รายงาน “ลึก-หกสิบ ลับ-สี่สิบ” ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า การสร้างเขื่อนแม่น้ำสาละวินในพม่า ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการในลักษณะร่วมมือ-ร่วมทุนกับพม่า เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่นั้น เป็นเรื่องอันตราย
เพราะพื้นที่น้ำท่วมหลังเขื่อนที่มีอาณาเขตมหาศาลนั้น จะท่วมเขตยึดครองหรือพื้นที่อิทธิพลของชนกลุ่มน้อยในพม่า เท่ากับเอาน้ำไปขับไล่ชนกลุ่มน้อยออกไป ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม เช่น ขิ่น จะไม่เหลือพื้นที่ของตนเองเลย ชนกลุ่มน้อยเผ่า กะเหรี่ยง คะเรนนี่ คะฉิ่น และ ไทยใหญ่ ต่างได้รับผลกระทบทั้งเรื่องดินแดนยึดครอง และยุทธศาสตร์ของเขาในการต่อสู้กับทหารพม่า
รายงานชุดนี้ยังไม่จบ-ก็เกิดเหตุร้ายขึ้นกับคณะสำรวจของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่เข้าไปทำงานในพม่า เมื่อมีผู้ขว้างระเบิดสองลูกเข้าใส่แคมป์คนงาน ที่พัก ซึ่งมีคนไทยอยู่ในแคมป์นั้นประมาณ 40 คน วิศวกรสำรวจหนุ่มคนหนึ่งเสียชีวิต
นี่เป็นสัญญาณแรกของการขัดขวางต่อต้าน ซึ่งอาจจะประมาณว่าเป็นสัญญาณเตือนอย่างเบาบาง
ในขณะเดียวกันก็มีข่าวซ้อนออกมาว่า ไม่ใช่การขว้างระเบิดมือ แต่เป็นกระสุน ค. (เครื่องยิงระเบิด) เป็น ค. 60 ของทหารพม่าที่ยิงพลาดเข้ามา, โดยเรื่องกระสุน ค. ของทหารพม่านี้ จาก “การข่าวในพื้นที่” ว่าเป็นการพลิกสถานการณ์ใหม่ ไม่ให้เกิดความตระหนกหรือวิตกกันในระยะยาว ว่านี่เป็นเรื่องของความผิดพลาดทางเป้าหมายของทหารพม่าที่ยิง ค.พลาด มิใช่เป็นการบุกเข้าขว้างระเบิดมือของผู้ต่อต้าน
เพราะการยิง ค.พลาดเป้าหมายคืออุบัติเหตุซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะจุด เฉพาะเวลา
แต่หากเป็นการกระทำของชนกลุ่มน้อย จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อีก และหนักมือขึ้น!
“ผู้ทำงานการข่าวในพื้นที่” คนหนึ่ง, ให้ความเห็นต่อไปว่า แม้จะโยนเหตุไปว่าเป็นการยิงลูก ค.ของทหารพม่าเองพลาดเป้าหมาย ก็จะต้องนำไปสู่เหตุผลของการใช้กระสุน ค.ของทหารพม่านั้น ว่ามีสถานการณ์หรือเหตุการณ์ใดที่ทำให้ต้องใช้ ค.
เป็นการยิงขับไล่ หรือหวังทำลายการปรากฏตัวของชนกลุ่มน้อยที่มาเกาะติดแคมป์งานของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ของไทย จะโดยการลาดตระเวนพบ หรือการสังเกตการณ์ หรือจากการได้รับแจ้งข่าว
หรือเป็นการยิงข่มขวัญอย่างไม่มีเป้าหมาย เป็นการรบกวนการเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อย โดยที่ ค. 60 นี้ถือเป็นเครื่องยิงระเบิดขนาดเบา รุนแรงกว่าการใช้ M-72 เล็กน้อยเท่านั้น และถือว่าเป็นอาวุธในระยะประชิดตามยุทธวิธีของทหารราบ, แต่โดยสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติการของทหารกู้ชาติชนกลุ่มน้อย หรือของทหารพม่าเอง โดยข้อสรุปคือ : สถานการณ์รบได้เกิดขึ้น ระดับของความปลอดภัยอยู่ในขั้นมีอันตรายประชิดตัว!
เขื่อนใหญ่ของแม่น้ำสาละวินที่เรียกว่า “เขื่อนบน” นั้น มีชื่อเขื่อนว่า “ฮัดจี” หรือ “ฮัดจิ”
น้ำจากเขื่อนบนที่ใช้เป็นพลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว จะถูกนำมาใช้ประโยชน์อีก ด้วยการสร้างเขื่อนล่างเก็บกักน้ำนั้นมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าอีก และลดหลั่นกันลงมาอีกหลายเขื่อน เช่นเดียวกับที่ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีทั้งเขื่อนบนและเขื่อนล่าง
ดังที่ได้รายงานไปแล้วในตอนก่อนๆ ว่า การสร้างเขื่อนสาละวินนี้ ทางไทยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เป็นหัวเบี้ยใหญ่ ส่วนทางรัฐบาลพม่าซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่นั้น การร่วมทุนทางพม่าจะมีผู้ใดเข้าร่วมทุนด้วยก็เป็นเรื่องของทางพม่า ผู้ร่วมทุนทางฝ่ายพม่าอาจจะเป็นนักธุรกิจไทย หรือมีกลุ่ม “ทักษิณ” อยู่ด้วย เพราะหลักการนี้เกิดขึ้นสมัยที่ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ผู้ซึ่งแนบแน่นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างยิ่ง เป็นนายกรัฐมนตรีกุมอำนาจสูงสุดในพม่า
มีแผนที่จะผันน้ำจากเหนือเขื่อนสาละวิน มาเติมน้ำให้เขื่อนภูมิพลของไทย ซึ่งก็คงจะไม่ให้น้ำนั้นฟรีๆ ก็เท่ากับว่าขายน้ำให้กับไทยได้อีก นอกจากการขายกระแสไฟฟ้า
โครงการร่วมทุนในส่วนของพม่านี้ จึงเป็นการลงทุนแบบเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ รวยกันไปเจ็ดชั่วโคตรของกลุ่มอำนาจเก่า
รายงานได้กล่าวไว้แล้วเช่นกันว่า “ว้า” เข้ามาเกี่ยวข้องกับเขื่อนสาละวิน ในส่วนของพม่าคือเป็นผู้ให้ความคุ้มครองดูแลความปลอดภัยระหว่างก่อสร้าง การดูแลความปลอดภัยของตัวเขื่อน และระบบการส่งกระแสไฟฟ้า โดยว้าจะได้ค่าตอบแทนคือเป็นเจ้าของ “ไม้” ทุกต้นในเขตน้ำท่วมเหนือเขื่อน ซึ่งมีมูลค่าถึง 1 แสน 2 หมื่นล้านบาท (แต่คงจะตัดชักลากนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ครบทุกต้น ต้องปล่อยให้แช่น้ำยืนตายอยู่ในเขื่อน ก็จะลดค่าลงมาเป็นประมาณ 1 แสนล้านบาท)
วงจรทางธุรกิจในพม่าของกลุ่มอำนาจเก่าจึงเกี่ยวข้องกับว้า และจะมีความชัดเจนเห็นกับตาว่ามีความเกี่ยวข้องกันจริง คือ การร่วมธุรกิจกับว้าในการตั้งโรงเลื่อยแปรรูปไม้ที่ว้าได้รับออกสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะไม้สักที่เป็นความต้องการของยุโรป ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้พะยูง ซึ่งมีตลาดในจีนและญี่ปุ่นรองรับอยู่
เท่ากับกลุ่มอำนาจเก่าได้ประโยชน์มหาศาลจากเขื่อนสาละวิน ตั้งแต่ไฟฟ้า น้ำ ไม้ ครบวงจร ยกเว้นแต่ว่าไม่ได้ตัดไม้มาเผาถ่าน โรงงานผลิตตะเกียบ หรือทำไม้จิ้มฟัน
บริเวณเหนือเขื่อนที่เป็นเขตน้ำท่วมนี้ นอกจากป่าไม้แล้ว ยังเป็นขุมทรัพย์ที่มีมูลค่าอันประมาณไม่ได้ของ แหล่งพลอย ทับทิม โกเมน ที่จะต้องถูกน้ำท่วมไปด้วย ขุมทรัพย์ในแผ่นดินที่จะอยู่ใต้น้ำนี้เป็นแหล่งเศรษฐกิจเลี้ยงตัวของกองทัพชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะพลอย และทับทิมพม่าอันเลื่องชื่อ ถ้าหากว่าแหล่งอัญมณีเหล่านี้ถูกน้ำท่วมก็เท่ากับว่าเป็นการตัดกำลังท่อน้ำเลี้ยงของกองทัพชนกลุ่มน้อยทั้งหมด เท่ากับเป็นการใช้น้ำละลายกองทัพ นอกเหนือไปจากการที่เขตน้ำท่วมจะทำให้การประสานกำลังของทหารชนกลุ่มน้อยที่เคยเคลื่อนไหวในเขตป่าเขาต้องถูกตัดขาด แยกกำลังออกเป็นหลายๆ ส่วน ทำให้อ่อนแอลง และต้องสลายตัวไปในที่สุด
เรื่องของแหล่งพลอยและทับทิมในเขตน้ำท่วมนี้ ทางกองทัพว้าก็อยากจะได้ โดยทำการขุดค้นหาขึ้นมาเสียก่อนจะถูกน้ำท่วม แต่นโยบายของผู้มีอำนาจเก่าคือ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ว่าทางพม่าจะเป็นผู้ทำเอง คือเอาขึ้นมาให้มากที่สุดก่อนจะอยู่ใต้น้ำไปชั่วกาลนาน ซึ่งก็เป็นไปได้ว่ากลุ่มอำนาจเก่าที่สนิทสนมกับ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ จะเข้าร่วมทุนทำธุรกิจเหมืองอัญมณีในเขตน้ำท่วมนี้ด้วยก็ได้ เรียกว่ามีอะไรที่ทำเงินได้จากเขื่อนสาละวิน จะต้องเข้าไปเก็บเกี่ยวมีเอี่ยวอยู่ด้วยทั้งหมด, แต่เรื่องนี้เมื่อเปลี่ยนอำนาจใหม่เป็น พล.อ.หม่อง เอ ผู้บัญชาการทหารบก จะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่-เป็นสิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไป
พิเคราะห์ดูแล้ว-ประโยชน์ที่ได้จากเขื่อนสาละวินนั้น มีเบื้องหลังอยู่กับผลประโยชน์มากมายที่อยู่เบื้องหลัง และจะต้องมองอนาคตด้วยว่า การก่อสร้างเขื่อนนี้จะมีอุปสรรคอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ ซึ่งได้เริ่มการขัดขวางแล้ว และต้องมองด้วยว่า การที่จะให้ทหารว้ามาเป็นผู้คุ้มกันรักษาความปลอดภัยนั้น ทหารว้าจะทำได้ในระดับใด เพราะอยู่นอกเขตพื้นที่ว้า ทหารว้าไม่มีความเจนจัดรู้พื้นที่เหมือนกับทหารชนกลุ่มน้อยเจ้าของพื้นที่นั้น