xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:การปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate จะไม่มีผลโดยตรงต่อปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(Federal Reserve: Fed) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือ Fed Funds Rate ลงในการประชุม FOMC ในวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ถึงร้อยละ 0.50 เพื่อบรรเทาปัญหาของสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสถาบันการเงินที่ลงทุนในตราสารทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า ปัญหาของสถาบันการเงินจะบรรเทาลงและเศรษฐกิจสหรัฐฯก็จะฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอีกไม่นาน ซึ่งเห็นได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และ Yield Curve เปลี่ยนจากที่เป็นเส้นทอดลงไปเป็นเส้นทอดขึ้นภายหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามผมมีความเห็นที่ตรงกันข้ามกับการคาดการณ์ดังกล่าว โดยเชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะมีผลอย่างจำกัดในการแก้ปัญหาทางการเงินของสหรัฐฯที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ด้วย

ปัญหาฟองสบู่ที่อยู่อาศัยในครั้งนี้ได้กระจายไปสู่ระดับครัวเรือนในวงกว้าง เนื่องจากในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 2545–2548 มีการเก็งกำไรในการซื้อขายที่อยู่อาศัยจำนวนมาก และครัวเรือนได้ก่อหนี้จำนวนมหาศาลทั้งเพื่อเก็งกำไรที่อยู่อาศัยและเพื่อการบริโภค ปัญหาการแตกของฟองสบู่ที่อยู่อาศัยจึงมีผลกระทบอย่างมากต่อฐานรากของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งก็คือครัวเรือน โดยในปัจจุบันมีคดีฟ้องร้องยึดทรัพย์กรณีที่อยู่อาศัยประมาณ 600,000 คดี และคาดว่ากว่าปัญหาจะหมดไปอาจจะมีการยึดที่อยู่อาศัยถึงประมาณ 2 ล้านหลัง นอกจากนี้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวภาคครัวเรือนได้ใช้จ่ายเป็นจำนวนมากจนระดับการออมติดลบเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ the Great Depression ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับครัวเรือนสหรัฐฯถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะสินเชื่อระดับ Sub-prime ปัญหาจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังได้กระจายไปสู่สถาบันประเภทอื่น โดยผ่านกระบวนการออกหุ้นกู้โดยการใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือที่เราเรียกว่า Securitization ทำให้สถาบันการเงินที่ซื้อหุ้นกู้เหล่านั้นมีปัญหาตามไปด้วย นอกจากนี้ปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัวจากการอนุพันธ์ (Derivatives) ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยที่ในขณะนี้ยังไม่สามารถจะประเมินได้ว่าขนาดของปัญหาที่แท้จริงเป็นเท่าใด

จากปัญหาหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้นำไปสู่ปัญหาใหม่ 3 ประการตามมา ได้แก่ ประการแรก การขาดความเชื่อถือที่มีต่อสถาบันการเงินทั้งประเภทที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสถาบันการเงินอื่นๆ โดยเฉพาะกองทุนรวม และ Hedge Funds ที่ลงทุนในตราสารหนี้หรืออนุพันธ์ที่อิงกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สถาบันการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์จึงไม่ปล่อยสินเชื่อให้สถาบันการเงินที่ขาดความเชื่อถือ ส่งผลให้สถาบันการเงินเหล่านี้เกิดปัญหาสภาพคล่องตึงตัวและไม่สามารถระดมทุนได้ ประการที่สอง เนื่องจากสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่สามารถระดมทุนได้และปัญหาหนี้เสียที่รุมเร้า ทำให้ต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้กู้ และอุปสงค์ที่อยู่อาศัยจะทรุดตัวลง จึงคาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยได้ทรุดตัวไปมากกว่าเดิม ซึ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้วให้ชะลอตัวลงมากกว่าเดิม ประการที่สาม จากปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยและหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ตลอดจนการฟ้องร้องยึดที่อยู่อาศัย ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อสำหรับการบริโภค จึงคาดว่าการใช้จ่ายในการบริโภคจะชะลอตัวลงหรือหดตัวในเร็วๆนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงหรือหดตัวลงในอนาคต

จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่ตามมาจากการแตกของฟองสบู่ที่อยู่อาศัยมีรากฐานมาจากการขาดความเชื่อถือที่มีต่อสถาบันการเงิน ไม่ได้มาจากการขาดสภาพคล่องในระบบการเงินแต่อย่างใด การขาดความมั่นใจดังกล่าวทำให้ระบบการปล่อยสินเชื่อขาดตอนลง ส่งผลให้สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนผู้กู้และผู้บริโภคมีปัญหาสภาพคล่อง ดังนั้นการที่จะให้ความเชื่อถือดังกล่าวกลับคืนมาต้องใช้เวลานาน

การลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate ในระยะสั้นไม่ได้ทำให้ความมั่นใจที่ขาดหายไปกลับคืนมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นและ Yield Curve ที่กลับไปเป็นเส้นทอดขึ้นนั้น เป็นผลทางจิตวิทยาของการลดดอกเบี้ยเท่านั้น ตราบเท่าที่ยังขาดความมั่นใจ ผมก็ยังเชื่อว่า สถาบันการเงินที่มีปัญหายังมีปัญหาสภาพคล่องและผู้กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและผู้บริโภคยังไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้อยู่ดี อย่างไรก็ตามในระยะปานกลางและระยะยาว การลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลทางอ้อม โดยทำให้เศรษฐกิจสาขาอื่นปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลต่อเนื่องต่อการจ้างงาน รายได้ของครัวเรือน และอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยในที่สุด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอุปสงค์ที่มีต่อที่อยู่อาศัยจะค่อยๆ สร้างความมั่นใจที่มีต่อสถาบันการเงินที่มีปัญหา จนสามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติในที่สุด ซึ่งกว่ากระบวนการเหล่านี้จะเสร็จสิ้นต้องใช้เวลา 1-2 ปี เป็นอย่างน้อย เราจึงไม่ควรตั้งความหวังว่า ปัญหาทั้งหมดจะคลี่คลายลงและเศรษฐกิจสหรัฐฯจะปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติในระยะสั้นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น