xs
xsm
sm
md
lg

ระยอง ระโยง ระยางดูท่าจะยุ่งยาก

เผยแพร่:   โดย: การุณ ใสงาม

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา พ่อแม่พี่น้องประชาชนจากจังหวัดระยองได้เดินทางมาพบผมที่สถานีโทรทัศน์ ASTV เพื่อขอความช่วยเหลือ และขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นและกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่

โดยวันจันทร์ที่ผ่านมา ชาวระยองกว่าหนึ่งหมื่นคนได้รวมตัวกันประท้วงเพื่อต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินนำโดยเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกอีกครั้งหนึ่ง

จังหวัดระยองเองมีปัญหาเรื่องมลพิษสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมสกปรกจำพวกปิโตรเคมีมานานตั้งแต่ปี 2540 นับถึงเวลานี้ก็เกือบ 10 ปี ที่ทางการภาครัฐไม่ได้แก้ไขเยียวยาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการย้ายโรงเรียนมาบตาพุดออกไป หรือการย้ายโรงพยาบาลมาบตาพุด ไม่ได้บ่งบอกหรือสะท้อนความคิดที่จะแก้ปัญหาของผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัด ยังคงปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญกับโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอด มะเร็งตับ โรคไต โรคทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ โรคผิวหนัง

ปี 2550 นี้ยังซ้ำเติมชาวบ้านด้วยการให้บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เตรียมการเข้ามาดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า บริเวณตำบลตะพง ตรงข้ามกับโรงงานไออาร์พีซี หรือทีพีไอเดิม เนื้อที่ประมาณ 3 - 4 พันไร่

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี มีจำนวน 2 ยูนิต ขนาด 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินนำเข้าเป็นเชื้อเพลิงในพื้นที่ของไออาร์พีซี ใช้เงินลงทุนประมาณ 56,000 ล้านบาท (1 เมกะวัตต์ใช้เงินลงทุนประมาณ 35 ล้านบาท) ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำอีไอเอ (EIA) หรือการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะได้นำผลส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (ส.ผ.) เพื่ออนุมัติให้มีการก่อสร้าง และเตรียมที่จะวางสายพานลำเลียงถ่านหินไปที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่มีพื้นที่ว่างจำนวน 4 พันไร่

โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่และส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่บริเวณนั้นอย่างมากมาย เมื่อมีเสียงท้วงติงจากชาวบ้านบริเวณนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับใช้วิธีการเลี่ยงบาลี ไปเดินสายชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชน และชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่ ให้ทราบถึงผลดีและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านกลุ่มที่ไปชี้แจงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว

เริ่มต้นโครงการก็มีการหมกเม็ดเจ้าเล่ห์เพทุบาย ราวกับจะบอกถึงความไม่ชอบมาพากลของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ใช้เล่ห์กลต่างๆ หลอกลวงชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านรวมตัวกันไม่ยอม มีการประท้วง กระแสความไม่พอใจเริ่มมากขึ้น บริษัทก็พยายามลดแรงเสียดทานด้วยการเชิญแกนนำชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่เข้าไปเยี่ยมชมโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี เพื่อให้ดูระบบบำบัดน้ำเสีย

เอาอกเอาใจชาวบ้านถึงขนาดนำรถตู้ไปรับถึงบ้าน แต่เมื่อชาวบ้านทั้งหมดไปถึงโครงการกลับให้ไปรวมกันที่ห้องประชุม พร้อมทั้งแจกแบบสอบถามความคิดเห็น เท่านั้นไม่พอยังมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเทศนาให้ชาวบ้านฟังโดยที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเข้ามาศึกษาดูงานตามที่โรงงานแจ้งไป

ที่ร้ายไปกว่านั้นคือแบบสอบถามที่ชาวบ้านตอบ บริษัทได้นำไปเป็นส่วนประกอบในการทำประชาพิจารณ์ เสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งระบุว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบให้มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้

ใช้คำถามนำว่าชาวบ้านต้องการใช้ไฟฟ้าหรือไม่ ไฟฟ้ามีความจำเป็นและมีประโยชน์หรือไม่ ชาวบ้านที่ไหน ใครๆ ก็ต้องตอบเหมือนกันว่าต้องการมีความจำเป็นและมีประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น

บริษัทนำนโยบายประชานิยมมาใช้กับชาวบ้านในพื้นที่ ได้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นโดยมีเสียงคัดค้านหรือการต่อต้านให้น้อยที่สุด เช่น การให้เงินสนับสนุนการนำกระแสไฟฟ้าเข้าไปยังหมู่บ้าน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเคยขอความช่วยเหลือแต่บริษัทไม่สนใจไม่พิจารณาให้ความช่วยเหลือ แต่ตอนนี้กลับรีบมีการอนุมัติอย่างรีบเร่ง

เท่านั้นยังไม่พอยังมีการอัดฉีดด้วยการให้เงินกองทุนในการฟื้นฟูแม่น้ำระยอง ให้ลูกหลานผู้นำชุมชนเข้าไปเป็นพนักงานบริษัท มีการจัดโครงการพาผู้นำชุมชนไปศึกษาดูงาน (ท่องเที่ยว) ต่างประเทศ และให้ชาวบ้านเป็นพนักงานประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้าน โดยไม่ต้องเข้าทำงานในบริษัท เพียงแต่อยู่บ้านเฉยๆ ก็เป็นพนักงานบริษัท

โปรโมชันแบบนี้เองทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลประโยชน์เกิดอาการเป็นใบ้ หูหนวก ตาบอดกันไประยะหนึ่ง

หลงลืมถึงผลกระทบที่ตนเองและครอบครัวจะได้รับในอนาคตไปจนหมดสิ้น ชาวบ้านลืมตัวอย่างลืมความทุกข์ทรมานของชาวบ้านที่อยู่บริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่มีผู้คนเสียชีวิตและไม่สบายจำนวนมาก

มลพิษที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะประกอบด้วยสารพิษจากฝุ่นกำมะถัน สารตะกั่ว ปรอท ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านจังหวัดระยองต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้

ภาวะฝนกรด (Acid Rain) ที่จะตามมาจะก่อให้เกิดความเสียหายมากมายมหาศาล เพราะฝนกรดนี้จะสามารถทำปฏิกิริยากับสารได้หลายชนิด ทำให้วัสดุอุปกรณ์ตลอดจนสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยโลหะเกิดการกัดกร่อนผุพังขึ้น พื้นคอนกรีตหรือสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยปูนถูกกัดกร่อน มิหนำซ้ำยังทำให้พืชผักผลไม้ต่างๆ เกิดความเสียหาย ฝนกรดที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำจะทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ถูกทำลาย

การที่บริษัทคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินการที่ถูกที่สุดโดยใช้ถ่านหิน แต่ต้นทุนทางสังคมที่มีต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมกลับต้องสูญเสียไป ท่านผู้มีอำนาจไม่เคยคิดถึงผลกระทบทางลบเหล่านี้

ให้ชาวบ้านออกมาร้องแรกแหกกระเชอ สู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและชุมชนคงไม่ถูกต้องนัก จะไปหวังพึ่งนักการเมืองระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัดหรือแม้แต่ระดับชาติที่ชาวบ้านอุตส่าห์ลงคะแนนเลือกก็ยังหลอกลวงชาวบ้านหน้าตาเฉย หวังเพียงเงินใต้โต๊ะเท่านั้น ไม่มีความละอายใจแม้แต่น้อย

ผมขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing ) แบบโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และควรให้เกียรติกับประชาชนคนในพื้นที่ในเขาได้มีโอกาสได้แสดงถึงสิทธิที่เขามีและเป็นสิทธิชุมชนที่เขาต้องปกป้องรักษา ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

มาตรา 67 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้รับความคุ้มครอง เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายของสุขภาพอนามัย

อีกทั้งโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่ได้รับการศึกษาและประเมินผลกระทบต่างๆ เสียก่อน รวมทั้งต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน


บริษัทไออาร์พีซี อย่าอ้างแต่ความเป็นบริษัทธรรมาภิบาล (Good Governance) เที่ยวประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ต่อภายนอกประเทศเท่านั้น ควรที่จะแสดงความรับผิดชอบและพร้อมที่จะให้สังคมตรวจสอบความถูกต้องของโครงการดังกล่าวนี้ได้

ภาครัฐเองต้องไม่นิ่งดูดาย อย่าให้เกิดเหตุการณ์แม่เมาะ 2 ขึ้นมาอีก น่าแปลกที่บ้านเราไม่เคยมีการสรุปบทเรียนที่ผ่านมา ต้องปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงจะพอใจหรืออย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น