xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยคลอดแผน 10 ปี ซื้อเครื่องบิน 65 ลำ 4 แสน ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ดการบินไทยอนุมัติแผนวิสาหกิจ10 ปี (2551-2560) ลงทุน 4 แสนล้านบาท ซื้อเครื่องบินใหม่ 65 ลำรุกตลาด ปรับเครือข่ายเส้นทางบินหนุนไทยเป็นฮับในภูมิภาค เตรียมเสนอ สศช.ก่อนชง ครม. ขณะที่ รมว.กลาโหม ชง ครม.ขิงแก่ให้อำนาจ ผบ.ทบ.ลงนามซื้อจรวดจีน มูลค่า 19 ล้าน ก่อนเกษียณ

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ บริษัทการบินไทยที่มี พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ผบ.ทอ. เป็นประธานได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมาโดยที่ประชุมได้อนุมัติแผนวิสาหกิจ 10 ปี ( 2551-2560) ตามที่ฝ่ายบริหารเสนอ ซึ่งตามแผนดังกล่าวจะมีการปรับโครงสร้างฝูงบิน ซึ่งประกอบด้วย แผนการปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุมาก 47 ลำ แผนจัดหาเครื่องบินทดแทนเครื่องบินเก่า และเพื่อรองรับการเจริญเติบโตในอนาคตใน 10 ปีข้างหน้า จำนวน 65 ลำ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นกว่า 400,000 ล้านบาท โดยเป็นทั้งการซื้อ และการเช่าเพื่อดำเนินงาน ประกอบด้วยเครื่องบินพิสัยไกลสำหรับเส้นทางบินระหว่างทวีป ความจุ 300-500 ที่นั่ง 16 ลำ เครื่องบินพิสัยปานกลางถึงไกล สำหรับเส้นทางบินภูมิภาค ความจุ 250-350 ที่นั่ง 29 ลำ และเครื่องบินสำหรับเส้นทางบินภายในประเทศ และเส้นทางบินภูมิภาค ความจุ 150-250 ที่นั่ง 20 ลำ

โดยแผนการจัดหาเครื่องดังกล่าวเป็นแนวทางที่ 1 ซึ่งการจัดหาเครื่องบิน 65 ลำ แบ่งเป็นเช่า 22 ลำ คือ B787-9 (ขนาด 325 ที่นั่ง) และซื้อ 43 ลำ คือ B747-8 (429 ที่นั่ง) จำนวน 8 ลำ A350-1000 (357 ที่นั่ง) จำนวน 8 ลำ B787-9 (325 ที่นั่ง) จำนวน 27 ลำ

ทั้งนี้แผนวิสาหกิจ 10 ปี ดังกล่าวจะนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นก่อนเสนอครม. โดยการบินไทย ได้มีการปรับกลยุทธ์และแผนการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยกำหนดเป้าหมายเชิงรุก ที่จะเป็นสายการบินชั้นนำของภูมิภาค ในด้านความพึงพอใจของผู้โดยสาร โดยจะมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการในทุกจุด แผนการเสริมสร้างจิตสำนึกของการให้บริการฯลฯ

โดยจะพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบินสร้างเครือข่าย สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค เพิ่มความจุหรือความถี่ของเที่ยวบินในเส้นทางบินที่มีศักยภาพ เปิดจุดบินใหม่อย่างระมัดระวัง ปรับลดการผลิตในเที่ยวบินที่ไม่ทำกำไร เน้นการเพิ่มกำลังการผลิตในเส้นทางบินภูมิภาคที่ให้ผลตอบแทนสูงและมีอัตราการเจริญเติบโตสูง นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังมีแผนเพิ่มการใช้งานเครื่องบินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และลดภาระเงินลงทุน

ส่วนด้านการตลาด ได้กำหนดตำแหน่งทางการตลาด เป็นสายการบินที่ให้บริการแบบครบวงจร มีบริการที่ดีเลิศ และมีเครือข่ายการบินที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง มีภาพลักษณ์อยู่ในระดับโลก มีราคาอยู่ในระดับปานกลาง แต่มีความคุ้มค่าของราคาอยู่ในระดับสูง พร้อมกับเสริมคุณค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยการบริการพิเศษสำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่มหรือรายบุคคล จัดทำแผนการตลาดเชิงรุก โดยทำการค้นคว้าและวิจัยทางการตลาด เพื่อติดตามความต้องการ พฤติกรรม และความพึงพอใจของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างภาพลักษณ์ตราสินค้า เน้นการขายแบบเครือข่าย ร่วมมือกับพันธมิตร ปรับปรุงช่องทางจัดจำหน่าย ปรับปรุงรายการท่องเที่ยวของทัวร์เอื้องหลวง รักษาฐานลูกค้าเดิม และแสวงหาลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นลูกค้าในทุกชั้นโดยสาร และจัดทำแคมเปญส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง

**ให้ ผบ.ทบ.ซื้อจรวดจีนทิ้งทวน

แหล่งข่าวจากทำเนียบ เปิดเผยว่าในการประชุม ครม. วานนี้ (18 ก.ย. ) กระทรวงกลาโหม (กห.) โดยพล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม ได้ขอให้ครม. พิจารณา อนุมัติให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. หรือผู้แทน (เจ้ากรมสรรพวุธทหารบก) เดินทางไปลงนามในเอกสาร ข้อตกลง ระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขอซื้อ ขายจรวดขนาด 40 ม.ม. ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 2550 ซึ่งปรากฎว่า ครม. เห็นชอบอนุมัติตามข้อเสนอดังกล่าว แต่กลับไม่มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแต่อย่างใด

แหล่งข่าว กล่าวว่า สำหรับการซื้อขายจรวดดังกล่าว เป็นจรวดชนิดระเบิดต่อสู้รถถัง แบบ 69 หรือ แบบ PG-7 จำนวน 5,745 นัด เป็นเงิน 551,520 ดอลล่าร์ สหรัฐ หรือประมาณ 19,181,865.60 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลล่าร์สหรัฐ เท่ากับ 34.78 บาท เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 50) โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G)

ขณะที่มีข้อสังเกตว่า การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ครั้งนี้ กระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงว่า ไม่ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้ใช้ข้อตกลงที่กำหนดขึ้นด้วยความเห็นชอบระหว่างกำแพงการทำสัญญาได้

แหล่งข่าว กล่าวว่า สำหรับการจัดซื้อวิธีดังกล่าว เป็นแบบ FMS หรือ แบบสินเชื่อภายในวงเงินที่สำนักงบประมาณเสนอ ซึ่งเป็นไปตมมติ ครม. 17 มิ.ย. 18 โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.รัฐบาลไทยต้องผ่อนใช้พร้อมดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 10 ปี ,2.กองทัพไทย ต้องเสนอความต้องการยุทโธปกรณ์ หลักตามลำดับเร่งด่วน 3. หลังลงนามข้อตกลง จะสามารถใช้เวลาพิจารณาใช้เงินได้ภายใน 2 ปี ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ดอกเบี้ยจะเริ่มคิดเมื่อเริ่มตกลงซื้ออาวุธไปแล้ว และ 4. อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ยของ ธนาคารทั่วไปของสหรัฐอเมริกา
กำลังโหลดความคิดเห็น