xs
xsm
sm
md
lg

โครงการบ้านหรรษาชะอำฉาว! ขัดกฎหมายผังเมือง-เตือนลูกค้าตรวจสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-เปิดโครงการสุดอัปยศ เจ้าของโครงการบ้านหรรษาริมชายหาดชะอำ ดันทุรังก่อสร้างโครงการคอนโดฯสูง 14 ชั้น แบบเย้ยกฎหมายของบ้านเมือง ทั้งที่กฎหมายระบุสร้างสูงไม่เกิน 6 เมตร แถมมีการรุกล้ำที่ข้างเคียงของผู้อื่นและก่อปัญหาต่อทรัพย์สิน ระบุการอ้างใบอนุญาตเดิมไม่ถูกต้อง เหตุหากจะได้รับการยกเว้นต้องมีดำเนินการก่อสร้าง เตือนลูกค้าที่ซื้อโครงการตรวจเช็คความถูกต้อง ก่อนสูญเงิน

ในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่หัวหิน-ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่มีความสวยงามของธรรมชาติ ชายทะเลที่สวยงาม เงียบสงบ ทำให้เป็นเมืองท่องเที่ยวตากอากาศที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย และมีนักลงทุนทั้งจากกรุงเทพฯและนักลงทุนท้องถิ่น ได้หันมาพัฒนาโครงการและทำตลาดในหัวหินและชะอำอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยว ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาซื้อบ้านพักตากอากาศเพิ่มขึ้น 20% โดยเฉพาะกลุ่มสแกนดิเนเวีย และผลต่อเนื่องจากการเติบโตของการลงทุน ผลักดันให้ราคาที่ดินติดชายทะเลสูงถึง 1.2 แสนบาทต่อตารางวา เพิ่มขึ้นสองเท่าจากในช่วงปี 2546-2547 ที่ราคาจะอยู่ประมาณ 40,000-50,000 บาทต่อตารางวา

ขณะเดียวกัน ได้เริ่มปรากฎมีโครงการก่อสร้างอาคารชุดหรือคอนโดฯที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่ประกาศไว้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายและกำลังสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ดำเนินการพัฒนาโครงการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

จากข้อมูลที่ได้รับ พบว่า โครงการบ้านหรรษาริมชายชายหาดชะอำ โดยมีบริษัท บางแสนรอยัลซีพาเลส จำกัด เป็นเจ้าของโครงการ สร้างคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่สูง 14 ชั้น บนเนื้อที่ 1 ไร่ ริมชายหาดบ้านบ่อ ตะลุง อำเภอชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งที่ตั้งอยู่ติดกับบ้านจินดารักษ์เข้าทาง กม.ที่ 212.5 ถนนสวนสนลอย เข้าทางเดียวกับโรงแรมสวนบวก เป็นโครงการที่สร้างผิดกฎหมาย และท้าทายต่อความถูกต้องในสังคมอย่างรุนแรง เนื่องจากการก่อสร้างอาศัยใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งผู้อื่นได้เคยขอไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 แต่ยังไม่เคยมีการดำเนินการก่อสร้างใดๆ เลย จนกระทั่งมาเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2549

อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงฉบับที่ 30 (พ.ศ. 2532) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ 2534 เป็นต้นมา กำหนดพื้นที่ในต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี กำหนดให้การก่อสร้างอาคารในระยะ 30 เมตรแรกจากด้านชายทะเล สามารถสร้างอาคารได้สูงไม่เกิน 6 เมตร อาคารแต่ละหลังมีพื้นที่ได้ไม่เกิน 75 ตารางเมตร และต้องมีพื้นที่ว่างอย่างน้อย 70%ของพื้นที่ในบริเวณนั้นทั้งหมด

และภายในระยะถัดมา คือ เลย 30 เมตรแรกจากแนวเขตด้านชายทะเล สามารถสร้างอาคารได้สูงไม่เกิน 12 เมตร โดยมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่า 50%

แต่โครงการบ้านหรรษาสร้างสูงถึง 14 ชั้น โดยความสูงรวมคร่าวๆ ประมาณ 40 เมตร ในขณะที่ตามกฎหมายสามารถสร้างได้สูงไม่เกิน 6 เมตร และ 12 เมตร ซึ่งขัดกับกฎกระทรวงอย่างแรก และกฎกระทรวงนี้ มีผลบังคับใช้มานานถึง 17 ปีแล้ว

นอกจากนี้ หากผู้ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างหรือแม้แต่ทางเทศบาลชะอำจะอ้างว่า โครงการนี้สร้างโดยอาศัยใบอนุญาตเก่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และได้ดำเนินการต่อใบอนุญาตเรื่อยมาจนปัจจุบัน ซึ่งในความเป็นจริง ผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว ที่คาดว่าต้องไม่ใช่บริษัท บางแสนรอยัลซี พาเลส จำกัด ก็ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างใดๆ ทั้งสิ้น ยังไม่มีแม้กระทั่งการวางฐานราก หรือการตอกเสาเข็ม ขณะที่บริษัท ฟ้าชวนดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด เพิ่มจะมาเริ่มต้นวางเสาเข็ม เมื่อเดือนส.ค.2549 เป็นเวลาถึง 17 ปี หลังจากวันได้รับใบอนุญาต

“การต่อใบอนุญาตอาจจะมีการผ่อนผันให้กระทำได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งการต่อใบอนุญาตที่ขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 30 ย่อมทำได้ เฉพาะกรณีที่อาคารนั้นกำลังก่อสร้างอยู่ และยังไม่แล้วเสร็จ แต่ในกรณีนี้ การต่อใบอนุญาตตั้งแต่ ครั้งที่ 2 ในปี 2535 จนถึงครั้งที่ 5 ในปี 2543 และจากการตรวจสอบของกรมโยธาธิการและผังเมือง พบความผิดปกติ อาคารนี้ยังมิได้ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งไม่ได้รับการยกเว้น ดังนั้น การก่อสร้างโครงการบ้านหรรษาจึงผิดกฎหมายอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างอุกอาจโจ่งแจ้ง นอกจากนี้ เป็นที่สังเกต แม้แต่ชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง และแบบที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว ตามวันเวลาอันเนิ่นนาน เป็นที่คาดไว้ว่า โครงการบ้านหรรษามิใช่โครงการโครงการที่เคยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเมื่อ 17 ปีที่แล้ว”

นอกจากนี้ การก่อสร้างโครงการบ้านหรรษา ดำเนินการไปอย่างรีบเร่ง และไม่ได้คุณภาพ การทำงานในเวลากลางคืนจนดึกดื่น ซึ่งผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเพื่อนบ้าน มีการตอกเสาเข็มที่ไม่ระมัดระวัง ระบบป้องกันดินพัง ในขณะก่อสร้างส่วนล่างของอาคารไม่ถูกหลักทางวิศวกรรม ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของดินในบริเวณข้างเคียง จนเกิดการทรุดตัวของถนน อาคาร และทรัพย์สินของผู้อื่น ระบบป้องกันวัสดุตกหล่น และฝุ่นละอองจากการก่อสร้างไม่มีคุณภาพเพียงพอ ทำให้มีวัสดุ เช่น ท่อนเหล็ก แผ่นสังกะสี ตกหล่นไปในบริเวณที่อยู่อาศัยของเพื่อนบ้านเกือบทุกวัน ซึ่งอาจก่ออันตรายถึงชีวิตได้

“สิ่งที่น่าเป็น คือ ลูกค้า ตรงนี้คนซื้อเขาไม่รู้เรื่องด้วย ทางออกของการลดปัญหาและไม่ทำให้ภาพรวมของตลาดอสังหาฯในโซนนี้ ได้รับผลกระทบกระเทือนไปเป็นวงกว้าง จากคนบางกลุ่ม เจ้าหน้าที่พนักงานท้องถิ่น สมควรต้องเพิกถอนใบอนุญาต และให้รื้อสิ่งปลูกสร้างที่ผิดกฎหมาย รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง สมควรได้รับการลงโทษตามกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ”

อนึ่ง ที่ดินแปลงดังกล่าว เคยเป็นของบิดานายนุกูล พรสมบูรณ์ศิริ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายกเทศมนตรีเมืองชะอำ
กำลังโหลดความคิดเห็น