xs
xsm
sm
md
lg

เวิล์ดแบงก์จ้องรีวิวเศรษฐกิจไทย รอผลกนง.ชี้ชัดแนวโน้มดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – เวิล์ดแบงก์ยืนตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 4.3% ก่อนออกผลประเมินใหม่ในเดือน พ.ย. นี้ ยันรัฐมนตรีบางรายลาออกไม่กระทบต่อภาคธุรกิจ เพราะสิ้นปีมีเลือกตั้งเข้ามาช่วยสร้างความเชื่อมั่น ส่วนค่าเงินบาทยังคงผันผวนตามการไหลเข้าออกของเงินแต่ไม่น่าห่วง ระบุไม่กล้าฟันธงทิศทางดอกเบี้ยไทยไปทางไหนแต่ไม่ปรับขึ้นแน่นอน ล่าสุดขยับอันดับไทยในการเป็นประเทศที่มีความสะดวกในการดำเนินธุรกิจจากที่17 มาเป็นที่ 15

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก (เวิล์ดแบงก์) สำนักงานประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารโลกยังคงตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยไว้ที่ 4.3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ประมาณการณ์เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา แม้ว่าในขณะนี้จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)บ้าง แต่จากที่จะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี รวมถึงความไม่แน่นอนในหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นช่วงต้นปีเริ่มผ่อนคลายลงไป ประกอบกับการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะยังคงขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตามในเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีการประมาณการณ์ใหม่อีกครั้ง ส่วนการขยายตัวในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 4.5-5.0%

“การที่เศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวที่ 4.3% แต่คนอื่นประเมินอยู่ที่ 5.0-5.5% นั้นถือว่าการขยายตัวด้อยกว่าที่เราจะทำได้ แต่เรามองว่าไทยคงจะไม่ขยายตัวในระดับนี้ทุกปี ดังนั้นการขยายตัว 4.3% ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ ส่วนการส่งออกน่าจะขยายตัวที่ 11.5% ต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดไว้เล็กน้อยที่ 12%”

ส่วนกรณีการลาออกของรัฐมนตรีบางรายนั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในปีนี้ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ คือ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งไม่ได้ลาออก ประกอบจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปลายปีนี้ซึ่งจะช่วยในเรื่องของความเชี่อมั่นได้

สำหรับค่าเงินบาทนั้นยังคงผันผวนตามการไหลเข้าออกของเงิน รวมถึงการส่งออกที่ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทยังคงมีการแข็งค่าขึ้นบ้างเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการแข็งค่าของเงินนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่จริง ๆ ถือเป็นเรื่องดีที่ส่งออกยังคงเติบโตไปได้ ส่วนการที่มีบางกลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น ทางภาครัฐก็ควรจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงมากกว่า

“การแข็งค่าของเงินบาทไม่ได้มีผลกระทบในทุกอุตสาหกรรม ที่กระทบจะเป็นพวกเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เป็นต้น ซึ่งเราไม่ต้องการให้มีการพยุงค่าเงินบาทเพราะมันไม่ได้กระทบทุกคน ใครดีแล้วก็ควรปล่อยไป แล้วเข้าไปช่วยคนที่ถูกกระทบมากกว่า นอกจากนี้พบว่าตัวเลขการจ้างงานโดยรวมไม่ได้ลดลง แต่ที่ลดคือจำนวนเวลาการทำงาน เนื่องจากเจ้าของไปลดในส่วนของการทำโอทีไม่ให้มี ก็เลยจะกระทบต่อรายได้บ้าง แต่ถึงขั้นให้ลดกำลังคนด้วยการให้ออกจากงานนั้นคงไม่ได้เกิดในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม”

อย่างไรก็ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นจะไปในทิศทางใดหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ถือว่าตอบได้ยากว่าการประชุมในรอบหน้าของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าผลจะมาออกมาด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยหรือปรับลดอีก แต่คงไม่ปรับขึ้นแน่นอน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาค่อนข้างมาก ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงโดยสิ้นปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 2% และการบริโภคในประเทศยังอ่อนตัว จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาผลการประชุมดังกล่าว ดังนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กนง.

ล่าสุดในรายงาน “Doing Business 2008” ของธนาคารโลกและบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) ซึ่งเป็นการรายงานผลสำรวจประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนประกอบธุรกิจประจำปี 2551 ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 ของความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ จากจำนวน 178 ประเทศทั่วโลก สูงขึ้นสองอันดับจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 17 แต่หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกนั้น ประเทศไทยถูกจัดเป็นลำดับที่ 4 อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังถือว่าตามหลังประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในเรื่องของการปฏิรูปภาคธุรกิจ

การที่ประเทศไทยสามารถขยับอันดับขึ้นมานั้น เป็นผลสำคัญมาจากการปรับปรุงในเรื่องการลดเวลาและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐบาลได้นำระบบ E-Customs มาใช้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดเวลา จำนวนเอกสารและลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการส่งออกและนำเข้าสินค้าได้อย่างดี ส่วนดัชนีด้านการค้าระหว่างประเทศนั้น ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในลำดับที่ 50 จากที่เคยอยู่ในลำดับที่ 103 เมื่อปีที่ผ่านมา

สำหรับดัชนีด้านอื่น ๆ นั้น ประเทศไทยได้รับการจัดลำดับให้อยู่ในระดับกลาง ๆ ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในขณะที่ดัชนีด้านภาษีและข้อมูลเครดิตของไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มครึ่งหลังของภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยได้ถูกลดอันดับลงจากปีที่แล้วสองดัชนีนี้ โดยดัชนีด้านภาษีปีก่อนอยู่ที่ลำดับ 57 มาอยู่ที่ลำดับ 89 ส่วนในเรื่องการจัดตั้งธุรกิจใหม่ การจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์หรือการปิดธุรกิจอันดับของประเทศไทยก็ตกลงมาเช่นกันแม้ว่าจะเป็นดัชนีที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้วก็ตาม

โดยสาเหตุที่ดัชนีในบางส่วนของประเทศไทยลดลงเนื่องจากการที่ประเทศอื่น ๆ ได้เร่งพัฒนาการปฏิรูปและปรับปรุงมากกว่า เพราะว่าหากประเทศที่ได้รับการจัดอันดับนั้นไม่พยายามผลักดันตนเองให้ทิ้งคู่แข่งขัน ในขณะนี้ที่ประเทศอื่น ๆ เร่งทำคะแนนตามมาก็จะทำให้อันดับของตนเองนั้นตกลงได้ อย่างไรก็ตามการจัดลำดับดังกล่าวพิจารณาจากเครื่องชี้วัดด้านกฎระเบียบทางธุรกิจ 10 ประการ ซึ่งประกอบด้วยเวลาและต้นทุนธุรกิจที่ใช้เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐในการเริ่มต้นทำธุรกิจ ดำเนินธุรกิจ การค้า การจัดเก็บภาษีและการปิดกิจการ
กำลังโหลดความคิดเห็น