xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอย ‘สนธิ’ (3) - หนึ่งปีหลังรัฐประหาร

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

คณะของเราเดินทางถึงสนามบิน Dulles กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ตั้งแต่เช้าตรู่ ลุงธัช-ป้าติ๋ว (ธัชพงศ์-จารุณี จันทรปรรณิก) อาบรรจบ (บรรจบ เจริญชลวานิช) และคณะมารออยู่แล้วที่บริเวณสายพานรับกระเป๋าเดินทาง

หลังจากรับกระเป๋าบางส่วนที่มากับเครื่อง UA 214 และดำเนินการแจ้งเรื่องกระเป๋าตกค้างให้กับทางเจ้าหน้าที่ของสายการบินยูไนเต็ดเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็ออกเดินทางไปยังโรงแรมในเมืองเล็กๆ ที่อยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย ใกล้ๆ กับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ชื่อเมืองเรสตัน สถานที่จัดรายการยามเฝ้าแผ่นดินสัญจรฯ จุดแรกของการเดินทางมาสหรัฐอเมริกาเที่ยวนี้

เรสตัน (Reston) เป็นเมืองใหม่ขนาดเล็กที่อยู่ทางทิศตะวันตกของแฟร์แฟกซ์ รัฐเวอร์จิเนีย เมืองเรสตันถูกสร้างให้เป็นชุมชนใหม่ในแถบชานเมือง ตามแนวคิด New Urbanism ที่สร้างเมืองโดยเน้นให้มีบาทวิถีเยอะๆ เพื่อให้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนสามารถเดินเท้าหรือขี่จักรยานไปทำงาน พักผ่อน ทำธุระตามจุดต่างๆ ของชุมชนได้โดยไม่ต้องอาศัยรถยนต์ ...

แน่นอนว่าเมืองใหม่ที่มีการวางผังเมืองอย่างยอดเยี่ยมเช่นนี้ ค่าครองชีพย่อมสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วยคือสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของเมืองอื่นๆ ในอเมริการาว 1 ใน 3 ขณะที่ตัวเลขประชากรของเรสตันนั้นก็ค่อนข้างน้อยนิดคืออยู่ที่ราว 60,000 คนเท่านั้น (ตัวเลขปี 2550)

การเดินทางมายังวอชิงตัน ดี.ซี.ครั้งนี้ของผมถือว่าเป็นครั้งที่สอง เพราะเมื่อเดือนตุลาคมปี 2549 หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายนไม่นานนัก ผมเคยติดตามคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เพื่อเดินทางมาปราศรัยที่นี่แล้วครั้งหนึ่ง ...

ต้นเดือนตุลาคม 2549 หลังจากที่คุณสนธิซึ่งได้รับเชิญจากวิทยาลัยบูรพศึกษาและแอฟริกาศึกษา (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษให้ไปอภิปรายร่วมกับ อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.นครราชสีมาในหัวข้อ ‘Thailand under CEO Thaksin’ ที่ประเทศอังกฤษเสร็จสิ้น วันรุ่งขึ้นคุณสนธิก็บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมายังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และมหานครนิวยอร์กตามคำเชื้อเชิญของพันธมิตรฯ ชาวไทย ทันที

ครั้งนั้น ด้วยความเร่งด่วนจึงมีผมเดินทางร่วมกับคุณสนธิเพียงสองคน ...

จำได้ว่าเมื่อปีที่แล้วด้วยความฉุกละหุก ทำให้เรามีเวลาอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ไม่ถึงหนึ่งวันดี ขณะที่งานปราศรัยก็ถูกจัดขึ้นอย่างรีบเร่ง ภายใต้การประสานงานและความร่วมมืออย่างเยี่ยมยอดของเหล่าคนไทยในแถบวอชิงตัน ดี.ซี., แมรีแลนด์, เวอร์จิเนีย และพื้นที่ใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม แม้งานจะจัดขึ้นโดยมีระยะเวลาในการเตรียมการที่กระชั้นชิดยิ่งแต่การปราศรัยที่จัดขึ้น ณ ELKS LODGE (Arlington Blvd., Fairfax, VA) ก็ประสบความสำเร็จอย่างดีโดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 400 คน นอกจากนี้ยังมีชาวอเมริกันรวมถึงสื่อมวลชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น ผู้อำนวยการจากสถาบัน National Endowment for Democracy (NED) แผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขอสัมภาษณ์คุณสนธิ เกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศไทยก่อนเริ่มงานเป็นเวลา 15 นาทีและ สถานีวิทยุ Voice Of America (VOA) ที่ขอสัมภาษณ์พิเศษคุณสนธิหลังการปราศรัยจบลง

เช่นเดียวกับการบรรยาย-ปราศรัย ณ ที่อื่นๆ ... หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คุณสนธิ กล่าวย้ำอยู่บ่อยครั้งว่า การแก้ไขปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยให้ถึงแก่นของปัญหา เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกอยู่ในวังวนของการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า-รัฐประหารทุก 15 ปีนั้นมิใช่สามารถทำได้สำเร็จด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ หรือการล้มกระดานแล้วเลือกตั้งใหม่ แต่อยู่ที่สองปัจจัยหลัก คือ หนึ่ง การปฏิรูปให้สื่อสารมวลชนมีอิสรภาพในการแสดงออกและให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทันทีในระยะสั้น และ สอง การปฏิรูปทางการศึกษา การให้ความรู้ทางการเมืองกับประชาชนที่ต้องดำเนินการกันในระยะยาว

นับจากวันนั้นถึงวันนี้ การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549ได้ล่วงเลยไปแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม แต่พวกเราก็ยังคงไม่เห็นวี่แววของการปฏิรูปสื่อสารมวลชน หรือ การปฏิรูปการศึกษาแต่อย่างใด ...

ณ วันนี้สื่อโทรทัศน์ทั้งหลาย ก็ยังคงความเป็นสื่อสารมวลชนในเชิงพาณิชย์ที่ไม่แยแสต่อวิกฤตการณ์ของบ้านของเมือง ส่วนสื่อวิทยุทั้งหลายก็ยังคงเป็นสื่อในความควบคุมอย่างเข้มงวดของภาครัฐ และดูเหมือนจะมีสื่อหนังสือพิมพ์เพียงบางส่วนเท่านั้นที่กล้าพูดและกล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น

ถามว่าทุกวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเสพสื่อประเภทใดมากที่สุด?

ในส่วนของการปฏิรูปการศึกษาก็ดูเหมือนจะไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน แถมยังถูกผลักให้ถอยหลังไปอีกภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีและนายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ การที่รัฐบาลผลักดันพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ) จนผ่านการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกือบจะครบทุกมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ขณะเดียวกันแม้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะส่งผลการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเรื่อง มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ให้นายวิจิตรรับทราบถึงข้อดี-ข้อเสีย ทั้งระบุถึงเสียงส่วนใหญ่ของบุคลากรที่ส่งเสียงคัดค้านการนำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่ รมว.ศึกษาธิการกลับนำผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไปซุกเอาไว้เงียบๆ คนเดียว

ถามว่าทุกวันนี้คุณภาพทางการศึกษาของเยาวชนในประเทศมีการพัฒนาขึ้นหรือไม่? คนจนได้รับโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาในระดับสูงเพิ่มขึ้นหรือไม่? บุคลากรของประเทศมีคุณภาพสูงขึ้นหรือไม่? ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความรู้ความเข้าใจทางการเมืองมากขึ้นหรือไม่?

ในส่วนของจุดมุ่งหมายของการรัฐประหาร ...

วันที่ 9 ตุลาคม 2549 ที่ ELKS LODGE คุณสนธิกล่าวเอาไว้ว่า “ผมไม่อยากเห็นทหารปฏิวัติเพียงเพราะว่าเขา (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) จะปลดตัวเองให้พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แต่จุดประสงค์ของการปฏิวัติของทหารคือ การปฏิวัติเพื่อทำให้การเมืองดีขึ้น ปฏิวัติเพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ ...”

ถามว่า ณ วันนี้เพราะเหตุใด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้นำการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเพื่อไปรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์?

ถามว่า ณ วันนี้ ที่เวลาหนึ่งปีหลังการรัฐประหารล่วงเลยไปแล้วการเมืองไทยดีขึ้นหรือไม่? ประเทศชาติยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะกลับเข้าสู่วัฏจักรของการเมืองแบบเดิมๆ วัฏจักรของการซื้อเสียงเลือกตั้ง วัฏจักรของประชาธิปไตยแบบ 4 วินาที หรือไม่?

ใช่หรือไม่ว่าเพราะความเห็นแก่ตัวของ ‘ทหารและชนชั้นนำ’ บางคน-บางกลุ่ม ได้ทำให้ ‘การรัฐประหาร’19 กันยายน 2549 และห้วงเวลาหนึ่งปีหลังจากนั้น กลายเป็นการลงทุนอันสูญเปล่าของประเทศชาติและประชาชนในการดำเนินการปฏิรูปเพื่อทำให้การเมืองดีขึ้น ซ้ำร้ายยังเป็นการเสียโอกาสที่ดีที่สุดในการธำรงรักษาเอาไว้เพื่อสถาบันอันเป็นที่เคารพและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
กำลังโหลดความคิดเห็น