เชียงราย - บีโอไอร่วมเปิดเวทีถกยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาแรงงานแบบองค์รวมในกลุ่มลอจิสติกส์เชียงราย แนะเร่งผลิตบุคลากรในระดับ ปวช. - ปวส. รองรับการเชื่อมโยงคมนาคมกับเพื่อนบ้านที่กำลังเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้
ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาแรงงานแบบองค์รวมในกลุ่มลอจิสติกส์ (Logistic) "ที่ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ (BOI) ร่วมกับมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทิร์น จัดขึ้นที่เชียงรายเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ โรงแรมริมกกรีสอร์ท โดยมีนายชนะ นาคสุริยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิด และนายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอฯเชียงราย พร้อมด้วยภาคเอกชน ภาคการศึกษา จัดหางาน เข้าร่วมนั้น
นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า เป็นการจัดเวทีขึ้นเพื่อให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง วางแผนผลิตบุคลากรออกมาให้ตรงกับความต้องการในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเชียงราย ที่เชื่อมโยงการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน สหภาพพม่า-ลาว และ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน กำลังจะมีสะพานข้ามแม่น้ำโขง และเปิดเส้นทางถนน R3a จากจีนตอนใต้ ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว( สปป.ลาว )เชื่อม อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า
ทุกฝ่ายเห็นควรผลิตบุคลากรในระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รองรับระบบลอจิสติกส์ (Logistics) หรือการขนส่งทางรถ ซึ่งจะมีอนาคตมากขึ้น เมื่อถนนทางเชื่อมประเทศเพื่อนบ้านสำเร็จเป็นรูปธรรม
ดังนั้น ควรผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของตลาด เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า มีการจัดคนไปทำงานไม่ตรงสายงาน ทำให้ไม่มีทักษะ ขาดความก้าวหน้า ขาดแรงจูงใจในการทำงาน บางคนความรู้ความเข้าใจที่เรียนมาอาจจะยังไม่เข้มข้นพอ สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จทั้งนายจ้าง - ลูกจ้าง
นาง ศิริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ กล่าวว่า ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ขณะนี้ผู้ประกอบการขาดแคลนบุคลากรทั้งด้านจำนวนและด้านคุณภาพ เช่น ขาดแรงงานฝีมือที่จบการศึกษาระดับ ปวช.และ ปวส. รวมไปถึงปริญญาตรี ด้านวิศวกรรม ส่วนผู้จบการศึกษาอุดมศึกษา และปริญญาตรีด้านภาคสังคม ความต้องการลดลง เนื่องจากที่ผ่านมาผลิตออกมามาก นอกจากนี้สถานประกอบการต้องแข่งขันสูง จึงมุ่งเน้นงานที่มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นแรงงานจะต้องมีคุณภาพ เพื่อให้ผลผลิตมีจำนวนสูงขึ้นในการลงทุนที่เท่าเดิม
เฉพาะพื้นที่เชียงราย ควรเร่งผลิตบุคลากร เพื่อรองรับระบบลอจิสติกส์ หรือการขนส่ง และจังหวัดเชียงราย น่าจะมีศูนย์ลอจิสติกส์ เพื่อการขนส่งทางรถ พร้อมอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร นอกเหนือจากการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน ซึ่งทั้งภาคเอกชนและภาคการศึกษา ประสานงานกับศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ ตลอด คาดว่าจะทำให้มีการส่งเสริมการผลิตบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงานให้ตรงกับงานและมีคุณภาพมากขึ้นด้วย