ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เผยยักษ์ก่อสร้าง "ประยูรวิศวการช่าง" ของตระกูล "ลิปตพัลลภ" กั๊กงานทำถนนที่ชายแดนใต้มูลค่าเกือบ 1 พันล้าน ประมูลได้แล้วแต่บ่ายเบี่ยงเซ็นสัญญากับกรมทางหลวง ทำให้คาราคาซังไปทั้งโครงการ กระทบยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์อนุภาคจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องการเปิดเส้นทางเศรษฐกิจสายใหม่ผ่านเมืองใต้สุดสยาม ด้าน "นายกเล็กเบตง" หวั่นงบประมาณก้อนโตหลุดลอยไปจากพื้นที่ ดิ้นชงเรื่องผ่าน "ศอ.บต." และต่อสาย "บิ๊กบัง" ให้ทหารรับก่อสร้างแทน หรือไม่ก็ให้ผู้รับเหมารายใหม่รับไปดำเนินการ
แหล่งข่าว ซึ่งเป็นแกนนำองค์กรภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ขณะนี้ปัญหาวิกฤตไฟใต้ ได้ส่งผลกระทบต่อการผลักดันการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้เข้าขั้นหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในการกำหนดยุทธศาสตร์หรือทิศทางการพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่งในเวลานี้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้แล้ว
ภาพของผลกระทบที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนแล้วคือ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาในระดับจังหวัดของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส หรือในระดับกลุ่มจังหวัดของทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงระดับอนุภาคพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างโดยรวม มีโครงการพัฒนาจำนวนมากถูกปัญหาไฟใต้ทำให้ต้องชะงักงัน หลายโครงการไม่สามารถแจ้งเกิดได้ บางโครงการถูกเลื่อนระยะเวลาการดำเนินงานให้ทอดออกไปเรื่อยๆ เป็นเวลานานนับปีแล้ว
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาชายแดนใต้ แหล่งข่าวคนเดิมชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนว่า ดูได้จากโครงการพัฒนาภายใต้กรอบ 3 เหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย หรือ IMT-GT ซึ่งโครงการนี้ที่ผ่านมาแทบจะเป็นแกนของการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นี้ แต่ขณะนี้แทบจะไม่มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวปรากฏให้เห็นเท่าไหร่ หรือโครงการนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ทั้งที่ปัตตานีและนราธิวาสแทบจะตาย เป็นต้น
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ที่น่าจับตาเป็นพิเศษคือ ยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ หรือการสร้างความได้เปรียบด้านการขนส่งให้กับอนุภาคของภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะโครงข่ายถนนหนทางที่ในเวลานี้แทบจะไม่มีการขยับเขยื้อนเลย ตนได้รับการบอกเล่าจากนักธุรกิจในแวดวงรับเหมาก่อสร้างว่า ในช่วงกว่า 2 ปีมานี้ ทั้งบริษัทเล็กและใหญ่ทิ้งงานในพื้นที่กันไปจำนวนมาก โครงการใหม่ๆ ก็แทบไม่มีผู้รับเหมารายใดกล้าเข้ามารับไปทำ แม้รัฐจะใช้มาตรการจูงใจต่างๆ นานาด้วยการเพิ่มวงเงิน ให้สิทธิพิเศษ หรือยืดระยะเวลาการตรวจรับงานให้แล้วก็ตาม
"มีกรณีที่น่าท้อแท้ใจ สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่อย่างมากก็คือ โครงข่ายถนนที่จะย่นระยะเวลาและอำนวยความสะดวกการส่งออกสินค้าจากทั้งยะลา นราธิวาสและปัตตานี ผ่านไปยังด่านชายแดนด่านเบตง ซึ่งที่ผ่านมารัฐมีแผนทั้งปรับปรุงเส้นทางยะลา-เบตงเดิม และมีการตัดเส้นทางใหม่ด้วยนั้น มีการเปิดประมูลไปแล้ว แต่มีผู้รับเหมาหลายรายทิ้งงานปล่อยให้คาราคาซัง หนึ่งในนั้นผมทราบมาว่ามียักษ์ใหญ่ระดับชาติอย่าง บริษัทประยูรวิศวการช่างอยู่ด้วย"แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้แล้ว แหล่งข่าวยังเพิ่มเติมด้วยว่า อีกกรณีคือถนนสายหลักจากหาดใหญ่ที่จะเปิดประตูเข้าสู่ยะลาสายใหม่คือ สายจากสามแยกดอกยางสู่เมืองยะลาที่ไม่ต้องอ้อมผ่านโคกโพธิ์ ถนนสายนี้สร้างเกือบจะเสร็จแล้ว เหลือเพียงสะพานข้ามคลองไม่กี่แห่ง ผู้รับเหมากลับทิ้งงานไปเป็นปีๆ แล้ว ซึ่งที่ยกตัวอย่างมาล้วนถือเป็นโครงข่ายถนนอันเป็นส่วนประกอบของยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านลอจิสติกส์ที่สำคัญมากของพื้นที่ และมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาอนุภาคของภาคใต้ตอนล่าง
เกี่ยวกับบริษัท ประยูรวิศวการช่าง จำกัด ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่มีผลงานมากมาย ซึ่งพัวพันกับกลุ่มการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะตระกูลลิปตพัลลภ และเคยเป็นข่าวฮือฮาระดับประเทศมาแล้ว กรณีโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่คลองด่าน ซึ่งในครั้งนี้ได้มีส่วนทำให้ยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ของชายแดนใต้หยุดชะงักนั้น นายคุณวุฒิ มงคลประจักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา กล่าวอย่างยอมรับกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ที่ตนทราบมาเรื่องนี้เป็นความจริง
นายคุณวุฒิกล่าวว่า ตนทราบมาว่าความจริงแล้วบริษัทประยูรวิศวการช่าง ยังไม่ถูกจัดว่าทิ้งงาน เพียงแต่ที่ผ่านมาเป็นบริษัทที่ชนะประมูลการก่อสร้างถนน ในโครงการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางหลวงหมายเลข 410 ยะลา-เบตง จากกรมทางหลวงไปแล้ว โดยประมูลได้การก่อสร้างไปในตอนที่ 3 จากที่มีทั้งหมด 4 ตอน แต่พอถึงเวลาที่กรมทางหลวงเรียกให้มาทำสัญญาก่อสร้างกลับไม่มาตามกำหนด และขณะนี้บริษัทประยูรวิศวการช่าง ก็ยังทอดเวลาออกไป ส่งผลกระทบให้โครงการยังไม่สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติจริง ทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาของเบตงเอง รวมถึงของอนุภาคจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความล่าช้าตามไปด้วย
"ในความเห็นของผม บริษัทประยูรวิศวการช่างยังไม่ถึงขั้นถูกจัดว่าทิ้งงาน แต่อาจจะกล่าวว่าเขากั๊กงาน ซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่า ปัญหาคือเขาไม่มาทำสัญญากับกรมทางหลวง และก็ไม่แสดงท่าทีว่าจะสละสิทธิ์เสียด้วย ส่งผลให้ผู้รับเหมารายอื่นๆ ที่ต้องการทำงานจริงก็ไม่สามารถมารับงานนี้ไปทำได้ โครงการพัฒนาถนนเส้นนี้ก็เลยคาราคาซังอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ" นายคุณวุฒิกล่าวและว่า
จากการที่บริษัทประยูรวิศวการช่างกั๊กงานก่อสร้างปรับปรุงถนนยะลา-เบตงไว้เช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงกันว่างบประมาณที่มีการอนุมัติมาให้แล้ว ในช่วงสิ้นปีงบประมาณคือ เดือน กันยายน 2550 นี้อาจจะถูกรัฐบาลเรียกวงเงินงบประมาณดังกล่าวกลับไปใช้อย่างอื่นได้ และถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขก็มีแนวโน้มจะกระทบวงเงินงบประมาณก้อนนี้ในปีต่อๆ ไปอีกด้วย
"ในฐานะผู้บริหารท้องถิ่นเมืองเบตง ที่ผ่านมาผมก็ได้พยายามเข้าไปมีส่วนคลี่คลายปัญหานี้มาตลอด เพราะคนเบตงต่างก็ไม่ต้องการให้งบประมาณเกือบ 1 พันล้านบาทหลุดลอยไป ซึ่งจะกระทบต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองเบตงเราในมิติที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะเราไม่อยากให้กรมทางหลวงตัดงบประมาณก้อนนี้ ยังนับว่าโชคดีอยู่บ้างที่ผ่านมามีมติคณะรัฐมนตรีออกมาว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้หากยังไม่มีการทำสัญญาก่อสร้างก็ยังให้คงสิทธิ์อันนี้ไว้ได้ต่อไป"
นายกเทศมนตรีเมืองเบตงกล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตนได้ทำหนังสือผลักดันผ่านไปทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อให้ชงต่อรัฐบาลอีกทอดหนึ่งแล้ว โดยยื่นข้อเสนอว่าขออย่าให้มีการตัดงบประมาณก้อนนี้กลับคืนคลังในช่วงสิ้นปีงบประมาณเดือนกันยายนปีนี้ และขอให้เปิดเจรจากับบริษัทประยูรวิศวการช่าง หากบริษัทไม่พร้อมที่จะก่อสร้างปรับปรุงถนนเส้นนี้ก็ให้คืนโครงการกลับมา โดยอาจจะมอบให้ทหารช่างรับไปดำเนินการแทน หรือตนเองก็สามารถที่จะวิ่งหาผู้รับเหมารายอื่นๆ ที่ต้องการทำงานจริงมารับงานนี้ไปทำเองก็ได้
นายคุณวุฒิกล่าวด้วยว่า ในส่วนของทหารช่างที่จะให้รับงานก่อสร้างถนนเส้นนี้ไปดำเนินการต่อ เรื่องนี้ตนได้เคยนำเสนอกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกและประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยตรงไปแล้วด้วย นอกจากนี้ ตนยังติดต่อกับบริษัทผู้รับเหมาทั้งในพื้นที่และจากส่วนกลางไว้บ้างแล้ว หากว่าบริษัทประยูรวิศวการช่างยินยอมที่จะคายงานก่อสร้างถนนเส้นนี้ออกมา ตนเชื่อในศักยภาพว่าเรื่องนี้ท้องถิ่นจะสามารถผลักดันได้สำเร็จแน่นอน
เปิดเส้นทางยุทธศาสตร์สู่3 จว.ใต้
สำหรับโครงการปรับปรุงพัฒนาเส้นทางหลวงหมายเลข 410 ยะลา-เบตง เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของอนุภาคจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยถือเป็นเส้นทางแนวใหม่สายเศรษฐกิจ ปัตตานี-ยะลา-เบตง-ปีนัง ซึ่งต่อไปการขนส่งสินค้าจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไปยังท่าเรือในรัฐปีนังของมาเลเซีย จะถูกส่งผ่านด่านชายแดนด้าน อ.เบตง จ.ยะลา แทนเส้นทางเดิมที่ต้องผ่านด่านใน อ.สะเดา จ.สงขลา สามารถย่นระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร(กม.) หรือย่นระยะเวลาได้กว่า 1 ชั่วโมง
ตามแผนการก่อสร้างและปรับปรุงถนนสายยะลา-เบตงดังกล่าว กรมทางกลวงได้กำหนดแบ่งออกเป็น 4 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 จาก จ.ยะลาไป อ.กรงปินัง จด อ.บันนังสตา รวมระยะทาง 35 กม. ใช้งบก่อสร้าง 500 ล้านบาท ตอนที่ 2 จากช่วง อ.บันนังสตาไปยังบ้านบ่อหิน รวมระยะทางประมาณ 20 กม. เดิมมีทางโค้งมากมายระยะทาง 15.3 กม. ปรับแก้ไขให้เหลือ 9.2 กม. ใช้งบก่อสร้าง 250 ล้านบาท
ตอนที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทประยูรวิศวการช่างประมูลได้ไปแล้ว จากบ้านบ่อหินไปบ้านกระป๋อง รวมระยะทางประมาณ 5.8 กม. จากเดิมเป็นทางคดเคี้ยวผ่านภูเขาสูงและคันทางแคบรวม 21.8 กม. แต่ให้เปิดทางใหม่ มีการสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง 300 เมตร(ม.) และเจาะอุโมงค์ใต้ภูเขาประมาณ 800 ม. ใช้งบก่อสร้างสูงสุด 970 ล้านบาท และตอนที่ 4 จากบ้านกระป๋องถึงบ้านจาเราะปาไต รวมระยะทาง 36.6 กม. ใช้งบก่อสร้าง 500 ล้านบาท