xs
xsm
sm
md
lg

แฉ3ปมโลว์คอสต์“ตัวเครื่อง-นักบิน-สนามบิน” 1 ปีหลังปฏิวัติพอกันทีทหาร-อำมาตยาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ยามเฝ้าแผ่นดิน”ถกปมโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ชี้การลดจำนวนพนักงานกระทบสิทธิผู้โดยสาร ที่ควรได้รับการดูแลเมื่อเกิดวิกฤติ ชี้ 3 ปัญหาโลว์คอสต์ไทย คุณภาพเครื่อง คุณภาพนักบินเอื้ออาทร และมาตรฐานสนามบิน สาปส่งอมาตยาธิปไตย ทำ 1 ปีหลังปฏิวัติสูญเปล่า แค่ออกมติ ครม. ช่วย คตส.ยังทำไม่ได้ อัดยับซื้อจรวดจีน ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ

รายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ออกอากาศทาง เอเอสทีวี คืนวันที่ 18 ก.ย. นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ และนางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ร่วมดำเนินรายการ เริ่มจากการสนทนาถึงปัญหาของสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ โลว์คอสต์แอร์ไลน์ ว่า การลดต้นทุนของสายการยินทำให้ส่งผลกระทบถึงความปลอดภัยด้วย แม้ว่าอุกรณ์ต่างๆ จะยังมีการตรวจสอบตามมาตรฐาน แต่การลดจำนวนพนักงานบริการบนเครื่องบินก็ทำให้เกิดปํญหา หากเกิดเหตุการณ์วิกฤติขึ้นมา พนักงานก็ไม่สามารถไปให้คำแนะนำหรือดูแลผู้โดยสารได้ทั่วถึงได้

กรณีนี้เป็นปัญหาเรื่องสิทธิด้วย เคยมีการร้องเรียนไปที่ สนช.เมื่อสายการบินต้นทุนต่ำแห่งหนึ่ง คือนกแอร์มีนโยบายไม่รับผู้โดยสารที่พิการขึ้นเครื่องบิน ซึ่งทางผู้บริหารของนกแอร์ชี้แจงว่า สายการบินต้นทุนต่ำจะเป็นแบบนี้ทั่วโลก คือ ถ้าผู้โดยสารที่พิการมีผู้ช่วยเหลือมาด้วยก็จะรับขึ้นเครื่อง แต่ถ้าไม่มีผู้ช่วยเหลือก็จะไม่รับ ซึ่งเป็นกฎความปลอดภัย เพราะจำนวนพนักงานบนเครื่องบินที่จะคอยช่วยเหลือมีน้อย แต่เรื่องนี้ก็จะเป็นปัญหาสำหรับบางจังหวัดมีแต่โลว์คอสต์แอร์ไลน์ก็จะใช้บริการสายการบินไม่ได้ จึงเป็นประเด็นที่คนพิการจะต้องต่อสู้ต่อไป

สำหรับปัญหาของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ในไทย แต่ละสายการบินจะมีปัญหาแตกต่างกันแต่ที่น่าห่วงคือการนำเครื่องบินเก่ามาปรับปรุงและตรวจสอบเมื่อผ่านก็นำมาทำการบินได้ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าการตรวจสอบนั้นได้มาตรฐานหรือเปล่า จะเหมือนกับการรับจ้างตรวจสภาพรถหรือไม่ นอกจากนี้ โลว์คอสต์แอร์ไลน์ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และซีกโลกตะวันออก จึงมีคำถามว่าอาจมีความหย่อนยานเรื่องมาตรการความปลอดภัยบางอย่างหรือไม่ ที่สำคัญคือคนไทยเอาใจใส่กับเรื่องความปลอดภัยน้อยเกินไป

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพของนักบินรุ่นใหม่ๆ เรามีโครงการนักบินเอื้ออาทรเพื่อผลิตนักบินรองรับสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ก็มีข้อกังขาถึงขั้นตอนการฝึก และได้ฝึกครบตามที่กำหนดหรือไม่ เนื่องจากความต้องการนักบินมีสูงมาก จนนักบินขาดแคลนและต้องจ้างนักบินจากต่างชาติเข้ามา

อีกปัญหาที่สำคัญคือ สนามบิน อุบัติเหตุทางการบินที่เกิดขึ้นช่วงหลังๆ ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อสนามบินของประเทศไทย ไม่กี่วันก่อนเครื่องบินทดลองบินก็ชนกับอาคารที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้เกิดคำถามว่าอะไรทำให้เกิดความผิดพลาดแบบง่ายๆ อย่างนั้น ขณะนี้ถ้าเราไปสนามบินสุวรรณภูมิ บริเวณแท็กซี่เวย์เราจะเห็นร่องน้ำขุดกันเต็มไปหมด เมื่อมีคนถามว่าซ่อมเสร็จแล้วหรือยัง ก็ยังไม่มีคำตอบ และเท่าที่ทราบ ขณะนี้ปัญหาทุกอย่างยังอยู่ที่เดิม

ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวถึงคำวิจารณ์ของนายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อผลงานของ คตส.ซึ่งถือว่าได้คะแนนดี แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ให้ความร่วมมืออะไรเลยว่า อยากจะเลิกพูดถึงรัฐบาลชุดนี้เสียที จะไม่ชม จะไม่ด่า เพราะพูดไปก็เท่านั้น หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เสียดายเวลา 1 ปี เสียดายต้นทุนที่สังคมลงไปให้กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เสียดายนายทหารรุ่นใหม่ เทคโนแครตรุ่นหลัง ที่ประพฤติตัวออกมา ทำให้ทุกอย่างจบสิ้น

“ต่อไปนี้ ขอให้เลิกพูดถึงอมาตยาธิปไตย ซึ่งไม่ทันโลกแล้ว 1 ปีที่ผ่านมา คุณควรใช้อำนาจที่มีให้มันเห็นหน้าเห็นหลัง คุณมีสภา มี สนช. ถ้าคุณใช้เพื่อออกกฎหมายที่เป็นหลักให้กับสังคมได้ในยุคต่อไป ก็สามารถทำได้ เพราะถ้ากลับไประบบการเมืองปกติ ก็จะมี 2 สภา มีสภาล่างที่เป็นของนักการเมือง ซึ่งมีผลประโยชน์ อยู่กับผู้ลงคะแนนเสียง ทำให้ไม่สามารถปฏิบัตินโยบายที่เหมาะกับประเทศได้ เพราะกลัวจะกระทบผู้ลงคะแนน เช่น ถ้าเก็บภาษีรถยนต์ ก็จะกระทบคนในเมือง ในรัฐบาลกลุ่มทุนรถยนต์ก็มี กลุ่มทุนอะไหล่ก็มี”

ผู้ดำเนินรายการกล่าวต่อว่า ข้อจำกัดของสภาที่มาจกการเลือกตั้งนั้นมีมาก ยิ่งระบบ 2 สภา กว่ากฎหมายจะผ่าน บางทียุบสภา 3-4 ครั้ง กินเวลา 5-6 ปี แต่ถ้าสภาเดียวก็เร่งรัดได้ในภายใน 3 เดือน 6 เดือน แต่ 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศชาติได้สูญเสียโอกาสไปกับความโง่เขาเบาปัญญาขงคนที่เข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งไม่ได้ตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่จะมาเพื่อเป็นเกียรติยศแก่ตัวเอง มีโอกาสแล้วแต่ไม่ทำ อาจเป็นความโง่เขลาเบาปัญญาของคนที่มาเป็นรัฐมนตรีแม้แต่เรื่องง่ายๆ เช่น การออกมติ ครม.ให้หน่วยงานราชการให้ความร่วมมือ คตส.จนป่านนี้ก็ยังไม่ทำ ผลงานเดียวที่มีคือ การต่ออายุ คตส. แต่ก็มาจากกการผลักดันของ สนช. โดยที่รัฐบาลไม่ค่อยได้ทำอะไร จึงเหมือนว่าประเทศไทยมีกรรม สิ้นจากรัฐบาลที่ฉลาดแต่โกง ได้นายกฯที่เป็นคนดี แต่ก็ดีเฉยๆ ไม่ทำอะไร พอคนอื่นจะทำก็ไม่ให้ความร่วมมือ

ส่วนพล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ประธาน คมช.นั้น เวลาครึ่งปีแรกก็เสียเวลาไปกับการคิดว่าจะเล่นการเมืองดีหรือไม่ ครึ่งปีหลังก็เสียเวลาไปกับการหา ผบ.ทบ.คนใหม่ และล่าสุด เมื่อถูกนายธีรยุทธเปรียบเทียบว่าเป็นลิเก ก็ยังเล่นมุกว่ากำลังจะเขียนลิเกบทใหม่ และเปลี่ยนคนเล่นใหม่ ทำให้หนังสือพิมพ์ตีความไปต่างๆ นานา หารู้ไม่ว่าที่นายธีรยุทธเปรียบเทียบเป็นลิเกนั้นเป็นการหลอกด่า จึงอยากจะเลิกพูดถึงพี่น้องคู่นี้เสียที

หลังจากนั้น ผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงการที่ ครม.เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา ว่า แม้จะมีการตัดส่วนที่จะให้รวมบัญชีออกไปแล้ว แต่ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจจากนายวีระพงษ์ รามางกูร อดีต รมว.คลังว่า การที่ยังให้อำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในการทำธุรกรรม หรือมีอำนาจบริหารในทั้ง 3 บัญชีได้ จะเป็นการส่งเสริมให้ ธปท.เก็งกำไรต่อไปได้อีก มีโอกาสทำให้เกิดความเสียหายอีกครั้งได้ และมองว่าการแก้ไข พ.ร.บ.เงินตราครั้งนี้เป็นเพราะ ธปท.ขาดทุนจากการปกป้องค่าเงินบาท จึงแก้ไขปัญหาด้วยการแก้ไขกฎหมาย โดยไม่ต้องปรับปรุงการทำงานอะไรทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม นายคำนูณกล่าวว่า รัฐบาลอาจจะถอนร่าง พ.ร.บ.นี้ออกไป เพราะกลัวว่าจะถูกล้ม เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ก็เพิ่งถอนร่างกฎหมายฉบับหนึ่งออกไป เพราะกลัวแพ้โหวต ยิ่งในช่วงนี้มีข่าวการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล กมธ.คมนาคมเรียกรัฐมนตรีมาสอบ คงกลัวจะเล่นทีเผลอ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.เงินตรานั้น ต้องใช้การชี้แจงสูง แต่ทั้งนายกฯ และ รมว.คลังไม่เก่งเรื่องการชี้แจง อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลคิดว่ามั่นใจก็เสนอเข้ามาได้เลย

ผู้ดำเนินรายการยังกล่าวถึงกรณีที่ ครม.อนุมัติให้กระทรวงกลาโหมส่งตัวแทนไปลงนามซื้อขายจรวดจากจีน โดยไม่มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างว่า อาจเป็นการทิ้งทวน และเป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่เร่งทำในสิ่งที่ควรจะทำ แต่ไปเร่งทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น การแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา การเร่งต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินรถไฟของเซ็นทรัล เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น