xs
xsm
sm
md
lg

ยันซับไพรม์ไม่กระทบไทย ธอส.คาดเฟดลดดบ.สกัดวิกฤตอีก 0.50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย-ธอส.ร่ายยาวชี้แจงต้นตอปัญหาซับไพรม์สหรัฐ มั่นใจไม่กระทบไทยมากนัก ระบุการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในระดับ 0.50%เพื่อไม่ให้ลุกลามไปถึงลูกค้าชั้นดี คาดช่วงที่เหลือของปีปรับลดอีก 0.50% ขณะที่กสิกรฯฟันธงดัชนีหุ้นไทยปีนี้อยู่ที่ 860 จุด ดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 3.00% และค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 32.75-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เชื่อหลังสถานการณ์ซับไพรม์คลี่คลายจะมีเงินลงทุนเพิ่ม

นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูลย์ ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวในการสัมมนาเรื่อง "Subprime CDO กับสถานการณ์การเงินที่อยู่อาศัย"ว่า ความแตกต่างของระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐกับไทยนั้น อยู่ที่สหรัฐจะอาศัยเงินจากตลาดทุนซึ่งทำโดยการออกหุ้นกู้หรือตราสารในชื่อ Mortgage Backed Securities (MBS) จากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์(Securitization) และผู้ปล่อยสินเชื่อนั้นจะเป็นบริษัทธรรมดาเรียกว่า Mortgage Company เป็นหลัก ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีเงินทุนน้อย เมื่อปล่อยสินเชื่อได้จำนวนหนึ่งก็จะขายสินเชื่อออกไปเพื่อให้ได้เงินไปปล่อยกู้ใหม่หมุนเวียนไป โดยสินเชื่อชั้นดี Prime คือ กู้ไม่เกิน 80% เงินงวดไม่เกิน 25% ของรายได้และไม่มีประวัติเครดิตเสีย

ขณะที่ไทยนั้นจะอาศัยเงินจากตลาดเงินหรือเงินฝากธนาคารเป็นหลัก โดยตลาดทุน(ตราสารหนี้)ของไทยมีขนาดเล็กมากและระยะสั้นไม่เหมือนสหรัฐฯ และการปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะมาจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)เป็นหลัก ซึ่งธนาคารจะมีเงินฝากในตัวเองและนำมาปล่อยสินเชื่อจึงไม่นิยมขายสินเชื่อและเกรงอัตราหนี้สงสัยจะสูญ(เอ็นพีแอล)จะสูงขึ้น นอกจากนี้มาตรฐานการให้กู้เพื่อที่อยู่อาศัยยังต่ำกว่าในสหรัฐฯและประเทศอื่นๆในภูมิภาค อีกทั้งยังมีอัตราเอ็นพีแอลสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

"ถ้าเทียบกันแล้วมาตรฐานการปล่อยกู้ของเราต่ำกว่าประเทศอื่นในแถบนี้ และยังมีเอ็นพีแอลที่น่าจะเรียกได้ว่าสูงที่สุดในโลก เพราะประเทศอื่นๆในโลก ไม่มีใครจะมีเอ็นพีแอลที่เกินกว่า 1% โดยเฉพาะในแถบเดียวกันนี้มีต่ำมาก แต่เรามีเอ็นพีแอลอยู่ถึง 5%ก็บอกว่าต่ำแล้ว คงเพราะชินตัวตัวเลขพวกนี้ แม้กระทั่งเป้าหมายที่จะให้ลงมาที่ 2% ก็ยิ่งมองว่าต่ำมาก แต่ที่อื่นเขาไม่ถึง 1%"นายกิตติกล่าว

นายกิตติกล่าวว่า วิกฤตการณ์ซับไพรม์ในระบบสินเชื่อของสหรัฐนั้น ช่วงที่ผ่านมาราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นรุนแรงบริษัทให้กู้วงเงินสูงแก่ผู้ที่มีรายได้ไม่พอประวัติไม่ดีจำนวนหรือพวกที่อยู่ในกลุ่มซับไพรม์มากขึ้น เมื่อราคาบ้านชะลอตัวทำให้เอ็นพีแอลของซับไพรม์เพิ่มขึ้นรวดเร็วทำให้มีบริษัทให้กู้บางแห่งปิดตัวไป ซึ่งปัญหานี้ได้ลุกลามไปยังตราสาร Collateralized Debt Obligations (CDO) และส่งผลไปถึงประเทศอื่นๆที่มีการลงทุนในตราสารดังกล่าว ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% เหลือ 4.75% ส่วนไทยนั้นทางสถาบันการเงินชี้แจงว่ามีการลงทุนใน CDO น้อยมาก จึงไม่มีผลกระทบต่อระบบการเงิน

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า ซับไพรม์คือตัวลูกค้าไม่ได้เกี่ยวกับหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่เป็นตัวลูกค้าที่มีตำหนิ และคาดว่าตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐจะยังมีปัญหา จากจำนวนหนี้เสียในตลาดเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากระบบการคิดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะเป็นระบบที่ปรับได้เป็นช่วงๆ (Adjustable Rate Mortgage – ARM) โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงแรก ซึ่งจะมีการระบุในสัญญาชัดเจนว่าจะปรับขึ้นในทุกปีที่เท่าใดบ้างและเมื่ออัตราดอกเบี้ยเก่าหมดอายุก็ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยใหม่ จึงน่าจะเป็นเหตุผลให้ผู้กู้เกิดภาวะ Interest Rate Shock ทำให้เฟดต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 0.50% เพราะถ้าไม่ปรับลดก็อาจจะเกิดปัญหาลามไปถึงลูกค้าชั้นนำด้วย และเชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้เฟดน่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50%

ด้านนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า ปัญหาซับไพรม์เป็นฉนวนให้เฟดทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อเป็นการอัดฉีดสภาพคล่อง อีกทั้งราคาทองคำยังเป็นตัวชี้วัดว่าค่าเงินของสหรัฐจะยังคงอยู่ในขาลง นอกจากนี้มองว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯนั้นในปีนี้น่าจะปรับตัวลงอีก 1 รอบ และในปีหน้าอีก 1 รอบ ก่อนจะทรงตัว

อย่างไรก็ตาม มองว่าการคลี่คลายของเศรษฐกิจสหรัฐนั้นจะทำให้มีการลงทุนเข้ามาเพิ่ม แต่ยังจะต้องรอดูถึงผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ว่าจะออกมาเป็นอย่างไรและมีการขาดทุนใน CDO หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง แต่จากที่จะมีการเลือกตั้งจึงมองว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยปีนี้อยู่ที่ 860 จุด อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะปรับลดลงอีกครั้งมาอยู่ที่ 3.00% และค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 32.75-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

"สิ่งที่ควรปรับปรุงนโยบายการเงินคือเงินเฟ้อของแบงก์ชาตินั้นอยากให้รักษาเสถียรภาพให้อยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ และเงินเฟ้อที่นำมาใช้ควรจะเป็นทั่วไปเหมือนที่ประเทศอื่นใช้กันเพราะการใช้เงินเฟ้อพื้นฐานนั้นมันไม่สะท้อนตัวเลขเศรษฐกิจที่แท้จริง"นายกอบสิทธิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น