xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.งัดยุทศาสตร์เดินทางลัด ผนึกเอ็นจีโอเข้าตีพื้นที่อีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระแสความเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลานี้ ถือว่าอยู่ในภาวะฝุ่นยังฟุ้งกระจาย มองอะไรก็ไม่เห็นเด่นชัด เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศ พระราชกฤษฏีกาเลือกตั้ง ตลาดสดค้าขายนักการเมืองก็ยังไม่วาย เรียกได้ว่าเป็นช่วงของการ"ต่อรองเจรจากัน" พรรคไหน กลุ่มใด จะเสนอเงื่อนไขที่น่าจูงใจกว่ากัน ก็ต้องจับตามองกันต่อไป
ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ในเวลานี้ดูจะมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน นับตั้งแต่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยอมให้พรรคการเมืองจัดกิจกรรมต่างๆได้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ก็นำทีมเดินสายระดมทุนหาเงิน เตรียมไว้ใช้ในการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังบินลัดฟ้าไปโชว์วิชั่น ว่าที่ผู้นำประเทศไทยคนต่อไป กับบรรดาผู้นำประเทศต่าง ๆอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์ ถูกคาดการณ์อย่างมากว่า หลังจากที่คู่แข่ง อย่างพรรคไทยรักไทย ต้องกลายเป็นตำนานทางการเมือง เพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค พร้อมตัดสิทธิ์ทางการเมืองบรรดากรรมการบริหารพรรคไป 111 คน จึงมีการมองว่า ถนนทุกสายจะมุ่งตรงไปยังค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม แต่ก็ดูเหมือนการณ์จะผิดคาด เพราะกระแสข่าวผู้สมัครหน้าใหม่ๆ ของพรรคนี้ก็ยังเงียบๆไม่ฮือฮา หวือหวา เท่าที่ควร
แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการแถลงข่าวเปิดศูนย์บัญชาการการเลือกตั้งภาคอีสาน อย่างเป็นทางการ นำทีมโดย นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัน อดีต ส.ว.นครราชสีมา พร้อมด้วยอดีต ส.ว.สายเอ็นจีโออีกหลายคน อาทิ นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว.อุบลราชธานี พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ อดีต ส.ว.นครวรรค์ นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีต ส.ว. สกลนคร รวมถึงนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในภาคอีสานอีกหลายคน ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็มีการเปิดตัวนายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีตส.ว.นครราชสีมา และอดีตรองประธานวุฒิสภา มาแล้ว
หากมองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเลือกตั้งในพื้นที่ภาคอีสาน ต้องยอมรับว่า สนามรบแห่งนี้ถือเป็นจุดบอดที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ การได้มาซึ่งที่นั่งส.ส.ในแต่ละยุคสมัย มีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนส.ส.ในภาคนี้ที่มีมากที่สุด
จากสถิติพรรคประชาธิปัตย์เคยได้ที่นั่งในอีสานมากที่สุดในปี 2529 จำนวน 28 ที่นั่ง จาก 100 และล่าสุดในการเลือกตั้ง 6 ก.พ. 48 ได้ ส.ส.มาเพียง 2 คน
ก่อนหน้านี้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ประเมินว่า ศึกเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะถึงนี้ น่าจะโอกาสดีที่พรรคจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอย่างไม่ยากเย็นนัก เพราะอย่างน้อยก็ไม่ต้องสู้กับกระแส ทักษิณ ฟีเวอร์ กับนโยบายประชานิยม แถมแหลกแจกสะบัดอีก จึงได้มีการชิงเคลื่อนไหวก่อนคู่แข่ง ด้วยการส่งผู้นำอย่าง"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ลงพื้นที่ พบปะกับชาวอีสาน เสนอขายวาระแห่งชาติ และนโยบายพรรค ในหลายจังหวัด แต่จากการที่ได้พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับแกนนำชุมชนต่างๆ รวมถึงนักวิชาการตามสถาบันต่างๆ ในภาคอีสานแล้ว พวกเขาพบว่า สนามเลือกตั้งถิ่นที่รายสูงแห่งนี้ ดูจะไม่ง่ายอย่างที่หวัง หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบยุทธศาสตร์การหาเสียง และนโยบายยังเป็นรูปแบบเดิม ๆ
"การเคลื่อนไหวทางการเมืองของอดีต ส.ส.ไทยรักไทย หรือ กลุ่มอำนาจเก่า ที่ยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง และหนักหน่วง แม้หัวขบวนจะถูกสกัดออกไปแล้วก็ตาม แต่จากการสัมผัสในพื้นที่ ก็ต้องยอมรับว่า อำนาจเก่ายังไม่ตาย ดูได้จากผลการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19ส.ค.ที่ผ่านมา ที่พบว่าคนอีสานไม่เอาด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้เราต้องหันกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์ในสนามเลือกตั้งอีสานอีกครั้ง การชูนโยบายขายฝันแบบเลื่อนลอย ไร้รูปธรรม คงจะไม่ได้ผลเหมือนที่ผ่านๆมา แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะเอานโยบายประชานิยมไปต่อสู้ แต่จะเป็นการปรับปรุงนโยบายใหม่ โดยยังคงยึดหลักการของพรรคไว้เช่นเดิม แต่จะเน้นให้เห็นถึงประสิทธิผลให้มากยิ่งขึ้น"
อีกทั้งที่ผ่านมากระแสความเป็น" พรรคภาคนิยม" ก็เป็นอุปสรรคสำคัญส่วนหนึ่งของ พรรคประชาธิปัตย์ เพราะถูกคู่แข่งหยิบยกมาเป็นกระแสโจมตีอย่างต่อเนื่อง ว่า เป็นพรรคการเมืองของคนภาคใต้ ซึ่งทางแกนนำในพื้นที่ภาคอีสานเองก็ยอมรับว่าตรงนี้เป็นจุดที่เป็นปัญหาต่อการชนะใจคนอีสานได้อย่างที่หวังไว้ แม้จะมีความพยายามลบภาพลักษณ์ตรงนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดกิจกรรมให้แกนนำพรรคลงไปคลุกคลีในพื้นที่อยู่เป็นระยะก็ตาม และยุทธศาสตร์ การวางตัวแม่ทัพ และ ขุนพลในสนามอีสาน อย่าง "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการพรรค ที่มียี่ห้อคนภาคใต้ติดอยู่ที่หน้าผาก มาผนึกกำลังกับแกนนำที่ไม่ได้รับความนิยมในพื้นที่แล้ว อย่าง" สุทัศน์ เงินหมื่น" อดีตรองหัวหน้าพรรค ที่ไม่เคยสร้างเครือข่ายฐานเสียงในพื้นที่ได้เลย หรือแม้จะมีมือดี มือเก่า อย่าง "นิพนธ์ พร้อมพันธ์" หรือ ดาวรุ่ง "วิทูรย์ นามบุตร" สองรองหัวหน้าพรรคภาคอีสาน มาช่วยเสริมก็ตาม ก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับสนามเลือกตั้งแห่งนี้
พรรคประชาธิปัตย์ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีใหม่ ยอมละทิ้งขนบเดิมๆ คือ ระบบอาวุโส ที่มอบอำนาจการตัดสินใจ ให้กับแกนนำพรรคที่มีความผูกพันกับพรรคมายาวนาน ส่วนผู้มาใหม่ต้องไปต่อท้ายแถว โอกาสที่จะได้รับการวางตัวให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งยังยาก เรื่อมอบอำนาจให้คุมทีมนำทัพนั้นอย่าหวัง
การยอมถอยห่างออกมาของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" แล้วยอมให้กลุ่มของ "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ" และพรรคพวก เข้ามารับหน้าที่ขุนพล ถือธงนำในพื้นที่อีสาน จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ อย่างแท้จริง เพราะนอกจากคนกลุ่มนี้ จะมีชื่อเสียง ในฐานะนักการเมืองคุณภาพแล้ว ยังมีเครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วภาคอีสาน ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งที่ตนเองอาศัยอยู่
จึงเป็นปรากฎการณ์ที่น่าจับตา น่าบันทึก ศึกษา ว่า ยุทธศาสตร์การฟื้นเครือข่ายของ เอ็นจีโอ โดยคนกลุ่มนี้ จะสามารถเข้าไปเจาะฐานเสียง และ เอาชนะใจคนอีสาน โดยเฉพาะกลุ่มพื้นที่เขตเมือง เพื่อเะพิ่มจำนวนส.ส. เขต และเก็บสะสมคะแนนส.ส.ระบบสัดส่วนกลุ่มจังหวัด เพิ่มให้พรรคประชาธิปัตย์ จนสามารถที่จะทำให้ฝันของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ " ในการก้าวขึ้นสู่ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น