วันพรุ่งนี้ (2 ต.ค.) จะเป็นวันคล้ายวันเกิดของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
นายพลแห่งกองทัพไทย-ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งในที่สุด ก็ต้องกลับคืนสู่ความเป็นพลเมืองไทย
นี่แหละหนา คือ อนิจจัง
มีจุดเริ่มก็มีจุดจบ มีเกิดก็มีเสร็จสิ้น และหลายๆ ครั้ง จุดจบของบางสิ่งบางอย่าง บางสถานะ ก็เป็นจุดกำเนิดของสิ่งใหม่ขึ้นมาในขณะเดียวกัน
ขณะที่พลเอกสนธิกำลังจะจบชีวิตราชการทหาร ก็มีข่าวหนาหูว่า พลเอกสนธิกำลังเตรียมตัวจะเริ่มต้นชีวิตบนเส้นทางสายการเมือง
ไม่ว่าจะเป็นข่าวคราวที่ว่าพรรคการเมืองน้อยใหญ่ตามจีบพลเอกสนธิเข้าพรรคของตนจนหัวกะไดแทบไม่แห้ง หรือล่าสุด ก็มีข่าวที่น่าเชื่อถือได้ว่า พลเอกสนธิอาจจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
ปัญหาใหญ่มีอยู่ว่า เมื่อพลเอกสนธิยังคงอยู่ในตำแหน่งประธาน คมช.ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการถอดถอนนายกรัฐมนตรี อันจะทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยโดยอัตโนมัติ หากพลเอกสนธิที่เป็นประธาน คมช.เข้าไปเป็นรัฐมนตรีภายใต้อำนาจการบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีเสียแล้ว ย่อมจะเกิดความอีหลักอีเหลื่อ เกิดการขัดแย้งกันในอำนาจหน้าที่ของคนในรัฐบาลเดียวกัน
พลเอกสนธิในฐานะประธาน คมช. มีอำนาจปลดนายกรัฐมนตรี แต่ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาล ก็มีอำนาจปลดพลเอกสนธิในฐานะรัฐมนตรี
แม้คนรู้ทันรัฐบาลชุดนี้ จะกล่าวได้ว่า ทั้งพลเอกสุรยุทธ์ และพลเอกสนธิ ท่านเคยมีความผูกพัน มีสายใยสัมพันธ์แน่นแฟ้น มีเบ้าหลอมอันเดียวกัน เคยร่วมเป็นร่วมตายมาด้วยกัน มาทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองครั้งนี้ก็เข้ามาเป็นทีมด้วยกัน ตามความมุ่งหมายและแรงผลักดันสูงสุดจากแหล่งเดียวกัน
น่าจะเรียกว่า เสมือนอยู่ใต้ชายคาบ้านหลังเดียวกัน
เพราะฉะนั้น เรื่องที่พลเอกสนธิ ในฐานะประธาน คมช. จะสั่งปลดพลเอกสุรยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ตราบใดที่เสาหลักของบ้านไม่พังทลายไปเสีย หรือในทางตรงกันข้าม เรื่องใดๆ ที่เป็นเป้าหมายของงานหลักในขณะนี้ พลเอกสุรยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะไปขัดขาหรือทำลายพลเอกสนธิ ก็คงจะเป็นไปได้ยากเช่นกัน
แต่หากพลเอกสนธิก้าวเข้าไปร่วมอยู่ในรัฐบาลที่ประธาน คมช.มีอำนาจในการสั่งปลดนายกรัฐมนตรี หรือถอดรัฐมนตรีทั้งคณะ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการบริหารงานราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้ คือ ความไม่ชัดเจนในขอบข่าย อำนาจหน้าที่ การประสานงาน การดำเนินงาน และความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง
เพราะจะไม่มีความชัดเจนว่า ใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมือง
การมีระบบถ่วงดุลและคานอำนาจเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ดังนั้น แม้รัฐบาลชุดนี้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ก็พยายามทำให้ระบบดุลและคานอำนาจเอาไว้ โดยให้มี สภานิติบัญญัติแห่งชาติคอยตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล และให้มีประธาน คมช.มีอำนาจถอดถอนนายกรัฐมนตรี
แต่ถ้าประธาน คมช. พาตัวเองเข้าไปผนึกอำนาจอยู่กับรัฐบาลเสียแล้ว รัฐบาลชุดนี้ก็จะไม่มีระบบดุลและคานอำนาจที่ไหน เพราะ สนช. จะถอดถอนก็กระทำไม่ได้ ตรงกันข้าม จะเป็นการสร้างระบบที่มีอำนาจทับซ้อนและขัดแย้งกันเองในรัฐบาล ซึ่งจะไปสู่ความสับสนวุ่นวายและสภาวะการที่ความรับผิดชอบพร่ามัว เมื่อเกิดปัญหาก็อาจจะมีการโยนกันไปมา เกี่ยงกัน เกรงใจกัน และจะขัดอกขัดใจกันเสียเปล่าๆ
ถ้าพลเอกสนธิ ต้องการจะเข้าร่วมรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ เพราะเจตนาที่ต้องการทำสิ่งดีๆ ให้แก่ประเทศส่วนรวมจริงๆ ก็ควรจะต้องพิจารณาลาออกจากตำแหน่งประธาน คมช.และลาออกจาก คมช.เสียก่อน
เดินเข้าสู่เวทีการเมือง เข้าสู่รัฐบาลเฉพาะกาล ในฐานะประชาชนคนไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการบำนาญผู้มีประสบการณ์ความรู้ความสามารถ มีความดี ความกล้าหาญ รักชาติรักแผ่นดินเป็นที่ประจักษ์ เช่นเดียวกับการเข้ารับตำแหน่งของบรรดารัฐมนตรีที่อยู่ในรัฐบาลชุดนี้
ไม่หอบหิ้วเอาตำแหน่งอำนาจในฐานะประธาน คมช. พกติดตัวเข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ตนเองมีอำนาจปลดออกได้ เพื่อรักษาระบบถ่วงดุลและคานอำนาจของชาติบ้านเมืองส่วนรวม และเปิดทางให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ทำหน้าที่ในรูปคณะกรรมการ
หากทำเช่นนี้ พลเอกสนธิจะมีภูมิต้านทานที่แข็งแกร่ง รับมือกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างมีน้ำหนัก เพราะว่า
1. พลเอกสนธิ ไม่ได้เป็น ผบ.ทบ. ไม่ใช่ข้าราชการทหารอีกต่อไป ไม่มีอำนาจในกองทัพ ไม่มีอำนาจใน คมช.แต่เป็น “ขิงแก่” เป็นราษฎรเต็มขั้น เข้าไปสู่ตำแหน่งการเมืองบนมาตรฐานเดียวกับคนอื่นๆ
2. น่าจะเหมาะสมที่สุด หากพลเอกสนธิในฐานะอดีตผู้นำในการทำรัฐประหารระบอบทักษิณ ประกาศตัววางมือจากอำนาจปฏิวัติ เดินเข้าสู่การเมืองเพื่อสานต่องานที่คั่งค้างในการชำระล้างประเทศไทยจากระบอบทักษิณ และปฏิรูปการเมืองให้เข้าที่เข้าทาง โดยใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอยู่โดยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ ภายใต้การจับตามองและหนุนเสริมของ คมช.
ในเมื่อพลเอกสุรยุทธ์ ออกปากว่า ขณะนี้ ก็เพียงขอเวลานอกประชาธิปไตยสั้นๆ เพื่อจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง และพลเอกสนธิเองก็ออกปากแน่นหนักว่า ต้องการจะทำคุณประโยชน์เพื่อแผ่นดิน และที่ผ่านมา ตนเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำรัฐประหารแบบทิ้งๆ ขว้างๆ คือ ทำแล้วก็ไม่รับอำนาจนั้นใส่ตัว แต่โยนให้ผู้อื่นรับงานไปทำต่อ จนงานแผ่นดินไม่คืบหน้าเท่าความคาดหวังของประชาชนทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น น่าจะเป็นโอกาสอันดี โอกาสท้ายๆ ในช่วงบั้นปลายของชีวิตความเป็นคนไทยแล้ว ที่ท่านจะได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินจริงๆ โดยการส่งผ่านบ้านเมืองที่ดีกว่าไปให้แก่ลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป
ประกาศลาออกจาก คมช. แล้วไปรับหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ อาจจะควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และถ้าจะแถมด้วยการประกาศว่า หลังเลือกตั้ง 23 ธ.ค. จะไม่สืบทอดอำนาจให้ตนเองและพวกพ้อง พวกเราก็จะสนับสนุนท่าน