xs
xsm
sm
md
lg

มุมมอง นักบริหารหนี้:ชวนประหยัด ชวนออม กับ "วันออมแห่งชาติ"(31 ตุลาคม ของทุกปี)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สังคมไทยที่เคยอยู่แบบพอเพียง หรือเพียงพอ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว วิวัฒนาการ มาเป็น ในน้ำต้องเลี้ยงปลา ในนาต้องปลูกข้าว เหลือก็ขาย หรือ ออมไว้ ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมบริโภคนิยมจากตะวันตกมาฝังรากลึกในสังคมไทย ในเมืองเต็มไปด้วยรถ ในชนบทติมเต็มไปด้วยหนี้ โดยภาคครัวเรือนมีหนี้โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 60 ของรายได้ ซึ่งหมายความว่า จะมีเงินเหลือหลังหักหนี้แล้ว 40 บาท หากไม่พอกับการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ก็ต้องกู้หนี้ ยืมสินต่อไป

จากข้อมูลการออมของทางการพบว่า ในปี 2542 การออมของประเทศไทย มี 1,398 ล้านบาท และได้เพิ่มขึ้นเพียง 750 ล้านบาทในช่วง 6 ปี เป็น 2418 ล้านบาทในปี 2548 หรือเพิ่มจากร้อยละ 30.1 ของ GDP เป็นเพียงร้อยละ 30.3 ของ GDP ในปี 2548 และที่น่าสังเกต และ น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือ การออมภาคครัวเรือนต่อ GDP ที่ลดลงอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 9.1 ในปี 2542 เหลือเพียง ร้อยละ 4.9 ในปี 2548

ผลการออมดังกล่าว ได้ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างเงินอมและเงินลงทุนต่อ GDP ติดลบเป็นครั้งแรกในปี 2548 ในรอบหลายปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ช่องว่างของเงินออมต่อ GDP ได้ลดลงจากที่เคยเป็นบวกถึง ร้อยละ 9.6 มาติดลบ ร้อยละ 1.2 (-1.2) ในปี 2548

แสดงว่า เงินออมที่มีอยู่ ไม่เพียงพอต่อการลงทุน ซึ่งหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นว่าการรณรงค์ ส่งเสริมการออมทรัพย์ในระยะที่ผ่านมาล้มเหลว

ที่จริงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงิน ปี 2540 ทางการเคยให้ความสำคัญการรณรงค์ส่งเสริมการออมทรัพย์มาแล้ว แต่ก็ไม่มีเจ้าภาพทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

กล่าวคือ ในวันที่ 24 ตุลาคม 2541 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันออมแห่งชาติ” เพื่อสร้างวินัยในการใช้จ่าย เก็บออม และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งได้ประกาศไว้ในราชกิจจาเรียบร้อยแล้ว

เหตุผลการเลือกวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันออมแห่งชาติ มีดังนี้

(1) ตรงกับวันแห่งการประหยัดและออมของโลกที่ถือปฏิบัติเป็นสากล

(2) ไม่ตรงกับวันสำคัญอื่น ทำให้ไม่เป็นการลดความสำคัญของวันที่มีอยู่เดิม

(3) เป็นเดือนแรกที่มีการใช้จ่ายตามงบประมาณของราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ

(4) เป็นช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวพืชผล เช่น ข้าวโพด ถั่วต่าง ๆ ของเกษตรกรชาวไร่ และของชาวนาในช่วงปลายปี โดยจะนำผลผลิตออกจำหน่าย ก่อให้เกิดรายได้ ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้รู้จักประหยัดและเก็บออม

(5)เป็นเดือนที่ต้องเตรียมวางแผนเพื่อใช้จ่ายในเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันลอยกระทง วันคริสต์มาส วันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น

(6) เป็นวันสิ้นเดือนจึงเหมาะสมกับการเตรียมการวางแผนชีวิตและการใช้จ่าย

(7) เป็นช่วงที่นักเรียน นักศึกษา เปิดเทอมภาคสอง ทั้งบิดามารดา นักเรียน นักศึกษาต้องวางแผนการใช้เงินอย่างฉลาดตั้งแต่เริ่มต้นภาคเรียน

เพื่อให้การดำเนินการรณรงค์ส่งเสริมการออมอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลในสมัยนั้นได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นแกนนำ ประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมการประหยัดและการอออม ซึ่งในระยะแรกๆได้มีการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และหลังจากนั้นการรณรงค์ ได้แผ่วเบาลง จนปัจจุบัน แทบลืมไปแล้ว

ครับ น่าเสียดายสิ่งดีดี ที่จะยังประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง แม้ การออม การประหยัด จะเป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของปรัชญา เศรษฐกิจ พอเพียง ก็ยังไม่มีใคร อาสามาดูแลเรื่องนี้อย่างเป็นรูป ธรรมและต่อเนื่อง คงต้องรอ วิกฤต อีกครั้งกระมัง!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น