xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวพ.ร.บ.แบงก์ชาติ ยื้ออำนาจแต่งตั้ง-ถอดถอนผู้ว่าธปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-ครม.ไฟเขียวกฎหมายแบงก์ชาติเตรียมส่งสนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ยังคงรักษาอำนาจแต่งตั้ง-ถอดถอนผู้ว่าธปท.ไว้ที่ครม.เช่นเดิมแต่ให้อิสระในการบริหารจัดการธปท.เต็มที่ พร้อมให้ผู้ว่าธปท.รายงานสถานการณ์ต่อรมว.คลังทันทีหากมีสัญญาณจะเกิดผลเสียหายรุนแรงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาด้วย

นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อที่กฎหมายจะได้มีผลบังคับใช้ต่อไป

โดยพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีสาระสำคัญดังนี้ 1.พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการ ธปท. โดยคำแนะนำของครม.โดยผู้ว่าการ ธปท. ต้องมีความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงิน การธนาคาร นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท. จะมีอิสระในการบริหารจัดการกิจการของ ธปท.

2.กำหนดให้ผู้ว่าการ ธปท. พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ในกรณีที่ครม.มีมติให้ออก เนื่องจากมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง โดยไม่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถอดถอนแต่อย่างใด 3.ตัดหลักการที่กำหนดให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ ธปท. ในกรณีที่ ธปท. มีเงินสำรองธรรมดาไม่เพียงพอชดเชยผลการขาดทุน เนื่องจากกระทรวงการคลังจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ ธปท. เป็นรายกรณีไปตามความเหมาะสม จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดบังคับไว้ในกฎหมาย

4.ให้ ธปท. มีอำนาจเฉพาะการบริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท. โดยไม่รวมการบริหารจัดการทุนสำรองเงินตรา ทั้งนี้ ได้กำหนดกรอบในการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด ซึ่งอาจแตกต่างจากการบริหารสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราก็ได้

5.ป้องกันการมีส่วนได้ส่วนเสียของผู้ปฏิบัติหน้าที่ โดยกำหนดห้ามมิให้ผู้ว่าการ ธปท. กรรมการ พนักงานและลูกจ้างธปท. กระทำการใด ๆ อันก่อให้เกิดการขัดหรือแย้งระหว่างผลประโยชน์ของตน และผลประโยชน์ของ ธปท. หรือขัด หรือแย้ง กับการปฏิบัติหน้าที่ของตน และในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานหรือลูกจ้าง ธปท. ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสียในเรื่องที่ตนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิจารณาต่อผู้ว่าการ ธปท. คณะกรรมการ ธปท. คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน หรือ คณะกรรมการระบบการชำระเงิน แล้วแต่กรณี นอกจากนี้ พนักงานและลูกจ้าง ธปท. ต้องไม่ดำรงตำแหน่ง รับจ้าง หรือรับทำการงานใด ๆ ในสถาบันการเงิน เว้นแต่เป็นไปตามข้อบังคับที่ ธปท. กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ธปท.

6.เพื่อประโยชน์ในการป้องกันหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทางการเงินหรือของระบบสถาบันการเงิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาจให้ ธปท. รายงานข้อเท็จจริง วิเคราะห์ปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาก็ได้

7.ให้ ธปท. อาจกำหนดให้สถาบันการเงินดำรงเงินฝากไว้ที่ ธปท. นอกจากการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสถาบันการเงินที่กำหนดตามกฎหมายอื่น ทั้งนี้ ธปท. ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากดังกล่าวด้วย 8.เพิ่มการอ้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

9.รวมบัญชีสำรองจากการปรับอัตราแลกเปลี่ยนและบัญชีสำรองจากการตีราคา เป็นเงินสำรองอันเกิดจากตีราคาสินทรัพย์และหนี้สิน 10.ตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับบทบาทกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ภายหลังที่ได้มีการจัดตั้งและเปิดดำเนินการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

11.กำหนดให้ผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง 4 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการ ธปท. คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน เพื่อควบคุมดูแลการดำเนินนโยบายของธปท. 12.กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินและคณะกรรมการระบบการชำระเงิน รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ ธปท. 13.ลดสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการระบบการชำระเงิน และกำหนดให้ประธานสมาคมธนาคารไทยเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

14.กำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือก 7 คน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้ง ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ เพื่อทำการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการทั้ง 4 คณะ ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อดำเนินการคัดเลือกกรรมกรผู้ทรงคุณวุฒิเสร็จสิ้น

15.กำหนดให้ผู้ว่าการ ธปท. เป็นผู้เสนอรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามกฎหมาย เพื่อเสนอคณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคัดเลือกและเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแต่งตั้ง 16.เพิ่มคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยต้องไม่เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวกับกิจการของ ธปท.ทั้งนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการเงินต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคารด้วย

17.กำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามข้อเสนอแนะของผู้ว่าการ ธปท. มีคำสั่งให้ออกเนื่องจากมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

18.กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการ ธปท. อาจมีการหารือร่วมกันเป็นครั้งคราว ตามความเหมาะสมก็ได้ ทั้งนี้ ให้ ธปท. จัดทำรายงานสภาพเศรษฐกิจและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยต้องวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 19.ให้คณะกรรมการ ธปท. อาจกำหนดหลักการบัญชีที่แตกต่างจากหลักการบัญชีทั่วไปได้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของธนาคารกลางอื่นโดยทั่วไป
กำลังโหลดความคิดเห็น