xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน:ภาคเกษตรครึ่งปีหลังเสี่ยงศก.โลกชะลอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหาภาคและระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังออกบทวิเคราะห์เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจภาคเกษตรของไทยในครึ่งปีหลัง 2550 โดยระบุว่า แม้ว่าในปี 2550 ความเสี่ยงจากภัยแล้ง ไข้หวัดนก ที่เคยส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรในช่วงที่ผ่านมาจะลดลง แต่ปัจจัยภายนอกประเทศทั้งด้านการชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ราคาสินค้าเกษตรโลก และอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วมีแนวโน้มที่มีแรงกดดันต่อผู้ประกอบการในภาคเกษตรกรมากขึ้น

โดยปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนภาคเกษตรของไทยในปี 2550 จะมาจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตประกอบกับความต้องการวัตถุดิบ เพื่อผลิตพลังงานทางเลือกของโลก ทั้งไบโอดีเซลและเอธานอลที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เพิ่มความต้องการธัญพืช ทั้งอ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมันสูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย

ด้านปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับภาคเกษตรในช่วงครึ่งหลังปี 2550 แม้ว่าปัญหาภัยแล้งที่เคียส่งผลต่อการผลิตสินค้าเกษตรในปีก่อนๆคาดว่ามีแรงกดดันต่อการผลิตในปี 2550 ลดลง แต่เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2550 เนื่องจากความต้องการสินค้าเกษตรจากต่างประเทศจะชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จะส่งผลให้รายได้จากการขายสินค้าเกษตรลดลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรส่งออก นอกจากนั้นจากการที่รัฐบาลจีนประกาศนโยบายปรับอัตราการคืนภาษีผู้ส่งออกใหม่อาจส่งผลให้มีการนำเข้ายางพาราจากไทยลดลง

โดยคาดว่าแนวโน้มผลผลิตภาคการเกษตรในช่วงครึ่งหลังปี 2550 จะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.8 เนื่องจากสินค้าหลายชนิดมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ข้าวโพด และยางพารา สำหรับข้าวโพดแม้ว่าในช่วงปลายปี 2549 จะเกิดวิกฤตน้ำท่วม

ส่วนสินค้าเกษตรที่คาดว่ามีปริมาณการผลิตลดลงในช่วงครึ่งหลังปี 2550 ได้แก่ ข้าวนาปรัง เป็นผลมาจากในช่วงปลายปี 2549 จะเกิดวิกฤตน้ำท่วม ส่งผลให้ผลผลิตได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่มีการปลูกทดแทนในช่วงต้นปี 2550 และสามารถเก็บเกี่ยวไปแล้วในช่วงกลางปี

สำหรับปริมาณการผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญโดยเฉพาะสุกรในช่วงครึ่งหลังปี 2550 คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากราคาที่ตกต่ำต่อเนื่องจากปี 2549 ไม่จูงใจให้มีการเพิ่มจำนวนการเลี้ยง ประกอบกับนโยบายรัฐที่ตัดตอนวงจรการเจริญเติบโตของสุกร เพื่อแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ นอกจากนี้ ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้รายได้จากการส่งออกที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตปศุสัตว์ลดลงด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้ระบุว่า ควรมีการจัดอบรมให้ความรู้กับเกษตรกร ในการจัดการบริหารในด้านการผลิตที่เน้นวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้มากขึ้น นอกจากที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติเพียงอย่างเดียว รวมทั้งเร่งหากตลาดอื่นเพื่อรองรับผลิตที่มีปริมาณมากในฤดูกาลผลิตต่างๆ เร่งให้ความรู้ในการแปรรูปผลผลิตภัณฑ์ เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด และเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อให้เกษตรกรเข้มแหล่งข้อมูลที่จะรับรู้ข่าวสารได้ง่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น