xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรภายหลังการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความฉบับนี้ ผมขอรวบรวมและสรุปบทความที่เขียนมาในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งในบทความดังกล่าวผมพูดถึงปัจจัยสำคัญต่างๆ ทั้งภายในและนอกประเทศที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2550 และต่อเนื่องไปถึงปี 2551 เช่น ทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้า ทิศทางค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ยของไทย และอัตราดอกเบี้ยเศรษฐกิจหลักของโลก บทความฉบับนี้ผมจะรวบรวมและสังเคราะห์ปัจจัยเหล่านั้น ว่าโดยรวมแล้วจะทำให้เศรษฐกิจไทยไปในทิศทางใดภายหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้หรือต้นปี 2551

ผมคิดว่าปัจจัยต่างประเทศซึ่งได้แก่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวภายหลังการเลือกตั้งในปี 2551 เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยมีทิศทางชะลอตัวลงทุกประเทศ ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่เศรษฐกิจชะลอตัวมากที่สุดคือประเทศสหรัฐฯ การแตกของฟองสบู่ที่อยู่อาศัยและปัญหาสินเชื่อ Sub-prime ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงมากหรือถดถอยในปี 2551

ประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกอื่นๆที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยได้แก่ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและจีน ก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน กรณีสหภาพยุโรป เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปชะลอตัวลงจากผลของอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินที่สูงขึ้น ส่งผลให้ทั้งการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ขยายตัวจากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน แต่จากแนวโน้มการส่งออกและการใช้จ่ายในการบริโภคที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้การลงทุนและเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ลดลงในช่วงที่เหลือของปี 2550 และต่อเนื่องไปถึงปี 2551 ซึ่งมีสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตในอัตราที่ลดลง โดยในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลงร้อยละ 0.3 แม้ว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวขึ้นบ้างในอนาคต แต่ค่อนข้างชัดเจนว่าอัตราการขยายตัวจะลดลงในอนาคต กรณีประเทศจีนที่มีการขยายตัวในอัตราที่สูงมากในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา แต่จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่าเงินที่แข็งขึ้น และมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดตั้งแต่ต้นปี 2550 จะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในปี 2551 เช่นเดียวกัน

ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯซึ่งทำให้ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯดิ่งลง เนื่องจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมูลค่ามหาศาลและอัตราดอกเบี้ยของเศรษฐกิจหลักของโลกอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้านปัจจัยในประเทศ ปัจจัยการเมืองก็จะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ ผมก็มีความเห็นคล้ายกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ยังคิดว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จะไม่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองลดลง และคาดว่ารัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งโดยปกติของรัฐบาลผสมจะไม่ค่อยมีความมั่นคง โดยที่รัฐบาลจะอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการส่งออกที่เติบโตในอัตราต่ำ ทำให้แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแต่ความมั่นใจของนักธุรกิจและผู้บริโภคก็จะเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด ส่งผลให้อุปสงค์ภาคเอกชนยังคงขยายตัวในอัตราที่ต่ำต่อไปในปี 2551

จากปัญหาข้างต้นจึงคาดว่า การจะใช้ทั้งมาตรการการเงินและการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังการเลือกตั้ง โดยทางด้านโยบายการเงิน ผมคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนักธุรกิจและผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก

ด้านนโยบายการคลัง คาดว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องจากปี 2550 โดยงบประมาณรายจ่ายประจำและงบประมาณรายจ่ายลงทุนของปีงบประมาณ 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และ 8.0 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนใน Mega Project ที่มีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาทเข้ามาเสริมนโยบายการคลังตามปกติ ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวอาจจะเริ่มลงทุนในครึ่งหลังของปี 2551 อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายภาครัฐมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ คือต่ำกว่าร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือต่ำกว่าหนึ่งใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เทียบกับการส่งออกที่มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ดังนั้นแม้ว่าจะมีการลงทุนใน Mega Project ก็ไม่สามารถที่จะชดเชยการซบเซาของการส่งออกได้ จึงคาดว่านโยบายการคลังจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างจำกัดเช่นเดียวกัน

โดยภาพรวม การชะลอตัวหรือหดตัวของการส่งออกจะเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดเศรษฐกิจไทยภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลผสมและขาดความมั่นคงทางการเมืองมาบริหารประเทศ ขณะที่ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงอยู่ ดังนั้นแม้ว่าจะมีการใช้มาตรการทางการเงินและการคลังมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทว่าจะไม่สามารถสร้างแรงเหวี่ยง (Momentum) ที่จะฟื้นการใช้จ่ายภาคเอกชนให้เข้าสู่สภาวะปกติได้ ผมจึงมีความเห็นว่า ปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงภายหลังการเลือกตั้ง เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในสภาวะที่ซบเซาอีกปีหนึ่ง โดยเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 2.5-3.5 เท่านั้น ผมหวังว่าวัฏจักรเศรษฐกิจโลกอาจจะกลับมาเป็นช่วงขาขึ้นในปี 2552 และเวลานั้นเศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวและปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติได้
กำลังโหลดความคิดเห็น