xs
xsm
sm
md
lg

ซัมมิตเอเปกสัญญาหนุนเจรจา'โดฮา'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชุมซัมมิต "เอเปก" ปิดฉากวานนี้(9) ออกคำแถลงเกี่ยวกับการเจรจาการค้าเสรีรอบโดฮาภายใต้กรอบ WTO โดยมองโลกแง่ดีว่า การหารือซึ่งกำลังดำเนินการกันอยู่ที่เจนีวา มี "ความคืบหน้าอย่างแท้จริง" พร้อมกับให้คำมั่นที่จะใช้ความยืดหยุ่นและเจตนารมณ์ทางการเมือง เพื่อบรรลุข้อตกลงกันให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ด้าน "สุรยุทธ์" ยืนยันสนับสนุนการค้าเสรี

บรรดาผู้นำของ 21 ประเทศและดินแดนสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก(เอเปก) ยังเรียกร้องทุกๆ ฝ่ายให้คำมั่นสัญญาอย่างเดียวกัน เพื่อบรรลุข้อสรุปของการเจรจารอบโดฮา

ผู้นำของเอเชีย-แปซิฟิกเหล่านี้ ซึ่งเศรษฐกิจของพวกเขารวมกันแล้วเป็นผู้ทำการค้ากว่าครึ่งหนึ่งของโลก กล่าวในคำแถลงว่า มี "ความจำเป็นอันเร่งด่วนที่จะต้องสร้างความก้าวหน้า" ให้แก่การเจรจาการค้าภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) นี้

"เราให้คำมั่นที่จะใช้ทั้งเจตนารมณ์ทางการเมือง, ความยืดหยุ่น, และความทะเยอทะยาน เพื่อรับประกันว่าการเจรจารอบโดฮา จะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของมันในปีนี้ เราเรียกร้องบรรดาหุ้นส่วนของเราใน WTO ร่วมมือกับเราในความพยายามอันจำเป็นอย่างยิ่งนี้" ผู้นำเอเปกระบุในคำแถลงซึ่งออกมาภายหลังการประชุมเป็นเวลา 2 วันที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

คำแถลงของเหล่าผู้นำเอเปกชี้ว่า เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดที่จะต้องบรรลุความคืบหน้าขั้นต้น ในภาคการเกษตรและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมซึ่งยังคงขัดแย้งกันอยู่ อีกทั้งบอกว่า บรรดาระดับรัฐมนตรีของพวกเขาจะเปิดการเจรจากันใหม่ บนพื้นฐานของการประนีประนอมกันตามที่เสนอมานี้ ทั้งในประเด็นตลาดการเกษตร และตลาดนอกภาคการเกษตร

"อีกครั้งหนึ่ง เราขอเรียกร้องให้บรรดาหุ้นส่วนของเรากระทำอย่างเดียวกันนี้" คำแถลงระบุ

ทว่าอย่างน้อยหนึ่งในผู้นำที่ร่วมออกคำแถลงคราวนี้ด้วย คือ นายกรัฐมนตรี อับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี แห่งมาเลเซีย ก็ได้แสดงท่าทีระมัดระวังตัวมาก โดยชี้ว่ายังเป็นเรื่องลำบากที่จะทำข้อตกลงนี้กันให้สำเร็จ

"ผมพบว่าเป็นเรื่องลำบากมากที่จะมองในแง่ดีว่ารอบโดฮาจะเสร็จสิ้นลงได้ ทั้งนี้ก็เพียงเพราะว่าในขณะนี้พวกมหาอำนาจสำคัญทั้งหลาย ... ยังไม่ได้มีความยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อช่วยผลักดันกระบวนการนี้ให้คืบหน้าไป" นายกรัฐมนตรีแดนเสือเหลืองกล่าวกับผู้สื่อข่าวในตอนสิ้นสุดการประชุมซัมมิตเอเปก

ทางด้านประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งออกจากการประชุมสุดยอดตั้งแต่วันเสาร์(8) เพื่อไปเตรียมรายงานฉบับสำคัญเกี่ยวกับอิรักที่จะต้องเสนอต่อรัฐสภาอเมริกัน ได้แถลงว่า วอชิงตันพร้อมแล้วที่จะให้ความยืดหยุ่น อีกทั้งเรียกการเจรจารอบโดฮาซึ่งกำลังทำท่าไปไม่ค่อยรอดว่า เป็น "โอกาสที่รุ่นอายุหนึ่งจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว"

การเจรจาการค้ารอบโดฮาประสบปัญหาหนักหน่วง ทั้งในประเด็นการต่อรองให้สหรัฐฯ, ยุโรป, และญี่ปุ่น ลดการอุดหนุนภาคเกษตร และประเด็นการลดอัตราภาษีศุลกากรในประเทศกำลังพัฒนาใหญ่ๆ อย่างเช่น จีน, อินเดีย, บราซิล, และแอฟริกาใต้ นักวิเคราะห์จำนวนมากสงสัยข้องใจมากว่า พวกประเทศและดินแดนที่เป็นสมาชิก WTO ไม่น่าจะสามารถข้ามพ้นความแตกต่างระหว่างพวกเขาได้ และคิดว่าการเจรจารอบนี้คงจะสะดุดชะงักกันไปเป็นปีๆ

กระนั้นก็ตาม ผู้อำนวยการใหญ่ WTO ปาสกาล ลามี ก็ออกมาพูดกับโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีในวันเสาร์ว่า บรรดาผู้แทนสมาชิก WTO ซึ่งกำลังหารือกันอยู่ในเจนีวา น่าจะขยับเข้าใกล้การบรรลุข้อตกลงเข้าไปอีก โดยที่ "มีความรู้สึกกันอย่างแรงกล้าว่า ชั่วเวลาขณะนี้เป็นชั่วขณะแห่งความเป็นความตาย"

บรรดาผู้แทนการค้าหวนกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจากันอีกครั้งตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และลามีก็เรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้เหล่าสมาชิกปิดการหารือให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การเจรจาเข้าสู่ปีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปีหน้า อันเป็นช่วงเวลาที่คาดหมายได้ว่าวอชิงตันจะแทบไม่มีความยืดหยุ่นใดๆ ในการต่อรอง

**เรียกร้องแก้ปัญหาโลกร้อน

ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้นำสมาชิกเอเปกยังได้ออกคำแถลงเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนจากวิกฤตอุณหภูมิและดินฟ้าอากาศ โดยมีการเรียกร้อง ให้ลดการปล่อยก๊าซต้นเหตุของภาวะเรือนกระจก ตาม"เป้าหมายที่พึงปรารถนา" ตลอดจนขอให้ชาติสมาชิกแต่ละประเทศ ตัดทอนปริมาณการปล่อยก๊าซต้นเหตุภาวะเรือนกระจกลงเท่าที่พอจะเป็นไปได้กับความจำเป็นของแต่ละราย

"นับเป็นครั้งแรกที่มีการทำความตกลงทำนองนี้ในระหว่างชาติที่เป็นผู้สร้างมลพิษรายใหญ่ ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย" นายกรัฐมนตรี จอห์น โฮเวิร์ด แห่งออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิตคราวนี้ กล่าว

บรรดาผู้สนับสนุน"ปฏิญญาซิดนีย์"ฉบับนี้ บอกว่านี่การสร้างฉันทามติในประเด็นแสลงใจว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ และจะมีแรงขับเคลื่อนสืบไปสู่การประชุมชุดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่วอชิงตัน นิวยอร์ก และบาหลี ในอันที่จะทำให้ปฏิญญาซิดนีย์มาแทนที่พิธีสารเกียวโตที่จะหมดอายุไปในปี 2012

ด้านนักวิจารณ์ด้านสิ่งแวดล้อมมีท่าทีไม่เชื่อถือกับความพยายามนี้ พวกเขาเยาะเย้ยแนวความคิดที่เสนอแต่ "เป้าหมายที่พึงปรารถนา" โดยที่ไม่มีการระบุให้เจาะจงชัดเจน แถมยังไม่ผูกมัดให้ต้องมีการกระทำตามอีกด้วย

ในการนี้ นายกรัฐมนตรี เซอร์ ไมเคิล โซมาเร แห่งปาปัวนิวกีนีให้ความเห็นว่า ขณะที่เรารู้อยู่ว่าพิธีสารเกียวโตมีจุดบอด มันก็ต้องช่วยกันปรับปรุงและเสริมความแข็งแกร่ง มิใช่มาซ้ำเติมให้ยิ่งย่ำแย่ลง"

**สุรยุทธ์ยันหนุนค้าเสรี
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของไทยสนับสนุนการเจรจาการค้ารอบโดฮา ให้ประสบความสำเร็จ และเชื่อว่าการไปถึงจุดหมายดังกล่าวเป็นเรื่องไม่ยาก เพราะประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว สำหรับในส่วนของไทยจะยึดถือแนวทางให้มีการค้า ที่เสรีมากขึ้นต่อไป โดยสิ่งไหนที่ไม่สามารถตกลงในระดับทวิภาคีก็จะไปดำเนินการในระดับพหุภาคี

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปกครั้งที่ 15 นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางกลับประเทศไทยทันที และจะถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 (บน.6) เวลาประมาณ 24.00 น. ของวานนี้ (9 ก.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น