xs
xsm
sm
md
lg

โทษของการทำร้ายร่างกายกับการใช้ความรุนแรงในสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

ทุกวันนี้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคมไทยมีมากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นได้จากข่าวที่มีการนำเสนออย่างต่อเนื่อง ทั้งดูเหมือนว่ารูปแบบความรุนแรงที่ปรากฏออกมานั้นมีหลากหลายและเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น ล่าสุดข่าวนักศึกษาทำร้ายร่างกายกันโดยฝ่ายหนึ่งใช้ของร้อนสาดใส่แก่อีกฝ่ายหนึ่งนั้น ได้ตกเป็นเป้าสายตาของสังคมว่ารัฐจะดำเนินการอย่างไรกับผู้กระทำผิด
นอกจากประเด็นการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดแล้ว สิ่งที่สังคมให้ความสนใจไม่แพ้กันก็คือ “ระดับความรุนแรง” ของการกระทำความผิดนั้นว่าจะเป็นความผิดฐานใดตามประมวลกฎหมายอาญาระหว่างความผิดลหุโทษตามมาตรา 391 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 หรือ ความผิดฐานทำร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสตามมาตรา 297 รายละเอียดของทั้งสามมาตรานี้แตกต่างกันอย่างไรนั้นจะขอนำเสนอ ดังนี้

ความผิดลหุโทษ ฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกาย

มาตรา 391 แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า “ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ต้องมีเจตนาทำร้ายทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น อันเป็นการกระทำต่อกายหรือจิตใจ การทำร้ายนี้ต้องกระทำโดยใช้กำลังคือใช้แรงกายภาพและไม่ต้องมีผลถึงเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ อาทิ การแตะต้องเนื้อตัวบุคคลโดยไม่มีอำนาจ หรือการใช้กำลังผลักในการทะเลาะวิวาทกัน เช่น การต่อย ตบ เตะ ถีบ ขว้างด้วยถ้วยแก้ว หรือแม้กระทั่งการถ่ายปัสวะรดก็เป็นการทำร้ายร่างกาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 634/2486) และการใช้กำลังจับมือให้ลุกขึ้นโดยเขาไม่สมัครใจ ก็เป็นการทำร้ายตามมาตรา 391 เช่นกัน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2199/2519)

ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย

มาตรา 295 แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า “ผู้ใดทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

1. ทำร้าย

คำว่า “ทำร้าย” หมายถึง ผู้กระทำผิดมีเจตนาทำให้เสียหาย เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายโดยใช้กำลังหรือไม่ก็ตาม เช่น ล่อหลอกให้เขาตกบันไดบ้านจนเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ก็เป็นการ “ทำร้าย” ตามมาตรานี้

แต่โดยส่วนใหญ่การทำร้ายตามมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยแรงกายภาพ เช่น การชก ต่อย ทุบ ตี ถีบ เตะ กระทืบ ผลัก เหวี่ยง หรือ ด้วยอาวุธ เช่น ปืน มีด หอก ดาบ ไม้หรืออื่นๆที่สามารถใช้ทำร้ายให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจได้ รวมทั้งการใช้ยาพิษหรือยาอื่นใดที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจได้ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้

2. จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

อันตรายแก่กาย หมายถึง เกิดอันตรายแก่กาย เช่น บาดแผล ฟกช้ำ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเกิดอันตรายแก่กายเพียงเล็กน้อยก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ได้ ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2468 ที่ว่า “จำเลยทำร้ายเขาสองทีฟกช้ำและหนังขาดโลหิตซับ วินิจฉัยว่าทำผิดฐานทำร้ายร่างกาย”

อันตรายแก่จิตใจ หมายถึง การมีอาการผิดปกติทางจิตใจ เช่น ทำให้มีอาการประสาท

สรุปแล้วมาตรานี้เป็น การทำร้ายถึงขั้นเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้ถูกทำร้าย แต่ถ้าผลของการกระทำนั้นรุนแรงจนถึงขึ้นเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจถึงสาหัสก็จะเป็นความผิดในอีกมาตราหนึ่งซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัส

มาตรา 297 แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี

อันตรายสาหัส นั้นคือ

(1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
(3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
(4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(5) แท้งลูก
(6) จิตพิการอย่างติดตัว
(7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(8) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน”

เบื้องต้นความผิดตามมาตรานี้ คือ การทำร้ายร่างกายนั้นจะต้องกระทำครบ
องค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกายมาตรา 295 ข้างต้นเสียก่อน คือ ทำร้ายผู้อื่นอันเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยเจตนา แต่ผลของการทำร้ายรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส ตามที่บัญญัติไว้ใน (1)-(8)

ที่ว่า “ตาบอด” หมายถึง ตาที่มองไม่เห็นแม้จะบอดเพียงข้างเดียวก็เป็นอันตรายสาหัส
(คำพิพากษาฎีกาที่ 1116/2502)

“หูหนวก” หมายถึง หูที่ไม่สามารถฟังเสียงได้ แม้จะฟังไม่ได้ข้างเดียวก็เป็นอันตรายสาหัส

“ลิ้นขาด” หมายถึง ลิ้นขาดหายไป จะขาดหายไปมากน้อยเพียงใดไม่สำคัญ

“เสียฆานประสาท” หมายถึง เสียประสาทที่จะดมกลิ่น

“เสียอวัยวะสืบพันธุ์” หมายความถึง ทำให้อวัยวะสืบพันธุ์ใช้สืบพันธุ์ไม่ได้ แม้จะไม่ถึงขาดหายทำนองเดียวกับ “เสียความสามารถในการสืบพันธุ์” ซึ่งหมายถึง ทำให้ชายหญิงไม่สามารถสืบพันธุ์ แม้จะยังสามารถร่วมประเวณีกันได้ก็ตาม

คำว่า “เสีย” แขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด ตามมาตรานี้ไม่ได้หมายความเฉพาะ
ขาดหายเท่านั้น แต่หมายความถึงทำให้ใช้อวัยวะนั้นๆไม่ได้ด้วย

ส่วน “หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว” นั้นคือ การเสียความงามของใบหน้าจนหน้าเกลียดติดตัวตลอดไป ไม่ใช่เสียโฉมซึ่งมีระยะเวลาหายได้ ซึ่งต้องพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบเป็นกรณีไป
นอกจากใบหน้าโดยตรงน่าจะถือว่าการเสียส่วนประกอบของใบหน้า เช่น หูขาด จมูกขาด ไหล่ทรุดทำให้คอเอียงไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งของใบหน้าที่ทำให้เสียความงามและถือว่าเป็นการเสียโฉมติดตัวตามความหมายของมาตรานี้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769/2477,1012/2480)

“จิตพิการอย่างติดตัว” หมายถึง การทำให้เป็นโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือนอย่างติดตัว และ

“ทุพพลภาพ” หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต” ต้องเป็นกรณีร้ายแรงที่อาจถึงแก่ชีวิต หากเป็นการทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วรักษาให้หายได้ ไม่อยู่ในความหมายของมาตรานี้

สรุป

ที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า องค์ประกอบความผิดของทั้งสามมาตรานั้นเหมือนกันทุกประการ จะแตกต่างกันก็ที่ผลของการกระทำความผิดนั้น หากเป็นการทำร้ายร่างกายโดยไม่เกิดความเสียหายแก่กายหรือจิตใจของผู้ถูกกระทำเลยก็ผิดเพียงลหุโทษ ตามมาตรา 391 เท่านั้นหากผลของการกระทำก่อให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยใช้กำลังหรือไม่ก็ตาม ก็จะเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย และหากผลของการกระทำนั้นรุนแรงยิ่งขึ้นถึงขนาดก่อให้เกิดอันตรายสาหัสแก่ผู้ถูกกระทำก็จะเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัส ซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากหลักของกฎหมายอาญาที่กำหนดให้ ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นเนื่องจากผลของการกระทำ

นอกจากนี้หากผู้กระทำความผิด รับสารภาพในความผิดลหุโทษตามมาตรา 391 พนักงานสอบสวนก็สามารถเปรียบเทียบปรับได้โดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลซึ่งแตกต่างจากกรณีมาตรา 295 และ 297 ที่ต้องนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
และโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น