xs
xsm
sm
md
lg

สทท.จี้บอร์ดททท.ลาออกรับพรบ.ฉบับใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – สทท.จี้บอร์ด ททท.ลาออกหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.การท่องเที่ยวฯฉบับใหม่ ที่เพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ระบุแม้กฏหมายไม่บังคับแต่ถือเป็นมารยาทที่ควรทำ เพื่อแสดงสปิริต เปิดโอกาสให้มีการฟอร์มทีมตั้งบอร์ดใหม่ตามโครงสร้างกฏหมายใหม่ ประธาน สทท.เผย แผนงานปีหน้า พร้อมเดินหน้าจัดมาตรฐานให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ พร้อมเปิดรับการแข่งขันเสรีในเวทีอาเซียน

นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)
เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เริ่มใช้ พ.ร.บ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ.2550 แล้วอย่างเป็นทางการ ซึ่งใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ได้มีการปรับเปลี่ยนสาระสำหรับในหลายๆเรื่องให้มีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น
โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างคณะกรรมการบริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(บอร์ด) เช่น ประธานบอร์ด ต้องมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่วนปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯเป็นกรรมการในบอร์ดโดยตำแหน่งซึ่งพ.ร.บ.ฉบับเก่า
ปลัดเป็นกรรมการในบอร์ดในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ เพราะเดิมยังไม่มีการจัดตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงไม่มีตำแหน่งนี้ในบอร์ด รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนด้านท่องเที่ยวเข้าไปเป็นกรรมการในบอร์ด รวม 3 ตำแหน่ง 1 ใน 3 คือประธาน สทท. อีก 2 คน จะมาจากการสรรหาของ สทท.ซึ่งคณะนี้ทาง สทท. ได้ตั้งคณะกรรมการสรรหา
ทั้งนี้ในพ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า เมื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการ บอร์ดเดิมที่มีอยู่จะต้องหมดวาระอย่างเป็นทางการภายใน 90 วัน นับจากประกาศใช้ ซึ่งในที่นี้เริ่มนับตั้งแต่ 15 กันยายนที่ผ่านมา รวมถึงประธานบอร์ดด้วย แต่ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า โดยมารยาท บอร์ด ททท.ชุดปัจจุบันควรจะต้องลาออก แล้วใช้เป็นบอร์ดรักษาการในช่วงที่จะต้องปรับองค์ประกอบบอร์ดทั้งหมดตามที่
พ.ร.บ.ใหม่กำหนด รวมถึงให้เวลาในการสรรหา เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ
ก็ต้องเร่งพิจารณาหาผู้ที่เหมาะสมมารับตำแหน่งประธานบอร์ดเช่นกัน
นอกจากนั้นในระหว่างนี้แม้จะมีการลาออกของบอร์ดชุดปัจจุบัน หรือไม่
ก็ไม่ควรที่จะมีการพิจารณาโครงการสำคัญๆ โดยเฉพาะโครงการที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก
และเป็นโครงการต่อเนื่อง
**เดินหน้าสร้างมาตรฐาน**
นายกงกฤช ยังกล่าวถึงแนวทางการทำงานของ สทท.ในปีหน้าว่า จะสานต่อการทำงานจากปีนี้ให้มีผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยจะให้ความสำคัณในเรื่องการจัดทำมาตรฐาน โดยจะร่วมกับ
สำนักพัฒนาการท่องเที่ยว(สพท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา,,สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม(สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำมาตรฐาน พร้อมออกใบให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร และบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาบุคคลากร เพิ่มทักษะและขีดความสามารถ เพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
“ตอนนี้หลายประเทศตื่นตัวที่จะพัฒนาขีดความสามารถบุคคลากร เพื่อรับมือการเปิดเสรีอาเซียน ซึ่งอาจจะต้องเลื่อนจากปี 2553 ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี เพราะหลายประเทศยังไม่มีความพร้อม เพราะในภูมิภาคนี้ ประเทศที่พร้อมแข่งขัน มีเพียง 2 ประเทสคือ สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ซึ่ง 2 ประเทศนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยฝึกบุคคลากรให้แก่ประเทศ เวียดนาม พม่า และกัมพูชา ดังนั้นหากประเทศไทยไม่ตื่นตัวก็จะเสียโอกาสทางการแข่งขัน ที่ผ่านมา สพท.มีการจัดทำไปบ้างส่วน เพียง 3-4 วิชาชีพ จากทั้งหมดกว่า 33 วิชาชีพด้านบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพราะขาดงบประมาณ หากสทท.เข้าไปช่วยอีกแรง จะทำให้งานรุดหน้าได้เร็วขึ้น”
โดย สทท.ได้ทำแผนงานไปเสนอต่อ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เพื่อขอรับเงินสนับสนุน โดยปี 2550 ได้รับเงินมา 15 ล้านบาท ขณะนี้ยังเหลือเงินอยู่เกือบ 10 ล้านบาท และปี 2551 ได้รับเงิน 25 ล้านบาท ทำให้ในปี 2551
สทท.จะมีเงินที่จะเดินหน้าโครงการต่างๆที่วางไว้ราว 40 ล้านบาท
“สทท.ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เราจึงนำโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดย่อม ไปขอเงินสนับสนุนจาก สสว. ซึ่งองค์กรนี้มีงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐถึงปีละ 3,000 ล้านบาท ซึ่งหากวงเงินที่ สทท.ได้ไว้ไม่พอ ก็จะพิจารณาไปขอเงินสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นลำดับต่อไป”
ดังนั้นนอกจากการจัดทำมาตรฐานแล้ว สทท. จะจัดทำฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยว
โดยจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมารวบรวมไว้ ให้คนในอุตสาหกรรมได้ใช้เป็นแหล่งข้อมูลวิจัยตลาด เพื่อประเมินสถานการณ์ในอนาคตสำหรับเตรียมความพร้อมทางธุรกิจ
****เร่งแก้กฏหมาย-สร้างแบรนด์***
นอกจากนั้นยังดูแลงานด้านการแก้ไขกฏหมาย ล่าสุดเตรียมยกร่าง พ.ร.บ.จรรยาบรรณผู้ประกอบการท่องเที่ยว มาปรับให้มีความทันสมัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องจรรยาบรรณผู้ประกอบการ เป็นกฏหมายที่ไม่มีบทลงโทษ แต่ สทท. จะสร้างให้ผู้ประกอบการเกิดจิตสำนึกรู้รับผิดชอบ เพราะปัจจุบัน ยอมรับว่าผู้ประกอบการในอุตสากรรมท่องเที่ยวมีจำนวนมาก
เพราะเป็นธุรกิจที่น่าสนใจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลให้ความสนใจให้เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักเข้าประเทศ
อย่างไรก็ตาม สทท.ยังได้นำเงินที่ได้รับมาจาก สสว. ไปจัดทำโครงการ ตราสัญลักษณ์(Brand Image) ใน 9 กลุ่มพื้นที่ ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดจุดขายที่ชัดเจน และ ช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มพื้นที่ ประกอบด้วย กลุ่มอารยธรรมลุ่มเจ้าพระยา ,กลุ่มแดนฝันทะเลวัง ,กลุ่มมรดกอันดามัน
,กลุ่มมนต์เสน่ห์เมืองใต้ ,กลุ่มสีสันตะวันออก ,กลุ่มแดนอัศจรรย์อีสานเหนือ ,กลุ่มแดนตำนานอีสานใต้ ,กลุ่มรุ่งเรืองเมืองมรดก และกลุ่มถิ่นฟ้าล้านนาเมืองเหนือ จุดประสงค์การจัดทำตราสัญลักษณ์ครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวในกลุ่มพื้นที่ตรมศักยภาพความพร้อม
และความโดดเด่นของทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนเพื่อให้เกิดการบูรณาการใกระบวนการพัฒนาการตลาดการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ง่ายต่อการจดจำในหมู่นักท่องเที่ยว
กำลังโหลดความคิดเห็น