xs
xsm
sm
md
lg

แฉภัยงาน‘ไซด์ไลน์’บนเน็ต ตกเหยื่อเข้าวงจรแชร์ลูกโซ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดโปงขบวนการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต หลอกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสมัครเป็นสมาชิก โดยใช้โฆษณาชวนเชื่อว่าจะสร้างรายได้เสริมเป็นหลักแสนบาทต่อเดือน เพื่อมุ่งสร้างเครือข่ายหากินกับเงินค่าสมาชิก เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ พบแพร่ระบาดอย่างหนักบนโลกไซเบอร์ในปัจจุบัน

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคงเคยเห็นโฆษณาบนเว็บไซต์ หรือบางทีอาจส่งเป็นอีเมล์เข้ามาว่า “อยากทำงานมีรายได้เสริมเดือนละ 5,000 - 500,000 บาท ด้วยการใช้อินเตอร์เน็ตทำงานอยู่กับบ้าน หรือสำนักงาน วันละไม่กี่ชั่วโมง” พร้อมกับคำชักชวนเพื่อให้เข้าร่วมทำงาน หลายคนจึงอดสงสัยไม่ได้ว่างานเหล่านี้สร้างรายได้อย่างมากมายมหาศาลขนาดนั้นได้อย่างไร

“ผู้จัดการรายวัน” ได้เข้าไปศึกษาและรวบรวมข้อมูลผ่านเว็บไซต์ที่กล่าวอ้าง อ่านข้อมูลที่นำเสนอผ่านเว็บบอร์ด สอบถามผู้รู้ที่อยู่ในแวดวงอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกทดลองทำงานจริงตามเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อสืบเสาะหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว

โดยพบว่าลักษณะโดยทั่วไปของเว็บไซต์เหล่านี้คือการโฆษณาชวนเชื่อด้วยผลตอบแทนล่อใจด้วยเงินจำนวนมหาศาล เป็นต้นว่า “ให้ Bonus ฟรีๆ 80 Euro เมื่อสมัครเป็นสมาชิกเป็นครั้งแรก” “อ่านดูก่อนแล้วจะไม่เสียโอกาสทำเงิน100,000 บาท/เดือนแบบสบายๆ” “ให้ bonus ฟรีๆ 2,000$ เมื่อสมัครเป็น สมาชิกในครั้งแรก” หรือว่า “บริษัทเปิดใหม่แค่ 5 เดือนมีคนรับรายได้หลักแสน เกือบร้อยกว่าคนแล้ว”

ตบท้ายด้วยการสำทับความน่าเชื่อถือด้วยการประกาศว่า เป็นงานที่ผ่านขั้นตอนการดำเนินงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และผ่านการรับรองโดยสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือ อาจรับรองว่า ได้รับการประกันความเชื่อถือจาก กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

สำหรับรูปแบบของการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตที่พบลักษณะการจูงใจด้วยเงินค่าจ้างที่ค่อนข้างสูงอาจแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน

กลุ่มแรก เป็นงานลักษณะขายตรงด้วยการทำการตลาดแบบหลายชั้น (Multi-Level Marketing) โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ซึ่งงานลักษณะนี้ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย บริษัทมีตัวตนชัดเจนจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายสามารถตรวจสอบข้อมูลทะเบียนบริษัท ผ่านทางสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ได้ และที่สำคัญมีสินค้าไว้สำหรับขาย แต่รายได้จะมากหรือน้อยต้องแลกมาด้วยความขยันในการสร้างยอดขาย และการสร้างเครือข่าย

กลุ่มที่สอง เป็นงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต โดยมีลักษณะที่สำคัญคือทำงานบนอินเทอร์เน็ต 100% โดยเข้าไปคลิ๊กโฆษณาบนเว็บไซต์ หรือคลิ๊กอ่าน E-mail ตามที่ทางต้นสังกัดส่งมาให้อ่าน รายได้ส่วนหนึ่งบริษัทอ้างว่าเกิดจากการคลิ๊ก และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการหาเครือข่ายหรือการหาสมาชิกมาสมัครเพิ่มเติม

กลุ่มที่สาม เป็นงานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับงานในกลุ่มที่สอง แต่มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายมากกว่า ตัวสินค้าหรือรูปแบบการทำงานไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สิ่งที่มีความจำเป็นมากสำหรับการทำงานในกลุ่มนี้คือจะต้องสมัครเป็นสมาชิกและเสียค่าสมาชิกแรกเข้าจำนวนหนึ่ง หรือ อาจจะเสียค่าสมาชิกเป็นรายเดือนอีกด้วย

ทั้งนี้ การทำงานในลักษณะขายตรงในกลุ่มแรกถือเป็นข้อยกเว้นในที่นี้ เพราะเป็นลักษณะของงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่งานกลุ่มที่สอง และกลุ่มที่สาม ต้องพิจารณาในรายละเอียดเพราะมีลักษณะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ผิดกฎหมายมากที่สุด

ข้อสังเกตที่สำคัญของงานจำพวกนี้ มักมีรูปแบบการนำเสนอที่เหมือนกัน คือ เมื่อคลิ๊กเข้าไปในเว็บไซต์ อาจจะเป็นเว็บไซต์ของบริษัทในประเทศแม่หรือเป็นเว็บไซต์ของคนไทยที่สร้างขึ้นเพื่อหาสมาชิกโดยเฉพาะ ซึ่งเนื้อหาในเว็บไซต์ จะเริ่มต้นด้วยคำโฆษณาค่าตอบแทนเป็นเงินสูงลิ่ว ตามด้วยการยกตัวอย่างบุคคลที่ประสบความสำเร็จ หรือ มีข้อความคำสโลแกนที่โน้มน้าวใจจำนวนมาก

ภาณุรักษ์ รักวีรธรรม เว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์ ThaiPartTime.com ระบุคำเตือนผ่านทางเว็บไซต์ว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่ใช้การขายตรงอยู่มากมาย แต่หลายท่านอาจมีปัญหาแยกแยะระหว่างบริษัทขายตรงที่สุจริตกับบริษัทต้มตุ๋นที่หลอกเอาเงินจากผู้สมัครเป็นสมาชิกที่เข้าข่าย “แชร์ลูกโซ่” ที่ผิดทั้งจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจและเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอีกด้วย

“ลักษณะที่โดดเด่นของแชร์ลูกโซ่ก็คือการที่สมาชิกใหม่จะต้องจ่ายเงินค่าเข้าเป็นสมาชิกเป็นเงินจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นเมื่อสมัครสมาชิกใหม่ได้ ก็จะมีส่วนแบ่งรายได้จากค่าสมาชิกของสมาชิกใหม่ให้แก่ผู้ที่ชักชวนมา”

เขาระบุด้วยว่า วิธีการของแชร์ลูกโซ่มีวิธีการที่แยบยลขึ้น เพื่อให้ผู้ที่จะมาสมัครเป็นสมาชิกรู้สึกตายใจ สิ่งแรกที่เหล่ามิจฉาชีพเหล่านี้ใช้คือ ได้เพิ่มผลิตภัณฑ์หรือบริการ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ แต่ยังคงการเก็บเงินในการเข้าเป็นสมาชิกจำนวนมากไว้ และพยายามทำให้การจ่ายเงินค่าสมาชิกนั้นเป็นการซื้อสินค้า หรือบริการ ในบางบริษัทอาจทำออกมาในรูปของสินค้าตัวอย่าง สังเกตได้ว่าผู้ที่ชักชวนมาจะมีส่วนแบ่งจากค่าสินค้าหรือบริการชุดแรกนี้ด้วย

สอดคล้องกับการที่ “ผู้จัดการรายวัน” ได้สมัครเข้าไปเป็นสมาชิกของเว็บไซต์แห่งหนึ่งที่อ้างว่าได้ประยุกต์รูปแบบการทำการตลาดแบบ MLM เพื่อนำมาใช้โฆษณาโดเมนเนมของบริษัท ในเบื้องต้นกำหนดเงื่อนไขว่าคนที่สมัครเป็นสมาชิกจะต้องเสียค่าสมาชิกรายเดือน ๆ ละ 10 ดอลล่าร์สหรัฐ ($10) โดยจะนำเงินดังกล่าวแบ่งเงินให้กับสมาชิกที่อยู่เหนือขึ้นไปเป็นลำดับขั้น

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อบริษัทเก็บเงินจากเราไปเดือนละ $10 บริษัทจะเก็บไว้เอง $5 จากนั้นจะแบ่งให้กับสมาชิกชั้นบนที่แนะนำเรา 5 คน (5 ชั้น) คนละ $1 รวมเป็น $5 นั่นเท่ากับว่ารายได้หลักจากการดำเนินการทำงานด้วยระบบนี้คือการสร้างเครือข่ายสมาชิกหรือการหาสมาชิกใหม่เข้าร่วมงานนั่นเอง ซึ่งมีลักษณะและรูปแบบการดำเนินงานที่ใกล้เคียงกับแชร์ลูกโซ่เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกรูปแบบการดำเนินเนินงานที่เข้าข่ายการหลอกลวงอีกหลายรูปแบบบนโลกอินเทอร์เน็ต เช่น เมื่อจ่ายค่าสมาชิกแล้วยังต้องเสียค่าอบรม หรือ เมื่อเข้าไปทำงานแล้วกลับไม่ได้รับเงินจริงตามที่กล่าวอ้าง เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่สนใจก็ควรต้องใช้วิจารณญาณอย่างมาก ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจ ที่สำคัญภาครัฐควรเพิ่มความชัดเจนและกวดขันงานที่เข้าข่ายหลอกลวงอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น