.
รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพื่อนำการเมืองไทยเข้าสู่สภาวะปกติ กล่าวคือ มีการปกครองแบบประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง น่าจะดำเนินไปตามครรลอง ซึ่งประชาชนต่างคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถแก้ไขปัญหาที่สำคัญ 5 ประการ คือ ประการแรก คือการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าทุกอย่างกำลังเข้ารูปเข้ารอย ประการที่สอง คือ แก้ปัญหาเร่งด่วนคือความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้ ประการที่สาม คือ ความสมานฉันท์ในสังคมไทย ประการที่สี่ คือ ความยากจนของคนในชนบท ประการสุดท้าย คือ ภาพลักษณ์ในสังคมนานาชาติ
แต่ถ้ามองในภาพรวม ประเด็นปัญหาสังคมไทยมีอยู่มากมายซึ่งจำเป็นต้องตระหนักและต้องทำการแก้ไขโดยผู้รับผิดชอบ ปัญหาบางปัญหาเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน แต่เนื่องจากขาดความมุ่งมั่นทางการเมืองและเกิดความขัดแย้งกันทางผลประโยชน์ระหว่างผู้ได้เปรียบและผู้เสียเปรียบ รวมตลอดทั้งความบกพร่องของระบบ ทำให้ปัญหาดังกล่าวดำเนินมาตราบทุกวันนี้
ประเด็นปัญหาที่จะกล่าวถึงมีดังต่อไปนี้ คือ
1. คนจำนวนมากที่เป็นเกษตรกรหรือชาวนายังอยู่ในสภาพยากจน หนี้สินล้นพ้นตัว ขาดความแน่ใจในราคาพืชผลทางการเกษตร ติดหนี้สินด้วยการกู้เงินนอกระบบ ความยากจนของชาวนาซึ่งเคยถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติยังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้มาจนบัดนี้
2. ผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยยังถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย บางส่วนก็เอารัดเอาเปรียบคนงานต่างชาติเพราะค่าแรงถูกกว่า นอกจากนั้นยังมีการใช้แรงงานเด็ก มีการทำทารุณกรรม ที่สำคัญ สภาพแวดล้อมการทำงาน สภาพความเป็นอยู่ ยังไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ควรเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามกฎหมายแรงงานและมาตรฐานที่กำหนดโดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ นอกเหนือจากนั้นความรู้ขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานก็ยังขาดตกบกพร่อง เช่น มีการอ๊อกเหล็กโดยไม่ใส่แว่นดำอันจะเห็นได้ทั่วไป ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ คนยากจนที่เป็นผู้ใช้แรงงานหรือชนชั้นกรรมาชีพก็อยู่ในสภาพเดียวกับชาวนาหรือเกษตรกร ทั้งๆ ที่บุคคลเหล่านี้มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นผู้ทำรายได้ให้กับนายทุนซึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ปัญหาดังกล่าวนี้ต้องมีการแก้ไขมิฉะนั้นจะกลายเป็นประเด็นทางสังคม การเมือง รวมทั้งเศรษฐกิจ
3. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ในอดีตงบประมาณเพื่อการศึกษาระดับประถม มัธยม มีสัดส่วนที่น้อยกว่าการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัย สภาวะดังกล่าวน่าจะดีขึ้นในปัจจุบันแต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าการศึกษาของไทยยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่ห่างไกล รายได้ของครูไม่พอกับการยังชีพ และที่สำคัญระบบการเรียนการสอนล้าสมัยไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมภายในและสังคมโลก มุ่งเน้นแต่การศึกษาทางวิทยาการด้วยการท่องจำ แต่บกพร่องในเรื่องการสร้างศีลธรรม จริยธรรม และบุคลิกภาพที่สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่
4. ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ จะมีการออกกฎหมายเก็บภาษีทางตรง คือ ภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก มีแต่การเก็บภาษีโรงเรือน ส่วนภาษีมรดกนั้นแทบจะไม่มีความหมายในแง่ที่เกี่ยวพันกับการแจกแจงรายได้เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจมากจนเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้เพราะผู้คุมการออกกฎหมายล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีฐานะดีทั้งสิ้น
5. การใช้งบประมาณแผ่นดินมีการรั่วไหลอย่างมาก สมองกลที่ซื้อมาราคา 7,000 บาท กลายเป็น 60,000 บาท ทั้งๆ ที่โรงเรียนหลายแห่งไม่มีไฟฟ้าที่จะใช้สมองกลดังกล่าว ความไร้เหตุผลของการใช้งบประมาณยังบ่งชี้ถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างอำนาจต่อรองทางการเมือง ในขณะที่มีสะพานแขวนอันน่าทึ่งใน กทม. แต่หมู่บ้านหลายแห่งในชนบทยังขาดไฟฟ้าและน้ำประปา การใช้งบประมาณเป็นการเมืองขั้นสูงสุด บ่งชี้ถึงอำนาจต่อรองของกลุ่มการเมืองและอุดมการณ์ของผู้บริหารประเทศ
6. ความเจริญยังกระจุกตัวอยู่ที่ กทม. เหมือนเดิมถึงแม้จะมีการกระจายไปในชนบทแล้วก็ตาม กทม. เสมือนหนึ่งประเทศไทยและเป็นประเทศที่ประกอบด้วยคน 6-8 ล้านคน ที่ร่ำรวย มีการศึกษา และครองไว้ซึ่งอำนาจในการจัดการบริหาร ประเทศที่มีเมืองหัวโตเช่นนี้จะตามมาด้วยปัญหาต่างๆ อันเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว
7. การกระจายอำนาจเพื่อการปกครองตนเองได้ก้าวไกลมาถึงจุดที่มีความหมายทางการเมืองและการบริหาร แต่น่าเสียดายที่เกิดขึ้นช้าเกินไป อย่างไรก็ตาม การสูญเสียทรัพยากรจากการไม่ชอบมาพากลของการใช้งบประมาณเป็นที่ทราบกันอยู่ ความรู้ทางเทคนิคในด้านการบริหารจะต้องมีการปรับปรุงอีกมากซึ่งก็มีกระบวนการแก้ไขปรับปรุงอยู่ในขณะนี้ การปกครองท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานรากของประชาชนเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง
8. ระบบราชการซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการที่สหภาพโซเวียตเรียกว่า Intelligentzia ยังคงไว้ซึ่งทัศนคติแบบเจ้าคนนายคนแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วในระดับหนึ่ง และยังมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฎหมายเพื่อป้องกันตนเอง ที่สำคัญคือ ความรู้ ความสามารถ ทัศนคติ ที่ตามไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งภายในและภายนอก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความบกพร่องของระบบการศึกษา
9. ในอดีตมีการกล่าวว่า จำนวนนายแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยของไทยกระจุกตัวอยู่ที่ กทม. 1 ใน 3 ไปทำงานในชนบท 1 ใน 3 และไปต่างประเทศ 1 ใน 3 เข้าใจว่าสภาวะดังกล่าวนี้คงเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แพทย์ในชนบทคงมีมากขึ้น แพทย์ที่ไปต่างประเทศคงมีน้อยลง แต่ กทม. ยังเป็นศูนย์กลางของการแพทย์สมัยใหม่ซึ่งคนจนไม่สามารถเข้ารักษาได้ ผู้ใช้บริการคือคนที่มีฐานะและคนไข้ต่างชาติ
10. ระบบการค้าแบบครอบครัวซึ่งเริ่มต้นด้วยคนจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีน ทั้งขายปลีกสินค้าหลากชนิด (โชวห่วย) และขายส่ง ล้าสมัยไม่ทันกาล ทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับต่างชาติได้ นี่คือประเด็นปัญหาที่ต้องมีการปรับตัวอย่างขนานใหญ่ ระบบธุรกิจแบบครอบครัวผูกขาดการตัดสินใจอยู่ที่เตี่ยและเสี่ย (ตั้วเฮียหรือลูกชายคนโต) บ่อยครั้งนำไปสู่ความขัดแย้งในครอบครัว และมีการศึกษาแล้วว่าถ้าไม่มีการใช้มืออาชีพ หรือบริหารโดยใช้วิทยาการสมัยใหม่ หรือขยายกิจการทางการค้าขายให้กว้างขวางกว่าเดิมในสินค้าตัวใหม่ มักจะล่มสลายลงในรุ่นที่สาม
11. จากการวิจัยของนักวิชาการค้นพบว่า เศรษฐกิจในการค้าขาย การผลิต การเงิน-การธนาคาร การบริการ ของประเทศไทยอยู่ในมือของ 50 ตระกูล หรือถ้าจะเจาะลึกลงไปกว่านั้นอาจจะประมาณ 10 ตระกูลที่ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ตั้งแต่การสั่งเข้า-ส่งออก การผลิตทางอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และธุรกิจบริการต่างๆ โดยกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีสาขาโยงใยกันมากมายทั้งภายในและต่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจของไทยจึงมีลักษณะการผูกขาดโดยกลุ่มธุรกิจไม่กี่ตระกูล เข้าลักษณะ oligopoly แม้กระทั่งสื่อมวลชนซึ่งประกอบด้วย หนังสือพิมพ์ วิทยุ วิทยุโทรทัศน์ และเว็บไซต์ต่างๆ ในเจ้าของคนเดียวหรือบริษัทเดียว ซึ่งในต่างประเทศจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย
เมื่อเป็นเช่นนี้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้จึงมีบทบาทและอำนาจต่อรองทางการเมือง และพยายามหาโอกาสมีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมือง หรือเข้าเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงเพื่อมีโอกาสเกาะเกี่ยวอำนาจรัฐหรือได้อำนาจรัฐ นี่คือที่มาของธนาธิปไตย ซึ่งทำให้การปฏิรูปการเมืองและการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเป็นไปได้ยาก ส่งผลโดยตรงต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่ามีการเปลี่ยนจากการชำระค่าสัมปทานจากธุรกิจสื่อให้กับรัฐมาเป็นภาษีสรรพสามิต นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่ทำให้รัฐเสียรายได้ และนี่อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความยากลำบากให้มีการออกกฎหมายภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก รวมตลอดทั้งการเก็บภาษีการถือครองที่ดินขนาดใหญ่ที่ไม่ทำประโยชน์ นี่คือข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธได้ยาก การผูกขาดธุรกิจเยี่ยงนี้จะต่อเนื่องยาวนานเนื่องจากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีทรัพยากรพอที่จะให้ลูกหลานศึกษาเล่าเรียนระดับสูงในต่างประเทศ จึงมีทั้งข้อมูลความรู้ ความคิด ที่จะขยายวงธุรกิจต่อไป และยิ่งมีการขยายไปเป็นบริษัทมหาชนก็ทำให้สามารถหลุดพ้นจากวัฏจักรแห่งการล่มสลายของรุ่นที่สามได้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้จะทำอย่างไรเป็นคำถามที่สังคมต้องช่วยกันหาคำตอบ แต่ข้อสังเกตก็คือ ตราบเท่าที่ระบบภาษีมีความยุติธรรม และตราบเท่าที่มีการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเสรี การประกอบธุรกิจเยี่ยงนี้ไม่ขัดต่อหลักการเศรษฐกิจทุนนิยมโดยอาศัยกลไกของตลาด
12. สังคมไทยโดยรวมยังเป็นสังคมที่มีความสงบ มีมิตรไมตรีต่อกัน แต่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือการมองข้ามศีลธรรมและจริยธรรม มุ่งเน้นที่วัตถุนิยม บริโภคนิยม และเงินตรานิยม หาความสนุกสนานไปวันๆ ไร้แก่นสารและสาระของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรุ่นเยาว์วัย
13. คนในสังคมบางส่วนขาดความเชื่อมั่นเนื่องจากความจนและเขลา หรือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ทำให้ฝากความหวังไว้ที่ตัวบุคคลแทนที่จะเป็นหลักการความถูกต้อง และเมื่อหาตัวบุคคลไม่ได้ก็มุ่งเน้นที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวโดยลืมคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของศาสนา สภาวะดังกล่าวนี้อาจนำไปสู่สภาพของความเคว้งคว้างและวังเวงทางจิตใจ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งในภาพรวม
14. ปัญหาที่เผชิญมาตลอดระยะเวลาสิบๆ ปีและยังไม่สามารถแก้ไขอย่างได้ผล คือปัญหาความแห้งแล้ง และปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นอยู่อย่างนี้มาเป็นทศวรรษและไม่มีทีท่าว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ทำให้โยงใยกับความยากจนของเกษตรกรและความยากลำบากในการดำรงชีวิต ประกอบกับความไร้ประสิทธิภาพของระบบตรวจสอบและการขาดจิตสำนึกของผู้คนทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งมีผลทำให้ปัญหาหนักหน่วงยิ่งขึ้น
15. ระบบการเมืองยังด้อยพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด 75 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สังคมไทยยังไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องกฎกติกาคือรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีมาแล้ว 18 ฉบับ การปฏิวัติ รัฐประหาร เกิดขึ้นอย่างดาษดื่น โดยเฉลี่ยแล้ว 3.1 ปีต่อครั้ง มีรัฐบาลทั้งสิ้น 52 ชุด เฉลี่ย 1.4 ปีต่อชุด ในส่วนของรัฐธรรมนูญนั้นเฉลี่ย 4.66 ปีต่อฉบับ และที่สำคัญนักการเมืองยังค่านิยมและพฤติกรรมเหมือนเดิม ส่วนใหญ่เป็นนักเลือกตั้ง คณะรัฐบาลมักฉ้อราษฎร์บังหลวง ละเมิดกฎหมาย ขาดศีลธรรม จริยธรรมและอุดมการณ์
16. กระบวนการทางการเมืองยังเป็นธุรกิจการเมือง ผสมผสานระหว่างอมาตยาธิปไตยและธนาธิปไตย ธุรกิจการเมืองหรือวาณิชยาธิปไตย นำไปสู่การบิดเบือนการตัดสินใจที่ถูกต้อง เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง เล่นพรรคเล่นพวกในระบบอุปถัมภ์
17. ในระบบการเมืองและระบบราชการมุ่งเน้นที่ระบบพรรคพวกเป็นหลัก และเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนทำให้คำกล่าวที่ว่า “อยุธยาไม่สิ้นคนดี” ทำให้ต้องมองในมิติที่ต่างออกไปคือ “อยุธยาไม่ใช้คนดี” และ “อยุธยาไม่รักษาคนดี” คนดีถูกกระบวนการทางการเมืองปัดแข้งปัดขา เลื่อยขาเก้าอี้ จนน้ำดีหลุดออกไปจากวงราชการและการเมือง การเหยียบศีรษะคนอื่นเพื่อขึ้นไปสู่ตำแหน่งอำนาจนั้นเป็นการรังแกกันซึ่งเทียนวรรณได้เคยกล่าวไว้ในหนังสือมาแล้วว่า “คนไทยชอบรังแกกันเอง”
18. ระบบกฎหมายซึ่งจะต้องธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม (the rule of law) อันหมายถึงกระบวนการการออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีหลักการและนิติปรัชญาเป็นเครื่องชี้นำ แต่ในหลายส่วนหลักนิติธรรมกำลังกลายเป็นหลักนิติกลวิธี (the rule by law) ซึ่งทำให้เกิดความสับสนและขาดหลักยึดในกระบวนการยุติธรรม อันจะส่งผลในทางลบต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างมหาศาล
19. ระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในขั้นอุดมศึกษาในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกกำลังกลายเป็นการประกอบธุรกิจ มีการกล่าวว่า “จ่ายครบจบแน่” สถาบันการศึกษาหลายแห่งแข่งขันกันเพื่อจะหารายได้ การบริหารมุ่งเน้นในการอยู่รอดทางธุรกิจโดยใช้กำไรขาดทุนเป็นหลัก นักศึกษาก็มุ่งเน้นแต่การศึกษาเพื่อจบปริญญาโดยไม่มีทัศนคติที่ถูกต้อง และไม่มีความตั้งใจที่จะศึกษาหาความรู้อย่างแท้จริง แม้ในระดับคนที่เป็นครูอาจารย์แต่ต้องการปรับปรุงตนเองโดยการศึกษาปริญญาเอกก็ยังมีการเข้าเรียนสาย ขาดเรียนบ่อยครั้ง โดยมีข้อแก้ตัวต่างๆ เมื่อมีการตรวจสอบด้วยการลงลายมือชื่อก็มีการลงชื่อแทนกัน พฤติกรรมดังกล่าวนี้มิได้แตกต่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ขาดประชุม หรือเมื่อลงชื่อแล้วก็หนีการประชุม ทั้งหมดนี้มาจากวัฒนธรรมที่ขาดระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ การใฝ่รู้ และที่สำคัญคือการขาดความเคารพตัวเอง (self esteem)
20. ภาษาต่างประเทศซึ่งเป็นภาษาสากล เป็นกุญแจไขไปสู่ความรู้คือภาษาอังกฤษ แต่การเรียนการสอนที่ผ่านมาเกือบ 100 ปีก็ยังไม่สามารถจะสอนให้คนใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องและคล่องแคล่ว ทำให้เกิดการเสียเปรียบประเทศอื่นทั้งในการพูด การอ่าน และการเขียน การเจรจาความเมืองและอื่นๆ ที่สำคัญคือทัศนคติที่ผิดอย่างมหันต์ หรือคำกล่าวที่ว่า ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาพ่อแม่ของเรา และเมื่อจะเอ่ยคำภาษาอังกฤษต้องมีการขอโทษ ทั้งๆ ที่ภาษาที่พูดอยู่ประจำวันนั้นเต็มไปด้วยภาษาเขมร ภาษาจีน บาลีสันสกฤต
21. คนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยขาดความเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศ ทั้งในแง่ระบบการเมืองและความสัมพันธ์ทางสังคม รวมทั้งกระบวนการอื่นๆ จนทำให้มีการหันไปพึ่งอำนาจเหนือธรรมชาติและทำงานอย่างสุกเอาเผากิน ฉกฉวยเอาผลประโยชน์ซึ่งหน้าไว้ก่อนเพราะไม่มีอะไรแน่นอนในชีวิต
22. สังคมที่ขาดอุดมการณ์และหลักการจะมุ่งหาตัวบุคคลเป็นหลัก จะคอยชำเลืองมองคนที่อาวุโส “เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด” “ผู้ใหญ่ขอร้องมา” “ผู้ใหญ่สั่งมา” ทั้งๆ ที่ตัวผู้พูดนั้นอาจจะจบปริญญาเอกเป็นศาสตราจารย์ อายุเกิน 60 ไปแล้ว ก็ยังอ้างผู้อาวุโสตลอดเวลา จุดนี้เป็นจุดด้อยที่สุดเพราะแสดงให้เห็นถึงการขาดหลักการจึงมุ่งไปที่ตัวบุคคลเป็นสรณะ
23. สังคมใดก็ตามที่พูดถึงความรุ่งเรืองของอดีตบ่อยครั้ง สะท้อนถึงความไม่พอใจในปัจจุบัน และยังบ่งชี้ถึงความไม่มั่นใจในอนาคต ผู้ที่เอ่ยถึงความรุ่งเรืองของตระกูลตนเองบ่อยครั้งมักจะเป็นผู้ยากจนในปัจจุบัน นี่คือสภาพจิตวิทยาของมนุษย์โดยทั่วไป การแก้ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่การมองหาอดีตแต่เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องพูดถึงปัจจุบันและวางแผนอนาคต ประเทศที่มองเห็นอนาคตขณะนี้คือจีนและเวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านเราประเทศหนึ่งซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่มาก และขณะนี้ปกครองโดยทหาร ยังคงมีชีวิตอยู่กับอดีต
24. การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ยังไม่มีการเน้นในสังคมไทย และเมื่อเทียบส่วนกับรายได้มวลรวมชาติยังต่ำกว่าเกาหลีมาก เมื่อขาดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก็จะสั่งซื้อจากต่างประเทศทำให้ขาดดุลการค้า การขาดดุลการค้าคือการขาดดุลทางเทคโนโลยีตามที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำรง ลัทธพิพัฒน์ ได้เคยกล่าวไว้ การด้อยพัฒนาในทางเทคโนโลยีทำให้โอกาสที่จะพัฒนาสังคมให้เทียมทันกับประเทศที่พัฒนา เช่น เกาหลีและญี่ปุ่นห่างไกลออกไป และนี่เป็นจุดบอดทางการศึกษาและค่านิยมของสังคมไทย
25. จากที่กล่าวมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 24 ทำให้ธุรกิจดังต่อไปนี้ถูกครอบงำโดยต่างชาติหรือต้องพึ่งพาคนต่างชาติ จนเป็นเรื่องที่น่ากริ่งเกรงว่าจะเกิดผลลบต่อสังคมโดยรวม ธุรกิจที่กล่าวถึงคือ ก) การสื่อสาร ข) การขนส่ง ค) การเงิน-การธนาคาร ง) พลังงาน จ) การก่อสร้างที่ต้องใช้วิทยาการขั้นสูง เช่น รถไฟฟ้า รถใต้ดิน ฉ) การขายส่ง ช) การขายปลีก ซ) สินค้าแบรนด์เนม
รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งนอกเหนือจากปัญหา 5 ข้อที่กล่าวมาแล้ว คงต้องหันมาพิจารณาปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด 25 ข้อ ทำให้สรุปได้ว่าในระยะสั้นซึ่งได้แก่ปัญหา 5 ข้อนั้นก็เป็นเรื่องที่หนักอึ้งอยู่แล้ว แต่ในระยะยาวจะมีภารกิจที่หนักหน่วงเป็นอย่างยิ่ง แต่การแก้ปัญหาทั้งหลายที่กล่าวมาจะพึ่งแต่รัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ภาคเอกชนและภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก และเบื้องต้นในส่วนของภาคประชาชนนั้นจะต้องโหมโรงมุ่งเน้นในเรื่องการศึกษาโดยการปฏิรูปการศึกษา ขณะเดียวกันต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมหลายส่วนที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยด้วยการปฏิรูปวัฒนธรรม และถ้าสังเกตให้ดีประเทศที่มุ่งเน้นการปฏิรูปการศึกษาและวัฒนธรรมที่มองเห็นได้คือประเทศจีนและเวียดนาม การศึกษาที่มุ่งเน้นการท่องจำและไม่สอนให้คิดวิเคราะห์ ย่อมไม่นำไปสู่ความคิดและปัญญา จำเป็นต้องมีการแก้ไข วัฒนธรรมที่ไม่มีระเบียบวินัย ไม่ตรงต่อเวลา ประจบสอพลอ เชื่ออำนาจเหนือธรรมชาติ ไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม มีเหลี่ยมคูในการโกง เล่นพรรคเล่นพวก สนุกสนานจนเกินขอบเขต คิดตื้นๆ ไร้สาระ ใช้วาทศิลป์ในการเจรจา แสดงสำบัดสำนวนเป็นหลัก พูดจาจาบจ้วง หยาบคาย ขาดคุณสมบัติผู้ดี อคติ ใช้อารมณ์ ขาดข้อมูลหรือขาดความรู้ หรือใช้ความรู้ที่เรียนมาซึ่งมีจำกัดจึงพึ่งสามัญสำนึกและหัวชนฝาด้วยชาตินิยมแบบคลั่งชาติ (ซึ่งจะมีตัวอย่างให้เห็นได้ในเว็บไซต์ที่วิพากษ์ตัวบุคคลหรือข้อเขียนต่างๆ)
ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมานี้ถ้าไม่แก้ไขจะเป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปข้างหน้าของสังคมไทย ภารกิจของรัฐบาลใหม่จึงเป็นภารกิจที่หนักยิ่ง หนทางของรัฐบาลจึงไม่ใช่ถนนที่โรยไปด้วยดอกกุหลาบ ต้องอาศัยความรู้ความสามารถ ความอดทน อุดมการณ์ ความมุ่งมั่นทางการเมือง จึงจะทำงานได้ผล
รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพื่อนำการเมืองไทยเข้าสู่สภาวะปกติ กล่าวคือ มีการปกครองแบบประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง น่าจะดำเนินไปตามครรลอง ซึ่งประชาชนต่างคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถแก้ไขปัญหาที่สำคัญ 5 ประการ คือ ประการแรก คือการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าทุกอย่างกำลังเข้ารูปเข้ารอย ประการที่สอง คือ แก้ปัญหาเร่งด่วนคือความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้ ประการที่สาม คือ ความสมานฉันท์ในสังคมไทย ประการที่สี่ คือ ความยากจนของคนในชนบท ประการสุดท้าย คือ ภาพลักษณ์ในสังคมนานาชาติ
แต่ถ้ามองในภาพรวม ประเด็นปัญหาสังคมไทยมีอยู่มากมายซึ่งจำเป็นต้องตระหนักและต้องทำการแก้ไขโดยผู้รับผิดชอบ ปัญหาบางปัญหาเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน แต่เนื่องจากขาดความมุ่งมั่นทางการเมืองและเกิดความขัดแย้งกันทางผลประโยชน์ระหว่างผู้ได้เปรียบและผู้เสียเปรียบ รวมตลอดทั้งความบกพร่องของระบบ ทำให้ปัญหาดังกล่าวดำเนินมาตราบทุกวันนี้
ประเด็นปัญหาที่จะกล่าวถึงมีดังต่อไปนี้ คือ
1. คนจำนวนมากที่เป็นเกษตรกรหรือชาวนายังอยู่ในสภาพยากจน หนี้สินล้นพ้นตัว ขาดความแน่ใจในราคาพืชผลทางการเกษตร ติดหนี้สินด้วยการกู้เงินนอกระบบ ความยากจนของชาวนาซึ่งเคยถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติยังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้มาจนบัดนี้
2. ผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยยังถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย บางส่วนก็เอารัดเอาเปรียบคนงานต่างชาติเพราะค่าแรงถูกกว่า นอกจากนั้นยังมีการใช้แรงงานเด็ก มีการทำทารุณกรรม ที่สำคัญ สภาพแวดล้อมการทำงาน สภาพความเป็นอยู่ ยังไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ควรเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามกฎหมายแรงงานและมาตรฐานที่กำหนดโดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ นอกเหนือจากนั้นความรู้ขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานก็ยังขาดตกบกพร่อง เช่น มีการอ๊อกเหล็กโดยไม่ใส่แว่นดำอันจะเห็นได้ทั่วไป ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ คนยากจนที่เป็นผู้ใช้แรงงานหรือชนชั้นกรรมาชีพก็อยู่ในสภาพเดียวกับชาวนาหรือเกษตรกร ทั้งๆ ที่บุคคลเหล่านี้มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นผู้ทำรายได้ให้กับนายทุนซึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ปัญหาดังกล่าวนี้ต้องมีการแก้ไขมิฉะนั้นจะกลายเป็นประเด็นทางสังคม การเมือง รวมทั้งเศรษฐกิจ
3. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ในอดีตงบประมาณเพื่อการศึกษาระดับประถม มัธยม มีสัดส่วนที่น้อยกว่าการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัย สภาวะดังกล่าวน่าจะดีขึ้นในปัจจุบันแต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าการศึกษาของไทยยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่ห่างไกล รายได้ของครูไม่พอกับการยังชีพ และที่สำคัญระบบการเรียนการสอนล้าสมัยไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมภายในและสังคมโลก มุ่งเน้นแต่การศึกษาทางวิทยาการด้วยการท่องจำ แต่บกพร่องในเรื่องการสร้างศีลธรรม จริยธรรม และบุคลิกภาพที่สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่
4. ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ จะมีการออกกฎหมายเก็บภาษีทางตรง คือ ภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก มีแต่การเก็บภาษีโรงเรือน ส่วนภาษีมรดกนั้นแทบจะไม่มีความหมายในแง่ที่เกี่ยวพันกับการแจกแจงรายได้เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจมากจนเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้เพราะผู้คุมการออกกฎหมายล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีฐานะดีทั้งสิ้น
5. การใช้งบประมาณแผ่นดินมีการรั่วไหลอย่างมาก สมองกลที่ซื้อมาราคา 7,000 บาท กลายเป็น 60,000 บาท ทั้งๆ ที่โรงเรียนหลายแห่งไม่มีไฟฟ้าที่จะใช้สมองกลดังกล่าว ความไร้เหตุผลของการใช้งบประมาณยังบ่งชี้ถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างอำนาจต่อรองทางการเมือง ในขณะที่มีสะพานแขวนอันน่าทึ่งใน กทม. แต่หมู่บ้านหลายแห่งในชนบทยังขาดไฟฟ้าและน้ำประปา การใช้งบประมาณเป็นการเมืองขั้นสูงสุด บ่งชี้ถึงอำนาจต่อรองของกลุ่มการเมืองและอุดมการณ์ของผู้บริหารประเทศ
6. ความเจริญยังกระจุกตัวอยู่ที่ กทม. เหมือนเดิมถึงแม้จะมีการกระจายไปในชนบทแล้วก็ตาม กทม. เสมือนหนึ่งประเทศไทยและเป็นประเทศที่ประกอบด้วยคน 6-8 ล้านคน ที่ร่ำรวย มีการศึกษา และครองไว้ซึ่งอำนาจในการจัดการบริหาร ประเทศที่มีเมืองหัวโตเช่นนี้จะตามมาด้วยปัญหาต่างๆ อันเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว
7. การกระจายอำนาจเพื่อการปกครองตนเองได้ก้าวไกลมาถึงจุดที่มีความหมายทางการเมืองและการบริหาร แต่น่าเสียดายที่เกิดขึ้นช้าเกินไป อย่างไรก็ตาม การสูญเสียทรัพยากรจากการไม่ชอบมาพากลของการใช้งบประมาณเป็นที่ทราบกันอยู่ ความรู้ทางเทคนิคในด้านการบริหารจะต้องมีการปรับปรุงอีกมากซึ่งก็มีกระบวนการแก้ไขปรับปรุงอยู่ในขณะนี้ การปกครองท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานรากของประชาชนเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง
8. ระบบราชการซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการที่สหภาพโซเวียตเรียกว่า Intelligentzia ยังคงไว้ซึ่งทัศนคติแบบเจ้าคนนายคนแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วในระดับหนึ่ง และยังมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฎหมายเพื่อป้องกันตนเอง ที่สำคัญคือ ความรู้ ความสามารถ ทัศนคติ ที่ตามไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งภายในและภายนอก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความบกพร่องของระบบการศึกษา
9. ในอดีตมีการกล่าวว่า จำนวนนายแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยของไทยกระจุกตัวอยู่ที่ กทม. 1 ใน 3 ไปทำงานในชนบท 1 ใน 3 และไปต่างประเทศ 1 ใน 3 เข้าใจว่าสภาวะดังกล่าวนี้คงเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แพทย์ในชนบทคงมีมากขึ้น แพทย์ที่ไปต่างประเทศคงมีน้อยลง แต่ กทม. ยังเป็นศูนย์กลางของการแพทย์สมัยใหม่ซึ่งคนจนไม่สามารถเข้ารักษาได้ ผู้ใช้บริการคือคนที่มีฐานะและคนไข้ต่างชาติ
10. ระบบการค้าแบบครอบครัวซึ่งเริ่มต้นด้วยคนจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีน ทั้งขายปลีกสินค้าหลากชนิด (โชวห่วย) และขายส่ง ล้าสมัยไม่ทันกาล ทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับต่างชาติได้ นี่คือประเด็นปัญหาที่ต้องมีการปรับตัวอย่างขนานใหญ่ ระบบธุรกิจแบบครอบครัวผูกขาดการตัดสินใจอยู่ที่เตี่ยและเสี่ย (ตั้วเฮียหรือลูกชายคนโต) บ่อยครั้งนำไปสู่ความขัดแย้งในครอบครัว และมีการศึกษาแล้วว่าถ้าไม่มีการใช้มืออาชีพ หรือบริหารโดยใช้วิทยาการสมัยใหม่ หรือขยายกิจการทางการค้าขายให้กว้างขวางกว่าเดิมในสินค้าตัวใหม่ มักจะล่มสลายลงในรุ่นที่สาม
11. จากการวิจัยของนักวิชาการค้นพบว่า เศรษฐกิจในการค้าขาย การผลิต การเงิน-การธนาคาร การบริการ ของประเทศไทยอยู่ในมือของ 50 ตระกูล หรือถ้าจะเจาะลึกลงไปกว่านั้นอาจจะประมาณ 10 ตระกูลที่ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ตั้งแต่การสั่งเข้า-ส่งออก การผลิตทางอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และธุรกิจบริการต่างๆ โดยกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีสาขาโยงใยกันมากมายทั้งภายในและต่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจของไทยจึงมีลักษณะการผูกขาดโดยกลุ่มธุรกิจไม่กี่ตระกูล เข้าลักษณะ oligopoly แม้กระทั่งสื่อมวลชนซึ่งประกอบด้วย หนังสือพิมพ์ วิทยุ วิทยุโทรทัศน์ และเว็บไซต์ต่างๆ ในเจ้าของคนเดียวหรือบริษัทเดียว ซึ่งในต่างประเทศจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย
เมื่อเป็นเช่นนี้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้จึงมีบทบาทและอำนาจต่อรองทางการเมือง และพยายามหาโอกาสมีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมือง หรือเข้าเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงเพื่อมีโอกาสเกาะเกี่ยวอำนาจรัฐหรือได้อำนาจรัฐ นี่คือที่มาของธนาธิปไตย ซึ่งทำให้การปฏิรูปการเมืองและการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเป็นไปได้ยาก ส่งผลโดยตรงต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่ามีการเปลี่ยนจากการชำระค่าสัมปทานจากธุรกิจสื่อให้กับรัฐมาเป็นภาษีสรรพสามิต นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่ทำให้รัฐเสียรายได้ และนี่อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความยากลำบากให้มีการออกกฎหมายภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก รวมตลอดทั้งการเก็บภาษีการถือครองที่ดินขนาดใหญ่ที่ไม่ทำประโยชน์ นี่คือข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธได้ยาก การผูกขาดธุรกิจเยี่ยงนี้จะต่อเนื่องยาวนานเนื่องจากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีทรัพยากรพอที่จะให้ลูกหลานศึกษาเล่าเรียนระดับสูงในต่างประเทศ จึงมีทั้งข้อมูลความรู้ ความคิด ที่จะขยายวงธุรกิจต่อไป และยิ่งมีการขยายไปเป็นบริษัทมหาชนก็ทำให้สามารถหลุดพ้นจากวัฏจักรแห่งการล่มสลายของรุ่นที่สามได้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้จะทำอย่างไรเป็นคำถามที่สังคมต้องช่วยกันหาคำตอบ แต่ข้อสังเกตก็คือ ตราบเท่าที่ระบบภาษีมีความยุติธรรม และตราบเท่าที่มีการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเสรี การประกอบธุรกิจเยี่ยงนี้ไม่ขัดต่อหลักการเศรษฐกิจทุนนิยมโดยอาศัยกลไกของตลาด
12. สังคมไทยโดยรวมยังเป็นสังคมที่มีความสงบ มีมิตรไมตรีต่อกัน แต่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือการมองข้ามศีลธรรมและจริยธรรม มุ่งเน้นที่วัตถุนิยม บริโภคนิยม และเงินตรานิยม หาความสนุกสนานไปวันๆ ไร้แก่นสารและสาระของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรุ่นเยาว์วัย
13. คนในสังคมบางส่วนขาดความเชื่อมั่นเนื่องจากความจนและเขลา หรือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ทำให้ฝากความหวังไว้ที่ตัวบุคคลแทนที่จะเป็นหลักการความถูกต้อง และเมื่อหาตัวบุคคลไม่ได้ก็มุ่งเน้นที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวโดยลืมคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของศาสนา สภาวะดังกล่าวนี้อาจนำไปสู่สภาพของความเคว้งคว้างและวังเวงทางจิตใจ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งในภาพรวม
14. ปัญหาที่เผชิญมาตลอดระยะเวลาสิบๆ ปีและยังไม่สามารถแก้ไขอย่างได้ผล คือปัญหาความแห้งแล้ง และปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นอยู่อย่างนี้มาเป็นทศวรรษและไม่มีทีท่าว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ทำให้โยงใยกับความยากจนของเกษตรกรและความยากลำบากในการดำรงชีวิต ประกอบกับความไร้ประสิทธิภาพของระบบตรวจสอบและการขาดจิตสำนึกของผู้คนทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งมีผลทำให้ปัญหาหนักหน่วงยิ่งขึ้น
15. ระบบการเมืองยังด้อยพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด 75 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สังคมไทยยังไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องกฎกติกาคือรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีมาแล้ว 18 ฉบับ การปฏิวัติ รัฐประหาร เกิดขึ้นอย่างดาษดื่น โดยเฉลี่ยแล้ว 3.1 ปีต่อครั้ง มีรัฐบาลทั้งสิ้น 52 ชุด เฉลี่ย 1.4 ปีต่อชุด ในส่วนของรัฐธรรมนูญนั้นเฉลี่ย 4.66 ปีต่อฉบับ และที่สำคัญนักการเมืองยังค่านิยมและพฤติกรรมเหมือนเดิม ส่วนใหญ่เป็นนักเลือกตั้ง คณะรัฐบาลมักฉ้อราษฎร์บังหลวง ละเมิดกฎหมาย ขาดศีลธรรม จริยธรรมและอุดมการณ์
16. กระบวนการทางการเมืองยังเป็นธุรกิจการเมือง ผสมผสานระหว่างอมาตยาธิปไตยและธนาธิปไตย ธุรกิจการเมืองหรือวาณิชยาธิปไตย นำไปสู่การบิดเบือนการตัดสินใจที่ถูกต้อง เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง เล่นพรรคเล่นพวกในระบบอุปถัมภ์
17. ในระบบการเมืองและระบบราชการมุ่งเน้นที่ระบบพรรคพวกเป็นหลัก และเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนทำให้คำกล่าวที่ว่า “อยุธยาไม่สิ้นคนดี” ทำให้ต้องมองในมิติที่ต่างออกไปคือ “อยุธยาไม่ใช้คนดี” และ “อยุธยาไม่รักษาคนดี” คนดีถูกกระบวนการทางการเมืองปัดแข้งปัดขา เลื่อยขาเก้าอี้ จนน้ำดีหลุดออกไปจากวงราชการและการเมือง การเหยียบศีรษะคนอื่นเพื่อขึ้นไปสู่ตำแหน่งอำนาจนั้นเป็นการรังแกกันซึ่งเทียนวรรณได้เคยกล่าวไว้ในหนังสือมาแล้วว่า “คนไทยชอบรังแกกันเอง”
18. ระบบกฎหมายซึ่งจะต้องธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม (the rule of law) อันหมายถึงกระบวนการการออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีหลักการและนิติปรัชญาเป็นเครื่องชี้นำ แต่ในหลายส่วนหลักนิติธรรมกำลังกลายเป็นหลักนิติกลวิธี (the rule by law) ซึ่งทำให้เกิดความสับสนและขาดหลักยึดในกระบวนการยุติธรรม อันจะส่งผลในทางลบต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างมหาศาล
19. ระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในขั้นอุดมศึกษาในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกกำลังกลายเป็นการประกอบธุรกิจ มีการกล่าวว่า “จ่ายครบจบแน่” สถาบันการศึกษาหลายแห่งแข่งขันกันเพื่อจะหารายได้ การบริหารมุ่งเน้นในการอยู่รอดทางธุรกิจโดยใช้กำไรขาดทุนเป็นหลัก นักศึกษาก็มุ่งเน้นแต่การศึกษาเพื่อจบปริญญาโดยไม่มีทัศนคติที่ถูกต้อง และไม่มีความตั้งใจที่จะศึกษาหาความรู้อย่างแท้จริง แม้ในระดับคนที่เป็นครูอาจารย์แต่ต้องการปรับปรุงตนเองโดยการศึกษาปริญญาเอกก็ยังมีการเข้าเรียนสาย ขาดเรียนบ่อยครั้ง โดยมีข้อแก้ตัวต่างๆ เมื่อมีการตรวจสอบด้วยการลงลายมือชื่อก็มีการลงชื่อแทนกัน พฤติกรรมดังกล่าวนี้มิได้แตกต่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ขาดประชุม หรือเมื่อลงชื่อแล้วก็หนีการประชุม ทั้งหมดนี้มาจากวัฒนธรรมที่ขาดระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ การใฝ่รู้ และที่สำคัญคือการขาดความเคารพตัวเอง (self esteem)
20. ภาษาต่างประเทศซึ่งเป็นภาษาสากล เป็นกุญแจไขไปสู่ความรู้คือภาษาอังกฤษ แต่การเรียนการสอนที่ผ่านมาเกือบ 100 ปีก็ยังไม่สามารถจะสอนให้คนใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องและคล่องแคล่ว ทำให้เกิดการเสียเปรียบประเทศอื่นทั้งในการพูด การอ่าน และการเขียน การเจรจาความเมืองและอื่นๆ ที่สำคัญคือทัศนคติที่ผิดอย่างมหันต์ หรือคำกล่าวที่ว่า ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาพ่อแม่ของเรา และเมื่อจะเอ่ยคำภาษาอังกฤษต้องมีการขอโทษ ทั้งๆ ที่ภาษาที่พูดอยู่ประจำวันนั้นเต็มไปด้วยภาษาเขมร ภาษาจีน บาลีสันสกฤต
21. คนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยขาดความเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศ ทั้งในแง่ระบบการเมืองและความสัมพันธ์ทางสังคม รวมทั้งกระบวนการอื่นๆ จนทำให้มีการหันไปพึ่งอำนาจเหนือธรรมชาติและทำงานอย่างสุกเอาเผากิน ฉกฉวยเอาผลประโยชน์ซึ่งหน้าไว้ก่อนเพราะไม่มีอะไรแน่นอนในชีวิต
22. สังคมที่ขาดอุดมการณ์และหลักการจะมุ่งหาตัวบุคคลเป็นหลัก จะคอยชำเลืองมองคนที่อาวุโส “เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด” “ผู้ใหญ่ขอร้องมา” “ผู้ใหญ่สั่งมา” ทั้งๆ ที่ตัวผู้พูดนั้นอาจจะจบปริญญาเอกเป็นศาสตราจารย์ อายุเกิน 60 ไปแล้ว ก็ยังอ้างผู้อาวุโสตลอดเวลา จุดนี้เป็นจุดด้อยที่สุดเพราะแสดงให้เห็นถึงการขาดหลักการจึงมุ่งไปที่ตัวบุคคลเป็นสรณะ
23. สังคมใดก็ตามที่พูดถึงความรุ่งเรืองของอดีตบ่อยครั้ง สะท้อนถึงความไม่พอใจในปัจจุบัน และยังบ่งชี้ถึงความไม่มั่นใจในอนาคต ผู้ที่เอ่ยถึงความรุ่งเรืองของตระกูลตนเองบ่อยครั้งมักจะเป็นผู้ยากจนในปัจจุบัน นี่คือสภาพจิตวิทยาของมนุษย์โดยทั่วไป การแก้ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่การมองหาอดีตแต่เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องพูดถึงปัจจุบันและวางแผนอนาคต ประเทศที่มองเห็นอนาคตขณะนี้คือจีนและเวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านเราประเทศหนึ่งซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่มาก และขณะนี้ปกครองโดยทหาร ยังคงมีชีวิตอยู่กับอดีต
24. การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ยังไม่มีการเน้นในสังคมไทย และเมื่อเทียบส่วนกับรายได้มวลรวมชาติยังต่ำกว่าเกาหลีมาก เมื่อขาดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก็จะสั่งซื้อจากต่างประเทศทำให้ขาดดุลการค้า การขาดดุลการค้าคือการขาดดุลทางเทคโนโลยีตามที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำรง ลัทธพิพัฒน์ ได้เคยกล่าวไว้ การด้อยพัฒนาในทางเทคโนโลยีทำให้โอกาสที่จะพัฒนาสังคมให้เทียมทันกับประเทศที่พัฒนา เช่น เกาหลีและญี่ปุ่นห่างไกลออกไป และนี่เป็นจุดบอดทางการศึกษาและค่านิยมของสังคมไทย
25. จากที่กล่าวมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 24 ทำให้ธุรกิจดังต่อไปนี้ถูกครอบงำโดยต่างชาติหรือต้องพึ่งพาคนต่างชาติ จนเป็นเรื่องที่น่ากริ่งเกรงว่าจะเกิดผลลบต่อสังคมโดยรวม ธุรกิจที่กล่าวถึงคือ ก) การสื่อสาร ข) การขนส่ง ค) การเงิน-การธนาคาร ง) พลังงาน จ) การก่อสร้างที่ต้องใช้วิทยาการขั้นสูง เช่น รถไฟฟ้า รถใต้ดิน ฉ) การขายส่ง ช) การขายปลีก ซ) สินค้าแบรนด์เนม
รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งนอกเหนือจากปัญหา 5 ข้อที่กล่าวมาแล้ว คงต้องหันมาพิจารณาปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด 25 ข้อ ทำให้สรุปได้ว่าในระยะสั้นซึ่งได้แก่ปัญหา 5 ข้อนั้นก็เป็นเรื่องที่หนักอึ้งอยู่แล้ว แต่ในระยะยาวจะมีภารกิจที่หนักหน่วงเป็นอย่างยิ่ง แต่การแก้ปัญหาทั้งหลายที่กล่าวมาจะพึ่งแต่รัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ภาคเอกชนและภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก และเบื้องต้นในส่วนของภาคประชาชนนั้นจะต้องโหมโรงมุ่งเน้นในเรื่องการศึกษาโดยการปฏิรูปการศึกษา ขณะเดียวกันต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมหลายส่วนที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยด้วยการปฏิรูปวัฒนธรรม และถ้าสังเกตให้ดีประเทศที่มุ่งเน้นการปฏิรูปการศึกษาและวัฒนธรรมที่มองเห็นได้คือประเทศจีนและเวียดนาม การศึกษาที่มุ่งเน้นการท่องจำและไม่สอนให้คิดวิเคราะห์ ย่อมไม่นำไปสู่ความคิดและปัญญา จำเป็นต้องมีการแก้ไข วัฒนธรรมที่ไม่มีระเบียบวินัย ไม่ตรงต่อเวลา ประจบสอพลอ เชื่ออำนาจเหนือธรรมชาติ ไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม มีเหลี่ยมคูในการโกง เล่นพรรคเล่นพวก สนุกสนานจนเกินขอบเขต คิดตื้นๆ ไร้สาระ ใช้วาทศิลป์ในการเจรจา แสดงสำบัดสำนวนเป็นหลัก พูดจาจาบจ้วง หยาบคาย ขาดคุณสมบัติผู้ดี อคติ ใช้อารมณ์ ขาดข้อมูลหรือขาดความรู้ หรือใช้ความรู้ที่เรียนมาซึ่งมีจำกัดจึงพึ่งสามัญสำนึกและหัวชนฝาด้วยชาตินิยมแบบคลั่งชาติ (ซึ่งจะมีตัวอย่างให้เห็นได้ในเว็บไซต์ที่วิพากษ์ตัวบุคคลหรือข้อเขียนต่างๆ)
ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมานี้ถ้าไม่แก้ไขจะเป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปข้างหน้าของสังคมไทย ภารกิจของรัฐบาลใหม่จึงเป็นภารกิจที่หนักยิ่ง หนทางของรัฐบาลจึงไม่ใช่ถนนที่โรยไปด้วยดอกกุหลาบ ต้องอาศัยความรู้ความสามารถ ความอดทน อุดมการณ์ ความมุ่งมั่นทางการเมือง จึงจะทำงานได้ผล