อุบลราชธานี- นักวิชาการ สมาคมคนอุบลฯประสานมือแก้ปัญหาผลกระทบโครงการสร้างถนนเลียบแม่น้ำมูล หลังจังหวัดร่วมอบจ.และโรงงานยาสูบหนุนงบ 28 ล้านกู้วิกฤตปัญหาให้ชาวบ้าน ย้ำโครงการพัฒนาใดก็ตามต้องถามความเห็นชุมชนและให้ชุมชนมีส่วนร่วมพัฒนา
จากกรณีชาวชุมชนริมแม่น้ำมูลฝั่งเทศบาลนครอุบลราชธานี ร้องเรียน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เมื่อคราวเดินทางมารับฟังปัญหาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำมูล เพราะผู้รับเหมาก่อสร้างถมดินสูงท่วมหลังคาบ้าน เมื่อมีฝนตก ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้าน อากาศไม่ถ่ายเท และมีฝุ่นละอองปลิวเข้าที่พักอาศัย ทำให้สภาพชีวิตของชุมชนเก่าแก่แห่งนี้กว่า 50 ครอบครัว ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
ต่อมา พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ไปดูพื้นที่ก่อสร้างและสั่งให้จังหวัดหาทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทันที จังหวัด จึงร่วมกับ อบจ. และโรงงานยาสูบจัดสรรเงินงบประมาณกว่า 28 ล้านบาท ใช้แก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว ซึ่งมีระยะทางก่อสร้างประมาณ 1.5 กิโลเมตร มี 4 ช่องทางการจราจร ปัจจุบันสำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างไปแล้วกว่า 50%
จากกรณีปัญหาโครงการดังกล่าว สมาคมชาวอุบลราชธานี เครือข่ายพลเมืองฮักอุบล มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาตุ้มโฮมคนอุบลไกลบ้าน เพื่อชวนคนอุบลฯที่มีชื่อเสียงมาทำลานริมมูลและฟื้นเมืองเก่าอุบลฯ โดยมีปราชญ์เมืองอุบลฯและคนเฒ่าคนแก่ เช่น นาย บำเพ็ญ ณ อุบล นายสุวิชช คูณผล พล.ท.น.พ.สืบพงษ์ สังขรมย์ ผศ.สิทธิพร ภิรมย์รื่น ร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาบ้านเมืองไปในทิศทางที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการที่เติบโตจากเมืองอุบลฯ เช่น นายขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายแก้วสรร อติโพธิ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและนายกสมาคมชาวอุบลราชธานี ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฎ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สมาชิก สนช.ร่วมถกปัญหาแสดงความห่วงใยเมืองอุบลฯ
ในวงเสวนาได้เสนอแนวความคิดว่า เมื่อเกิดโครงการพัฒนาใดๆ ชุมชนต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจการดำเนินโครงการในทุกขั้นตอน และโครงการต้องเอื้อประโยชน์ใต่อชุมชน ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยเหมือนเช่นโครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำมูลแห่งนี้
แต่เมื่อมีการทำโครงการถนนเลียบแม่น้ำมูลขึ้นมาแล้ว และไม่สามารถยับยั้งได้ กลุ่มผู้ร่วมเสวนา จึงเสนอความเห็นให้มีการปรับปรุงโครงการให้เกิดความผสมผสานกลมกลืนทางธรรมชาติ และให้ชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างได้รับประโยชน์จากโครงการ โดยอาจทำเป็นสวนสาธารณะ ในบริเวณที่ว่างที่เหลืออยู่ และทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติริมแม่น้ำมูล