ความสัมพันธ์โยงใยของ “อำนาจเก่า” กับว้าที่ผ่านทางพม่า โดยเฉพาะในยุคของ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ และการทำธุรกิจสายตรงกับว้า โดยบริวารคนใกล้ชิดผ่านบริษัทหงของว้า การส่งวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจากไทยไปสร้างรัฐว้าโดยกลุ่ม “ยุ้ย เมืองยอน” ก็ได้กล่าวถึงไปหมดแล้วในรายงาน “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” ชุดนี้ ที่ติดต่อกันมาหลายตอน
สะท้อนความเป็นจริงออกมาได้มากมายว่าอำนาจเท่านั้น ทำอะไรก็ได้ที่จะเป็นประโยชน์ทางธุรกิจ อะไรที่จะเป็นเงิน ก็ทำได้แม้ในลักษณะจะเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อชาติ โดยเฉพาะทางด้านความมั่นคง
ตั้งแต่การยินยอมให้พม่าเข้ามารุกล้ำดินแดนเหนือบ้านท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประโยชน์ทางดินแดนของพม่าและเป็นประโยชน์ต่อดินแดนว้าที่พม่ามอบให้ มาจนถึงการที่ผู้นำว้า 8 คนได้รับสัญชาติไทยในสมัยรัฐบาลก่อน
วันนี้, พูดถึงเรื่องความมั่นคงบริเวณชายแดนภาคเหนือ นอกเหนือไปจากปัญหายาเสพติด ที่ว้าเป็นผู้ผลิตออกตลาดโลก และไทยเป็นแหล่งซื้อยาบ้าใหญ่ที่สุด ก็คือ ความมั่นคงทางด้านการทหาร
“กองกำลังนเรศวร” ของ กองพลทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ กองทัพภาคที่ 3 ประจันหน้าอยู่กับว้าเกือบจะตลอดแนว โดยมีทหารพม่าประจำอยู่ในบางจุดที่ปรากฏตัวทหารพม่า เช่น ตั้งแต่แม่น้ำโขงเลาะเลียบแม่น้ำรวก แม่น้ำสาย มาถึงเมืองท่าขี้เหล็ก ตรงข้ามอำเภอแม่สาย และเลยตัวเมืองท่าขี้เหล็กไปถึงดอยช้างมูบ เขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง ที่มีถนนสายดอยตุง-แม่สายตัดผ่านไปตามไหล่เขาเกือบตลอดเส้นทางนั้น แนวเสาไฟฟ้าที่ปักข้างถนนคือจุดสิ้นสุดแผ่นดินไทย ลาดต่ำลงไปในหุบเขา หรือหุบเหวเป็นของพม่า ก็มีทหารพม่าตั้งหอสังเกตการณ์อยู่ตลอดเส้นทาง และเหนือขึ้นไปพ้นสายตาที่พรมแดนหักขึ้นเหนือไปบ้านแม้วเก้าหลัง บ้านหัวแม่คำ ที่เป็นจงอยแบบปากนกแก้วอื่นเข้าไป ก็มีกำลังของว้าเป็นผู้รักษาการณ์ จงอยหัวแม่คำหักลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้เข้าบ้านนาโต๋ ก็มีกำลังทหารว้าอยู่หนาแน่น เรียกว่าวางกำลังตั้งแต่หัวแม่คำลงมาไม่เกิน 500 เมตร จะมีฐานปฏิบัติการของทหารว้า หรือมูเซอร์ซึ่งเป็นชาวเขาที่มีความใกล้ชิดกับว้ามากที่สุด ตลอดแนวดอยลางมีสภาพเป็นเช่นนั้นคือมีทหารว้ามาปฏิบัติการแทนทหารพม่า
นอกจากการปฏิบัติการเกี่ยวกับดินแดนแล้ว ก็เป็นแนวป้องกันให้กับแหล่งผลิตยาเสพติดที่เป็นขุมทรัพย์สำคัญ
ยาเสพติดจากโรงงานในเขตว้า จะไม่ผ่านดอยลางอย่างที่เคยเป็นมา-คือข้ามสันดอยลงมาเขตไทย แต่จะลำเลียงไปที่เหนือเมืองท่าขี้เหล็ก ตัดผ่านเขตไทยที่หัวแม่คำไปที่แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเขตปกครองของว้าที่ได้รับจากพม่าด้วย จากแม่น้ำโขงจะไม่ผ่านมาตามแม่น้ำโขงตรงๆ แต่จะลำเลียงข้ามไปฝั่งลาว ลำเลียงทางบกไปที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วของลาว แล้วลำเลียงไปโดยเรือสินค้าของลาว ผ่านหลวงพระบาง
ถึง “ปากแบ่ง” แขวงไชยบุรี ก็ขึ้นบกมาที่เมืองแก่นท้าว
เข้าไทยทางด้านอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย แล้วกระจายกันออกไปโดยย้อนกลับขึ้นทางภาคเหนือ ไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง
นี่เป็นเส้นทางอย่างกว้างๆ ที่ยาเสพติดของว้าใช้เป็นเส้นทางลำเลียงอยู่
สิ่งที่ทางกองกำลังนเรศวรต้องระมัดระวังและจับตามองเป็นพิเศษ อันถือว่าเกี่ยวกับความมั่นคงโดยตรง คือ ระบอบการปกครองของรัฐว้าที่เป็นคอมมิวนิสต์แบบจีน ที่เราเรียกกันว่า “ว้าแดง” นั้น ก็คือว้าคอมมิวนิสต์นั่นเอง การปกครองของว้าไม่ขัดแย้งกับพม่าเพราะเป็นสังคมนิยมแบบพม่า และสามารถกลมกลืนไปได้กับลาวที่เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
พรรคคอมมิวนิสต์ชนชาติว้าเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด โดยมี “เจ้ายี่ลาย” เป็นประธานพรรค และเป็นประธานาธิบดีรัฐว้า ที่เรียกตัวเองว่า สาธารณรัฐประชาชนว้า มีกรรมการกลางพรรคหรือบูริตบิวโร และมีองค์กรของพรรคเข้าควบคุมทุกส่วนโดยเฉพาะทหาร
ที่นำรูปแบบการจัดกำลังทหารของจีนมาใช้คือ กรรมาธิการทหารของพรรคเป็นผู้ควบคุมกิจการด้านทหารทั้งหมด ประธานกรรมาธิการทหารของพรรคคือผู้นำทางทหารที่แท้จริง ในรัฐบาลว้ามีกระทรวงกลาโหม แต่ก็ไม่ได้บังคับบัญชาทหารโดยตรง เพราะกองทัพประชาชนแห่งว้าขึ้นอยู่กับกรรมาธิการทหารของพรรค และส่วน “จัดตั้ง” ของพรรค ซึ่งก็เป็นทหารเช่นกัน
กองทัพว้าจัดเป็นรูปกองพลทหารราบทั้งหมด 3 กองพล หรือเท่ากับหนึ่งกองทัพใหญ่ มีทหารประจำการที่เป็นทหารหลักประมาณ 5 หมื่นคน และกองกำลังสำรอง (แต่ประจำการ) ปฏิบัติอยู่ในเขตเมืองชั้นใน และหมู่บ้านอีกประมาณ 5 พันคน ทุกคนมีอาวุธประจำกายคือ AK-47 อาร์ก้าที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนในระดับหมวด จะมีปืนกลเป็นอาวุธหนัก 3 กระบอก ระดับกองร้อย มีปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง (ปรส.) 2 กระบอก ระดับกองพันมีปืนต่อสู้อากาศยาน ทุกกองร้อยจะมีจรวดอาร์พีจี ซึ่งเป็นของจีนเช่นกันอยู่กองร้อยละ 30 ชุด มีเครื่องมือสื่อสารติดต่อกันได้ตั้งแต่ระดับกองทัพถึงระดับหมวด มีโรงเรียนฝึกอบรมทหารและการเมือง โรงเรียนเสนารักษ์ที่หนักไปทางฝังเข็มแบบจีน
กองทัพว้าไม่ได้เป็นชนเผ่าว้าทั้งหมด มีชนเผ่ามูเซอร์ จีนฮ่อ อยู่ด้วยเป็นอัตราที่สูงคือประมาณ 25% นอกนั้นเป็น ม้ง ลั๊วะ และขิ่น
ทุกคนภายใต้กองทัพว้าจะต้องสวมหมวกของกองทัพที่ดูเหมือนว่าจะดัดแปลงมาจากหมวกทหารกองทัพประชาชนจีน แต่ทรงตึงกว่า เครื่องหมายของกองทัพเป็นรูปวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว เป็นโลหะขอบทองภายในเป็นพื้นสีฟ้า ด้านล่างเป็นรูปเงาภูเขา 3 ลูกซ้อนมี 3 ยอดสีดำ เหนือขึ้นไปเป็นดาวสีแดงอยู่บนพื้นสีฟ้า
กองทัพว้ามีนายพลอยู่ 2 คนคือ “เจ้ายี่ลาย” ซึ่งเป็นประธานพรรคประชาชนว้า และประธานาธิบดีมียศเป็น “พลเอก” และ “เปา ยี่ เหยียน” หรือ “เปา เยา ยี่” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประธานกรรมาธิการทหารของพรรคมียศเป็น “พลเอก” เช่นเดียวกัน ในเขตรัฐว้านั้น ผู้มีสกุลหรือแซ่คือ “แซ่เปา” ซึ่งเป็นคนแซ่เดียวกับ เปา ยี เหยียน จะได้ตำแหน่งที่มีอำนาจทั้งในพรรค การปกครอง และทหาร
การประชุมสมัชชาประชาชนหรือการประชุมใหญ่ของพรรคประชาชนว้า ซึ่งมีการประชุมทุก 4 ปี เวลานี้เป็นช่วงของการประชุมสมัชชาสมัยที่ 5 เท่ากับว้าเป็นปึกแผ่นทั้งในพรรคและดินแดนมาแล้ว 20 ปี การประชุมสมัชชาประชาชนมีการเชื้อเชิญบรรดาสหายสังคมนิยมเข้าร่วมประชุมด้วย มีตัวแทนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าร่วม และนักสังคมนิยมจากไทยก็ได้เคยเข้าร่วมประชุมกับว้าด้วยเช่นกัน
ผู้ไปร่วมประชุมสมัชชากับว้าเคยเป็นรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 คน ซึ่งคงจะไม่ต้องบอกว่าเป็นใคร และเป็นรัฐมนตรีของรัฐบาลใด?