พิษณุโลก - สภาพัฒน์ชำแหละปัญหาการท่องเที่ยว 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง พบสารพัดปัญหาที่แก้ไม่ตก ลบความเป็น "ทางผ่าน" ไม่ได้ ระบุทุกจังหวัดไร้กิจกรรมดึงดูด ทั้งที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพร่วม 300 แห่ง - องค์กรรัฐ/เอกชนทั้งส่วนกลาง-ท้องถิ่น ขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง แนะทุกฝ่ายเลิกรำอยู่ข้างเวที หันมาร่วมมือกันอย่างจริงจังแทน
ที่โรงแรมท็อปแลนด์ พลาซ่า1 อ.เมือง จ.พิษณุโลก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถ ในการแข่งขันของการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์)
นายธานินทร์ ผะเอม ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช.) กล่าวว่า สศช.ได้เก็บข้อมูลและทำกรอบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัด เป็นต้นแบบพัฒนาตามแนวคิดการพัฒนาคลัสเตอร์กลุ่มจังหวัดอื่นๆ โดยสำรวจจากผู้แทนภาครัฐและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว
ผลศึกษากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างพบว่า ควรมุ่งเน้นที่จะขาย แหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกสุโขทัยและเมืองร่วมสมัยเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัย จากมรดกโลก 2 แห่ง คืออุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย - อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เชื่อมโยงเข้ากับอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร พร้อมกับมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เป็นจุดเด่น เช่น ภูสอยดาว จ.อุตรดิตถ์ ทุ่งแสลงหลวง-ภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก น้ำตกทีลอซู จ.ตาก น้ำหนาวและเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์
สำหรับภาพรวมของการท่องเที่ยว 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง พบว่า ตากมีศักยภาพด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ความหลากหลายชนเผ่า สุโขทัยมีความรุ่งเรืองด้านประวัติศาสตร์ อุตรดิตถ์เป็นพื้นที่ราบหุบเขา เหมาะสมกับการปลูกผลไม้ เป็นเมืองมหัศจรรย์แห่งผลไม้ พิษณุโลก ศูนย์กลางความพร้อม ทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีการบริการหลากหลาย เพชรบูรณ์มีศักยภาพการท่องเที่ยวด้านธรรมชาติ
"รวมแล้วภาคเหนือตอนล่างมีแหล่งท่องเที่ยว 728 แห่ง ครึ่งหนึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ"
ในปี 2549 มีผู้เยี่ยมเยือนทั้งหมด 4,359,289 คน เป็นคนไทยร้อยละ 90 มาพิษณุโลก 1.9 ล้านคนมากที่สุด รองมาคือ จังหวัดตาก 8 แสนคน ขณะที่ชาวต่างชาติเที่ยวสุโขทัยมากที่สุด คือ 213,660 คน จากทั้งหมด 632,964 คน
แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในกลุ่มจังหวัดเหนือตอนล่างคือ 1.วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก 2. ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหารราช 3.วัดจุฬามณี 4.วัดนางพญา 5 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง 6.อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช 7.อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว 8.บ่อน้ำร้อนแม่ภาษา จ.ตาก 9.ศาลพระวอ 10.อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ทั้งนี้ หากพิจารณาค่าใช้จ่ายต่อหัว พบว่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศและภาคเหนือด้วยกัน คือ 1,065 บาทต่อคนต่อวัน ขณะที่เฉลี่ยค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวชาวไทย คือ 1,795 บาท คนต่างประเทศเฉลี่ย 3,299 บาทต่อคนต่อวัน ส่วนอัตราแวะพักค้างคืน(คนไทย) 2.11 วัน ต่างประเทศ 1.9 วัน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวมีแค่ 1.08 ของมูลค่า GPP ของกลุ่มจังหวัด ทั้งที่มีศักยภาพและความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น มรดกโลก แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประเพณี
แต่ทว่า การนำเสนอเส้นทางการท่องเที่ยวและกิจกรรมเด่นๆ มีเฉพาะในจังหวัดเท่านั้น การเชื่อมโยงภายใน 5 จังหวัดยังน้อยมาก อีกทั้งแหล่งท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวแก่นักท่องเที่ยวให้เข้าใจถึงรากเหง้า สัมพันธ์กับพื้นที่ได้ชัดเจนนัก ขาดการดำเนินการอย่างเป็นระบบและจริงจัง ฉะนั้นจึงไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เข้ามามีส่วนร่วม และสร้างความประทับใจ แบบบอกปากต่อปาก
นายธานินทร์ กล่าวว่า พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ไม่ได้หวังประโยชน์หรือเป้าหมายการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ แต่เพื่อเติมเต็มอารมณ์ ความรู้สึกและผลทางจิตใจเท่านั้น บางส่วนอาจแวะเพื่อเยี่ยมญาติ ทำให้การพักค้างคืนน้อย ส่งผลให้รายได้ท่องเที่ยวเหนือล่างต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ส่วนของที่ระลึก ยังเป็นสินค้าท้องถิ่น ไม่ได้รับการพัฒนาให้รู้จักเท่าที่ควร คุณภาพไม่สากล
ขณะที่สถาบันการศึกษาหลายแห่ง ทำงานเชิงรับมากกว่าเชิงรุก ไม่สามารถพัฒนาบุคลากรการท่องเที่ยวตอบสนองท้องถิ่น ขาดการเตรียมพร้อมและเจ้าบ้านที่ดี ส่วนภาครัฐ ทั้งส่วนกลาง - ภูมิภาค - ท้องถิ่น ขาดการบูรณาการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในกลุ่มอย่างเป็นระบบและครบวงจร ชมรมและสมาคมด้านการท่องเที่ยวในภาคเหนือตอนล่าง ก็ไม่สามารถเป็นกลไกหลัก ประสานความคิดในกลุ่ม เพื่อกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวร่วมกับภาครัฐและท้องถิ่น ให้ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้
นายธานินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอแนะ ตามกรอบยุทธศาสตร การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง คือ สร้างกิจกรรมให้มีชีวิตชีวา ในแหล่งท่องเที่ยว มิฉะนั้นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์จะเป็นการขายแค่ซากโบราณสถานเท่านั้น ,ส่งเสริมธุรกิจการลงทุนอื่นในด้านท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย ,ต้องควบคุมมาตรฐานและทำให้เป็นระบบเครือข่าย แก้ปัญหาการตัดราคากันเอง ,สร้างกิจกรรมเชื่อมต่อเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัย ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว จัดตั้ง Marketing Unit เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวกลุ่มภาคเหนือตอนล่างให้แพร่หลายทั้งใน - ต่างประเทศ
ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช.เปิดเผยอีกว่า สภาพัฒน์ทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ไม่มีหน้าที่ลงมือทำ แต่ได้ชี้แนะให้ภาคเอกชนในพื้นที่ให้ตื่นตัวและลงมือดำเนินการเอง เพราะคนในพื้นที่ทราบดี เท่าที่ประเมินวันนี้ ภาคเอกชนทั้งพิษณุโลกและสุโขทัยได้ร่วมเสวนาเพื่อหาทางออกของการท่องเที่ยวในภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งต้องค่อยเป็นค่อยไป ดีกว่าไม่ได้ทำ
"วันนี้ภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวของกลุ่ม 5 จังหวัดควรเริ่มและกำหนดทิศทางได้แล้ว ไม่ใช่เวลาคิด ต้องดำเนินการตามแผนได้แล้ว เพราะจุดอ่อนกรณีที่สภาพัฒน์ศึกษาไว้ คนในพื้นที่ทราบมาก่อนแล้ว เพียงแต่คนที่จะดำเนินการได้ช่วยกันคิดหรือเร่งดำเนินการได้รวดเร็วหรือไม่"
นายธานินทร์ ย้ำอีกว่า ส่วนสิ่งที่สภาพัฒน์ทำได้คือ นำเสนอแผนงานยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว กรอบยุทธศาสตร์ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างต่อบอร์ดสภาพัฒน์และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี - สำนักงบประมาณ เพื่อสนับสนุนสิ่งที่ขาดหรือเป็นอุปสรรค ในการพัฒนาการท่องเที่ยวในภาคเหนือตอนล่างเท่านั้น