xs
xsm
sm
md
lg

ประมงพื้นบ้านจี้รัฐดูแลคุณภาพชีวิต หลังสร้าง"ท่าเรือน้ำลึกปากบารา "

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูลเริ่มเคลื่อนไหว ให้ข้อมูลการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราแก่สมาชิก เผยพื้นที่โครงการครอบคลุมอ่าวละงูทั้งหมด ซึ่งเป็นแหล่งจับปลาที่สำคัญ หวั่นอนาคตตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่างกับชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสงขลา ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา อัดนักการเมืองท้องถิ่นให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านเพียงด้านเดียว พร้อมเดินหน้าเปิดเวทีระดมความคิดเห็น ก่อนสรุปเสนอผู้เกี่ยวข้องกำหนดแผนดูแลคุณภาพชีวิตชาวประมงหลังก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก

เมื่อวันที่ 10 - 11 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล ได้จัดโครงการบันทึกภาพและเรื่องราวของชาวประมงอ่าวปากบารา (อ่าวละงู) ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ก่อนที่พื้นที่ดังกล่าวจะถูกสร้างเป็นท่าเรือน้ำลึก จากการผลักดันโครงการของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี รวมทั้งอีกหลายหน่วยงานที่ต้องการให้มีการก่อสร้างท่าเรือในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้า เชื่อมต่อฝั่งทะเลอันดามัน และฝั่งทะเลอ่าวไทย และพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งทำมาหากินของเรือประมงขนาดเล็กหรือประมงพื้นบ้านที่มีการออกหาปลาในบริเวณอ่าวปากบาราวันละไม่ต่ำกว่า 500 ลำ

นายวัชระ ทิพย์ทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน ในฐานะประธานโครงการบันทึกภาพและเรื่องราวของชาวประมงอ่าวปากบารา เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะทำให้ชาวประมงพื้นบ้านใน 3 อำเภอของ จ.สตูล ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากแผนของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกครอบคลุมพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งหากินของชาวบ้านทั้งหมด ประกอบด้วย อ.ละงู 14 หมู่บ้าน อ.ท่าแพ 8 หมู่บ้าน และ อ.เมือง 6 หมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีชาวประมงในพื้นที่ อ.ทุ่งหว้า ที่มาทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย หากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกก็จะส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่มีแหล่งหาปลาซึ่งถือเป็นอาชีพหลักอีกต่อไป

"จ.สตูล มีชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมด 6,425 ครัวเรือน โดยมีเรือประมงพื้นบ้านที่ขึ้นทะเบียนต่อกรมประมงแล้ว 1,781 ลำ ถือเป็นจำนวน 1 ใน 4 ของเรือประมงขนาดเล็กทั้งหมด ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านจะมีรายได้จากการออกจับสัตว์น้ำ ในบริเวณอ่าวปากบาราตกเดือนละประมาณ 6,000 - 12,000 บาทต่อเดือนต่อครัว หากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขึ้นมาชาวบ้านก็จะไม่มีแหล่งจับสัตว์น้ำอีกต่อไป รัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรออกมาให้คำตอบว่า จะมีการจัดการอย่างไรกับสิ่งที่จะกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านในอนาคต เนื่องจากขณะนี้มีการพูดถึงแต่ข้อดีของโครงการโดยละเลยที่จะพูดถึงผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านอีกหลายครอบครัว" นายวัชระ กล่าว

ขณะที่นายหมีด มะหมูด ชาวประมงพื้นบ้าน ม.4 บ้านหลอมปืน ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า แม้การดำเนินการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกจะมีการประชาสัมพันธ์โครงการให้แก่ชาวบ้าน รวมทั้งการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ แต่ก็ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบรายละเอียดของโครงการ โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการ จะไม่ทราบข้อมูลด้านผลกระทบต่ออาชีพ ทราบเพียงข้อมูลด้านบวกของโครงการ เนื่องจากตัวแทนของชาวบ้านที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานราชการหลายครั้งไม่ได้มีการมาชี้แจงแก่ชาวบ้านให้ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน

"ครั้งแรกที่ได้ยินข่าวว่าจะมีการก่อสร้างโครงการ ชาวบ้านบางส่วนรู้สึกยินดีแต่เมื่อได้รับรู้เรื่องผลกระทบทำให้มีความกังวลใจ โดยเฉพาะเมื่อได้ไปเห็นผลกระทบที่เกิดแก่ชาวประมงพื้นบ้าน จ.สงขลา จากโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา ประมงพื้นบ้านบางคนต้องเลิกอาชีพประมงไปเป็นลูกจ้างอยู่ใน อ.หาดใหญ่ มีรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว และหลายคนกลายเป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เราจึงกลัวว่าจะต้องตกอยู่ในสภาพนั้น ถ้ารัฐบาลยืนยันว่าจะสร้างจริงๆ เราก็คงไปคัดค้านไม่ได้ แต่รัฐบาลจะต้องให้คำตอบด้วยว่าจะให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร" นายหมีด กล่าว

ขณะที่นางเสาวนีย์ สำลี ชาวประมงพื้นบ้านบ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะประกาศว่าโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกจะเกิดการจ้างงานคนในพื้นที่ให้มีรายได้ แต่พวกตนซึ่งเป็นชาวประมงหากินกับทะเลมาค่อนชีวิตคงไม่สามารถเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากไม่มีความรู้ความสามารถในงานดังกล่าว และพื้นที่โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเป็นพื้นที่หลักที่ชาวบ้านออกจับสัตว์น้ำ เนื่องจากปลอดภัยจากลมมรสุม และมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ชุกชุม หากสร้างท่าเรือแล้วชาวบ้านก็จะหมดหนทางทำกิน

อย่างไรก็ตาม พบว่าขณะนี้กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล ได้เริ่มเดินสายนำเสนอข้อมูลรายละเอียดและผลกระทบ ที่จะเกิดจากโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราให้แก่กลุ่มชาวบ้านและชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยเวทีแรกเริ่มขึ้นที่บ้านหลอมปืน ต.ละงู และจะจัดต่อไปให้ครบทุกหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบ จากนั้นจึงจะมีการหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้ฝ่ายรัฐหันมาให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่จะเกิดแก่ชาวบ้าน

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ลงจัดสัมมนาในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการให้แก่ภาคธุรกิจ หน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไปรับทราบ พร้อมกับมีการเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้เร่งผลักดันโครงการนี้โดยด่วน ขณะที่การก่อสร้างถนนทางเข้าโครงการฯ ขนาดกว้าง 3.5 เมตร 4 ช่องจราจร ระยะทาง 6.782 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 176 ล้านบาทเศษ จะสิ้นสุดการก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ 2551

รูปแบบของโครงการท่าเรือปากบารา
กำลังโหลดความคิดเห็น