเห็นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เพียงคนเดียว จึงไม่ควรไปให้คนอื่นร่วมลงชื่อด้วย

เรื่องราวของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกัน แต่พระองค์ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญตั้งแต่ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นผู้ร่วมขบวนการ “สยามหนุ่ม” ด้วย

น่าเสียดายที่ผู้เขียนนำประวัติของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์มาประกอบการเขียนน้อยเกินไป อาจกล่าวได้ว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นคนแรกๆ ที่เขียนอัตชีวประวัติซึ่งมีด้วยกัน 3 เล่ม แต่มีการพิมพ์เผยแพร่เพียงหนึ่งเล่ม ต้นฉบับเข้าใจว่าจะเก็บไว้ในเจดีย์ที่ลังกา

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ รวมแล้วถึง 34 ปี โดยได้ทรงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ได้รับรางวัลการเรียนดีหลายรางวัล เมื่อทรงเป็นราชทูตประจำยุโรป ก็ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศมากมาย โดยเฉพาะการเข้าเป็นสมาชิกของไปรษณีย์สากล

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เริ่มชะตาตกหลังจากที่ได้กราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ในพระประวัติได้ทรงแต่งโคลงแสดงความคับแค้นพระหฤทัยเรื่องเพื่อนว่าถูก “ฝูง” เพื่อนลอบถีบหกขะเมนทั้งยืนโดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ดี ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนใกล้ชิดก็ได้มีจดหมายขอโทษไปถึงพระองค์ท่านภายหลังที่ได้ทรงผนวชที่ศรีลังกาแล้ว

เจ้านายและข้าราชการที่อยู่ในยุโรปเห็นว่า ควรเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบกิจการบ้านเมือง

ภายหลังการถวายความเห็น แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้มีรัฐธรรมนูญ แต่ก็ได้มีการปรับปรุงระบบเสนาบดี มีการตั้งเสนาบดีตามกระทรวงที่มีการปฏิรูประบบราชการ แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินพระบรมราโชบายในการเปลี่ยนแปลงประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป และทรงเน้นไปที่การปฏิรูประบบราชการมากกว่าการปฏิรูประบบการเมือง

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2427 ซึ่งเป็นปีที่เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลถวายความเห็นเป็นต้นมา ก็ได้มีแนวความคิดที่จะให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรื่องราวของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีความสำคัญต่อประวัติการเมืองไทย โดยเฉพาะการวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจกับความสำเร็จ และความล้มเหลวของระบอบรัฐธรรมนูญไทย ปัญหามีอยู่ว่าการเปลี่ยนแปลงโดยสันติแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองด้วยการยึดอำนาจให้ผลต่างกันอย่างไร

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก็คือ คณะราษฎรไม่ใช่คนไทยกลุ่มแรกที่ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญ ความคิดที่ให้มีรัฐธรรมนูญมีมาก่อน พ.ศ. 2475 นานถึง 50 กว่าปี มีข้อคิดว่าการปฏิรูปทางการเมืองของไทยเราล่าช้ามาก ด้วยเหตุผลหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาที่คาดว่าจะมาจากการเลือกตั้งและพรรคการเมือง เมื่อ 100 ปีที่แล้ว หากจะมีพรรคการเมืองกลุ่มพ่อค้าชาวจีนซึ่งเป็นผู้มีทุนก็จะสามารถเข้ามามีบทบาททางการเมืองไทย เราได้กีดกันพ่อค้าเชื้อสายจีนไม่ให้เข้ามามีบทบาททางการเมืองไว้นาน ในปัจจุบันการเมืองไทยตกอยู่ในมือพ่อค้าเชื้อสายจีนเต็มรูปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น