xs
xsm
sm
md
lg

ร่ายมนต์ พ.ร.บ.การเงินฉลุย-สนช.กลายเป็น"เสือคล้อย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สนช.ทำท่าเคลิ้มตามผู้บริหารกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ หลังเสวนาวานนี้ "สังศิต" ยอมรับหลักการ พ.ร.บ.การเงินทั้ง 4 ฉบับ ยกเว้น พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ต้องชี้แจงประชาชนมากขึ้น แต่ภาพรวมขอหนุนเข้าสู่ที่ประชุม สนช.โดยเร็ว เพื่อบังคับใช้ทันในรัฐบาลชุดนี้ "ธาริษา" สัญญาตัดประเด็นนำเงินคลังหลวงนำมารวมกับบัญชี ธปท.

วานนี้ (14 ก.ย.) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง ธปท. และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกันเสวนา ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก โดยมี สนช.เข้าร่วมประมาณ 40 คน นำโดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกรรมาธิการการคลังการธนาคารและสถาบันการเงิน นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการ และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมทั้งนายสมหมาย ภาษี รมช.คลัง

นายสมหมาย เปิดเผยว่า หลังจากนี้รัฐบาลจะเร่งทยอยนำกฎหมายทั้ง 4 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. โดยมีการจัดลำดับไว้ว่า ภายในเดือน ก.ย.นี้ จะนำร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินเข้าสู่การพิจารณาก่อน ส่วนร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ยังต้องทำความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นการกำหนดวงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบัน อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า หาก พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับผ่านการพิจารณาของ สนช. และนำออกมาบังคับใช้ ก็เชื่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจดำเนินไปอย่างราบรื่น

“กฎหมายการเงินทุกฉบับจะต้องเสนอให้ สนช.พิจารณาให้ได้ภายในเดือนกันยายนนี้จึงจะสามารถทันออกใช้ในปลายปีนี้ ส่วนกรณีการตัดมาตราที่เปิดให้ ธปท.นำเงินบัญชีสำรองพิเศษมาใช้นั้น เชื่อว่าอนาคตคงจะสามารถแก้ไขได้ หากสังคมมีความเข้าใจกันมากขึ้น”รมช.คลัง กล่าว

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯธปท. กล่าวว่า มาตรา 34/2 ในร่าง พ.ร.บ.เงินตรา ซึ่งระบุว่า กรณีที่ ธปท. ไม่สามารถโอนสินทรัพย์ที่มีค่าพอเข้าบัญชีทุนสำรองเงินตราเพื่อนำไปหนุนหลังการออกธนบัตร ก็ให้ ธปท.โอนสินทรัพย์จากบัญชีพิเศษ เข้ามาใส่ในบัญชีทุนสำรองเงินตราได้เท่าที่จำเป็น ซึ่งมีข้อถกเถียงอยู่นั้น ธปท.คงเสนอ สนช. ให้ตัดมาตรานี้ออกไป เพราะเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นใน 5-10 ปีนี้

"ร่าง พ.ร.บ.เงินตรา ที่มีผู้ไม่เห็นด้วยที่จะให้อำนาจ ธปท. นำเงินสำรองในบัญชีหนุนหลังธนบัตรมาใช้ในยามวิกฤตินั้น ยืนยันว่าในประเด็นดังกล่าว ได้ตัดออกไปแล้ว เพราะเห็นว่า ธปท.ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีเครื่องมืออื่นที่จะใช้ดูแลเศรษฐกิจได้ ธปท.จึงไม่จำเป็นต้องนำเงินสำรองดังกล่าวมาใช้"นางธาริษา ย้ำ

ส่วนการบังคับใช้ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะไม่กระทบกับประชาชนรายย่อยที่มีอยู่กว่าร้อยละ 98 เพราะสามารถกระจายฝากเงินไว้กับธนาคารทั้ง 43 แห่งในประเทศได้ ขณะที่ผู้ที่มีเงินฝากมากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ก็มีเพียง 10,000 รายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ธปท. จะชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฏหมายทั้ง 4 ฉบับต่อประชาชนมากขึ้น โดยผ่านเอกสารที่จัดทำขึ้นจำนวน 10,000 ชุด เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับได้ที่เคาน์เตอร์ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง

นายสังศิต ยืนยันว่า พร้อมให้การสนับสนุนกฎหมายการเงินทั้ง 4 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากมองว่าโดยหลักการแล้ว กฎหมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจ

"หลักการ พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ สนช.ยอมรับได้ แต่ที่มีข้อสังเกตมากที่สุดและต้องการให้เปิดรับฟังความคิดเห็น คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ โดยเฉพาะการคุ้มครองเงินฝากที่ 1 ล้านบาท แต่กรรมาธิการฯ ยินดีสนับสนุนให้ พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับมีผลในรัฐบาลนี้ เพราะเท่าที่ศึกษาเนื้อหาของ พ.ร.บ.เป็นการลดอำนาจ ธปท. และไม่เปิดให้ ธปท.นำเงินของบัญชีทุนสำรองพิเศษใช้ มั่นใจร่าง 4 ฉบับผ่านจะทำให้รัฐบาลใหม่มีธรรมาภิบาลมากขึ้น"

ก่อนหน้านี้ นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง ได้ตัดมาตรา 34 (2) ใน พ.ร.บ.เงินตรา ซึ่งมีเนื้อหาว่าหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ธปท.สามารถโอน หรือนำเงินจากบัญชีทุนสำรองพิเศษ หรือเงินที่บริจาคให้หลวงตามหาบัว นำมาใช้แก้วิกฤตเศรษฐกิจได้ เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์ ธปท.นำเงินของหลวงตามหาบัว มาแก้ปัญหาการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมาย และคดี ธปท.เปิดเผยว่า หากต้องการให้ร่างกฎหมายการเงินทั้ง 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 50 รมว.คลัง จะต้องนำร่างทั้ง 4 ฉบับส่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช.ภายในเดือนนี้ เนื่องจาก สนช.ได้ประกาศที่จะไม่รับพิจารณากฎหมายใดเพิ่มเติมนับตั้งแต่สิ้นเดือนก.ย. เป็นต้นไป

สำหรับกรณีที่ รมว.คลังได้ขอถอน มาตรา 34 (2) เกี่ยวกับนำเงินจากบัญชีสำรองพิเศษมาใช้หนุนหลังการออกพันธบัตรออกจาก ร่าง พ.ร.บ.เงินตรานั้น นายชาญชัย กล่าวว่า สุดท้ายอยู่ที่การตัดสินใจของ สนช.ว่า จะคงไว้ตามร่างกฎหมาย หรือจะตัดออก
กำลังโหลดความคิดเห็น