xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้กระแสเงินทุนผันผวนหนัก เตือนรัฐบาลใหม่รับมือ-สร้างภูมิคุ้มกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ผู้ว่าการแบงก์ชาติชี้เศรษฐกิจยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการเคลื่อนย้ายกระแสเงินทุนที่รุนแรง จากปัญหาขาดดุลแฝดและปัญหาซับไพร์มในตลาดสหรัฐฯ ระบุแม้ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองจะลดลง แต่รัฐบาลใหม่ยังมีโจทย์ใหญ่ที่จะต้องนำพาเศรษฐกิจฝ่ากระแสโลกาภิวัฒน์ไปได้อย่างมั่นคง และหาแนวทางรับมือกับความผันผวนของกระแสเงินทุน ออกตัวที่ผ่านมาแบงก์ชาติพยายามทำอย่างดีที่สุดแล้วในการปกป้องเสถียรภาพของระบบการเงิน พร้อมเสริมสร้างประสิทธิภาพของกลไกตลาดไปสู่ระบบที่มีความมั่นคง และยืดหยุ่นพอที่จะรองรับความผันผวนที่มากขึ้น

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวในการเปิดสัมมนาวิชาการประจำปี 2550 ของธปท.เรื่อง"การบริหารความเสี่ยงทางการเงินในทศวรรษหน้า"ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่างๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันอันอาจจะมาจากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่สูงขึ้นและข้อจำกัดด้านอุปทานของน้ำมัน และการตกลงอย่างรวดเร็วและแรงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากปัญหา twin deficits และปัญหา sub-prime ในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลกอย่างรุนแรง แม้ว่าอาจจะเป็นเพียงระยะสั้นๆหากการแก้ไขที่เกิดขึ้นสามารถสร้างความเชื่อมั่นกลับมาได้โดยเร็ว

ขณะที่ปัญหาภายในประเทศไทยเองนั้น ด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ลดลงจากการมีรัฐธรรมนูญใหม่ และการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ก็ยังคงต้องเผชิญกับทั้งกระแสเงินทุนจากต่างประเทศที่ผันผวนมากขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายที่รัฐบาลชุดต่อไปจะต้องนำพาเศรษฐกิจฝ่ากระแสโลกาภิวัฒน์ได้อย่างมั่นคงและมีภูมิคุ้มกัน

ด้านความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อนั้น แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและได้ทำลายสถิติสูงสุดไปแล้วหลายครั้ง แต่จากการเข้ามาบทบาทมากขึ้นของประเทศที่มีค่าแรงและวัตถุดิบราคาถูก รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ได้มีส่วนสำคัญทำให้ต้นทุนสินค้าอุตสาหกรรมและบริการกลับลดลงหรือเพิ่มขึ้นไม่มาก ประกอบกับในช่วงหลังวิกฤตการณ์การเงินเป็นต้นมาธนาคารกลางหลายประเทศในโลกมีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงินและให้ความสำคัญกับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อมากขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของโลกกลับอยู่ในระดับต่ำ เฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.7 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง และทำให้การส่งออกของโลกขยายตัวสูง

อย่างไรก็ดี นับจากวิฤตการณ์ทางการเงินเป็นต้นมา หลายประเทศยังมีการลงทุนในระดับต่ำ ส่งผลให้มีการนำเข้าไม่ได้ขยายตัวมากนัก ขณะที่การส่งออกยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันก็มีรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาล ทำให้สภาพคล่องทางการเงินในโลกมีปริมาณมาก ทั้งเอกชนและภาครัฐในประเทศต่างๆทั่วโลกจึงต้องแสวงหาช่องทางการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งการใช้จ่ายบลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ เพื่อสวัสดิการของประชาชนและผู้สูงอายุ ตลอดจนเพื่อการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ทุกประเทศกำลังให้ความสำคัญมากขึ้น

"ระยะทางในโลกปัจจุบันมีความหมายน้อยลง ทุกวันนี้เราสามารถรับรู้ถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆของโลกได้อย่างรวดเร็วตลอดเวลา ความเชื่อมโยงทางการค้ามีมานานแล้วอย่างต่อเนื่อง ความเชื่อโยงทางการเงินก็มีมากขึ้นเช่นกัน และยังขยายวงกว้างและมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในมุมหนึ่งของโลกแม้จะไม่ได้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือการเงินโดยตรงของประเทศในอีกมุมหนึ่ง แต่ก็สามารถส่งผลบกระทบไปถึง โดยผ่านช่องทางของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นราคาเปรียบเทียบของเงินสกุลหนึ่งกับอีกสกุลหนึ่ง เมื่อมีความต้องการถือเงินสกุลใดหรือตราสารการเงินใด ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร หรืออนุพันธ์ต่างๆ ราคาสิ่งเหล่านั้นก็เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากในปีนี้ราคาหุ้นในหลายประเทศ ราคาน้ำมัน และราคาทองคำ ได้สูงเป็นประวัติการณ์ไปแล้ว"นางธาริษากล่าว

ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า จากสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เศรษฐกิจไทยจะต้องสามารถรับมือกับความเสี่ยงทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศดังกล่าว โดยต้องเริ่มจากการตระหนักถึงปัญหาการศึกษาวิเคราะห์ถึงความเปราะบางของโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของตลาดเงินและตลาดทุน ปัญหาของภาคธนาคาร ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน รวมไปถึงภาระด้านการคลังที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม

นอกจากนั้น ยังต้องมีการเตรียมความพร้อมของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านเครื่องมือทางการเงินและแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต่างๆอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยง และความผันผวนต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางและระยะยาว

สำหรับในกรอบของนโยบายการเงินและระบบการเงิน ธปท.ได้พยายามอย่างดีที่สุดในการที่จะรักษาสมดุลระหว่างการเสริมสร้างประสิทธิภาพของกลไกตลาด กับการปกป้องเสถียรภาพของระบบการเงินในกรณีที่กลไกของตลาดเองไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลเท่าที่ควร ทั้งนี้เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศสามารถผ่านพ้นภาวะแห่งความผันผวน ที่ดูเหมือนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นพิเศษในระยะที่ผ่านมานี้จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไปสู่ระบบที่มีความมั่นคง ยั่งยืน และยืดหยุ่นในการรองรับความผันผวนต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้นได้

"แบงก์ชาติเองได้พยายามดูแลระบบการเงินและเศรษฐกิจให้มีความยืดหยุ่น ทนแดดทนฝน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการเปิดเสรีเงินทุนในอนาคต เพราะหากประเทศไทยไม่พร้อม จะทำให้เกิดวิกฤติการเงินในระยะต่อไปได้"ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า

นางธาริษากล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการกันสำรอง 30%นั้น ธปท.ยืนยันว่าเป็นมาตรการชั่วคราว แต่ธปท.จะต้องหามาตรการอื่นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนในระยะข้างหน้าก่อนว่า ควรจะมีอะไรบ้างซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่กำลังพิจารณาอยู่ ดังนั้น จึงยังต้องดำรงมาตรการดังกล่าวไว้ก่อน เพราะในระยะสั้นหากมีปริมาณเงินทุนเข้ามามากจนกระทั่งบิดเบือนจะต้องมีมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ไว้ดูแล
กำลังโหลดความคิดเห็น