xs
xsm
sm
md
lg

กกต.สั่งเช็คหัวคะแนน-ส่งข้อมูลให้รู้ทุกเดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกต.ประกาศทำงานเชิงรุก สั่งพื้นที่ทำบัญชีหัวคะแนนและความเคลื่อนไหวของหัวคะแนนส่งเข้า กกต.ทุกเดือน เพื่อเตรียมไว้จับทุจริตช่วงเลือกตั้ง ด้านสภาทนายความ ออกแถลงการณ์ ค้านทำ MOU กับอียูในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ระบุหากจะทำต้องนำเข้าที่ประชุมสภา และถามความเห็นประชาชน ตาม รธน.ปี 2550 กำหนด

นายสมชัย จึงประสริฐ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านสืบสวนสอบสวน กล่าววานนี้ (4 ก.ย.) ว่า การทำงานด้าน สืบสวนสอบสวนของ กกต.จะมีการทำงานเชิงรุกมากขึ้น ต่างจากสมัยก่อน ที่รอให้มีเรื่องเสียก่อนแล้วค่อยทำ แต่เดี่ยวนี้จะมีการป้องปรามและหาพยานหลักฐานต่างๆ เตรียมไว้เพื่อจะรู้ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น

นายสมชัยยังกล่าวด้วยว่า กกต. มีงบหาข่าวให้แต่ละพื้นที่อยู่แล้วจึงให้มีการ ทำบัญชีหัวคะแนนในแต่ละจังหวัดโดยให้รายงานผลกลับเข้ามาเป็นเดือนๆ นอกจากนี้ ยังมีการหาข้อมูลจากส่วนอื่นๆ ด้วยเช่นจากตำรวจ ขณะที่ส่วนกลาง ก็จะทำเครือข่าย รวบรวมข้อมูลเอาไว้ เพื่อใช้ในคราวที่จะมีการเลือกตั้ง เพื่อจับทุจริตการโกงเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้มีบัญชีแล้วแต่รายละเอียดคงจะบอกไม่ได้

“เราคาดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะรุนแรง จึงไม่ประมาท คิดว่า กกต.น่าจะต้องทำงานเชิงรุกคือเข้าไปหาข้อมูล เพราะฝ่ายนักการเมืองก็ห่วงว่า กกต.จะทำงานตามนักการเมืองไม่ทัน จึงอยากบอกว่าไม่ต้องห่วง เรามีการปรึกษาอะไรกันอยู่ ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่เฉยๆ”

นายสมชัย ยังชี้แจงกรณีไปบรรยายให้พนักงานกกต.ฟังและมีการระบุว่า การทำงานของ กกต.เป็นดาว 5 แฉก ว่า เป็นการสื่อความหมายผิดไป เพราะตนหมาย ถึง กกต.แบ่งงานเป็น 5 ด้าน การทำงานก็อ่อนลง ไม่ใช่หมายความว่า การทำงานของ กกต. เป็นดาวห้าดวง

“จริงๆ แล้ว กกต. เป็นดาวดวงเดียวกันแต่มี 5 แฉก ซึ่งดาว 5 แฉกคือดาวพฤหัส ที่มีพลังมากที่สุดในสุริยจักรวาล จึงจะมีพลังพอที่จะไปจัดการเลือกตั้งจับคนไม่สุจริตได้ หากลำพังต่างคนต่างทำ กำลังก็จะหายไป เราต้องให้เจ้าหน้าที่เห็นว่า อย่าแบ่งเขาแบ่งเรา”

ผู้สื่อข่าวถามว่า กกต. มีความแตกแยกหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า กกต.แบ่งเป็น 5 ด้าน บางคนก็คุมเฉพาะด้านตัวเอง และบางทีพนักงานก็แยกเป็นส่วน โดยมองว่า งานของตนก็สนใจเฉพาะตรงนี้ ส่วนอื่นก็ไม่สนใจ กกต.ส่วนกลางยังดีที่มีพนักงานหลายคนก็สามารถทำงานไปได้ แต่ใน กกต. จังหวัดที่มีคนไม่กี่คน แล้วยังมาแบ่งพลังทำงานก็จะลดลงไปเราเห็นว่าควรจะสามัคคีกันอะไรช่วยได้ก็ต้องช่วยกันยืนยันว่าไม่มีข้อขัดแย้ง

นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ออกแถลงการณ์ กรณีกลุ่ม สหภาพยุโรป (อียู) ขอทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจหรือ MOU เพื่อขอเข้าสังเกตการณ์เลือกตั้งว่าการทำ MOU ต้องดูบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง ถึงวรรคสี่ ที่กำหนดเกี่ยวกับขั้นตอนการลงนามสัญญาระหว่างประเทศ ไว้ว่า เมื่อรับเรื่องเกี่ยวกับสัญญาใดที่ผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้าง หรือมีความผูกพันด้านการค้า ด้านการลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะต้องให้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว

และในมาตรา 190 วรรคสาม ยังกำหนดไว้ด้วยว่า ก่อนทำหนังสือสัญญากับองค์การระหว่างประเทศ ครม. ต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น รวมทั้งให้ ครม. เสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย

ดังนั้นหากการทำบันทึกข้อตกลงของอียูจะมีสาระสำคัญ เช่นให้ กกต.ไทยจะต้องให้หลักประกันของผู้แทนอียูที่จะมีสิทธิเสรีภาพเข้าถึงทุกขั้นตอน การประชุม การจัดเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งให้สิทธิเข้าไปดูแล การบริหารการเลือกตั้งโดยให้คณะผู้แทนอียูมีสิทธิ์เข้าสังเกตการณ์เลือกตั้งใดก็ได้ ถือได้ว่าการเสนอทำข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อความมั่งคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ประกอบกับเมื่อพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 190 แล้ว เห็นได้ว่ารัฐบาลไม่ควรทำบันทึก MOU ดังกล่าวกับกลุ่มอียูเพราะถือว่ากรณีดังกล่าว มีผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ ซึ่งแม้ อียูอ้างว่าคณะผู้สังเกตการณ์จะไม่แทรกแซงกระบวนการเลือกตั้ง อำนาจอธิปไตยโดยเด็ดขาดก็ตาม

โดยสภาทนายความเห็นว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศนั้นจะต้องดำเนินการ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของประเทศใดนั้น โดยให้เกียรติและเคารพในอำนาจอธิปไตยของประเทศนั้นซึ่งถือเป็นหลักสากล ที่ยึดถือปฏิบัติกันมา แต่ความร่วมมือระหว่างประเทศใดที่มีการสร้างเงื่อนไขต่อรอง เพื่อให้ประเทศหนึ่งได้สิทธิพิเศษใดๆ ในรูปแบบอภิสิทธิ์ชนต่างชาติในกิจการภายใน ของประเทศนั้น และไม่ควรจะให้เกิดขึ้นโดยการเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง รวมทั้งรัฐบาลไทยและ กกต.ไม่ควรจะต้องถึงขั้นการทำบันทึกเอ็มโอยู เพราะในทางปฏิบัติมีข้อบังคับสำหรับการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แห่งราชอาณาจักรไทยบังคับใช้อยู่แล้วซึ่งสามารถนำมาใช้ได้กับทุกหน่วยงานที่ต้องการเข้ามาสังเกตการณ์ในประเทศไทย

วันเดียวกันเวลา 12.00 น. นายชนาพัทธ์ ณ นคร เครือข่ายเตมูจิน ได้เดินทาง มายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธาน กกต.ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำนักงาน กกต. โดยมีการนำเอกสารแสดงรายชื่อนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกเทศมนตรี ที่นายชนาพัทธ์ระบุว่าเป็นเครือข่ายหัวคะแนนของพรรคไทยรักไทยเดิม หรือพรรคพลังประชาชนในปัจจุบัน มามอบให้ กกต.

“ข้อมูลที่ได้มานั้นเป็นเรื่องจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเป็นข้อมูลด้านการเงิน ที่มีบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคม บริษัทผลิตชินส่วนรถยนต์ และบริษัทก่อสร้าง และยังมีบริษัทอีกเป็นจำนวนมากดำเนินการเปิดบัญชีในธนาคารพานิชย์ โดยใช้ชื่อพนักงานในบริษัทเหล่านี้ในการเปิดบัญชีก่อนจะนำบัตรเอทีเอ็ม พร้อมรหัสไปให้หัวคะแนนตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งนายก อบจ.ที่เป็นเครือข่าย จะได้รับบัตรเอทีเอ็มคนละ 3 ใบวงเงิน 10 ล้านบาท ส่วนนายกเทศมนตรี อบต. จะได้รับบัตรเอทีเอ็มคนละ 1ใบ วงเงินประมาณ 3-4 ล้านบาท จึงอยากให้กกต. เข้ามาตรวจสอบเพื่อขยายผล เกี่ยวกับเส้นทางการจ่ายเงิน ตามท่อน้ำเลี้ยงต่างๆ เพราะจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการเลือกตั้งส.ส. หากกกต.ดำเนินการได้ก็จะเป็นประโยชน์ ต่อสาธารณะเพราะจะได้ตัดท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มอำนาจเก่า”

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมครม.ว่า ในการประชุม ครม.นอกรอบร่วมกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการตั้ง คณะกรรมการรณรงค์ช่วยการเลือกตั้งตามที่ตนเสนอว่า ได้มอบหมายให้ตนไปหารือกับ กกต.ก่อนว่า การเลือกตั้งที่บริสุทธ์นั้น ต้องช่วยกันตรวจสอบดูแลทั้งรัฐบาลและ กกต.โดยมีส่วนราชการ ร่วมสอดส่องดูแลหาข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้ง และการทุจริต ซึ่งตนจะประสานกับ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกกต.มาหารือในเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.00 น. วานนี้ (4 ก.ย.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.ได้เข้าหารือกับนายธีรภัทร์ เกี่ยวกับคณะกรรมการรณรงค์ช่วยการเลือกตั้ง

หลังการหารือ นายสุทธิพล กล่าวว่า รัฐบาลได้หารือเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันในการส่งเสริมเรื่องของประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งได้มีการหารือกันถึงกรอบของการทำงานที่จะทำอย่างไรจึงไม่ซ้ำซ้อน และ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“ผมได้ย้ำว่า กกต.เป็นองค์กรอิสระ ดังนั้นจึงไม่อยากให้การทำงานของ กกต.ถูกแทรกแซง หรือกระทำการใดๆ ที่จะกระทบต่อการทำงานของ กกต. ซึ่งนายธีรภัทร์ ก็ได้เสนอแนวทางที่จะจัดตั้งเป็นรูปคณะกรรมการประสานงานกัน โดยมีคนของรัฐบาลเป็นหลัก และ กกต.ก็ส่งคนเข้ามาร่วม”
กำลังโหลดความคิดเห็น