xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 58 สมเด็จโตรักษาโรคหัวใจ (ตอน 1)

เผยแพร่:   โดย: เรืองวิทยาคม

ปีพุทธศักราช 2510 เป็นปีที่สองที่ผมได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์โดยตรง แต่ความเคยชินในการดำเนินชีวิตช่วงนั้นยังคงสืบทอดต่อเนื่องมาจากปีก่อน

กลางวันผมก็ไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย ขากลับก็แวะเล่นหมากฮอส หมาก รุก กว่าจะกลับเข้าบ้านบางครั้งก็ค่ำมืดดึกดื่นค่อนคืน ตกเสาร์อาทิตย์มนูญผมกลับมาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ก็พากันไปเที่ยวเตร่เฮฮากับไสยวิทย์และศิริศักดิ์

ความเป็นไปในชีวิตผมนั้นไม่เท่าไหร่ แต่การที่มนูญผลพาลมาติดเที่ยวเตร่เฮฮากับผมและเพื่อนๆ ทำให้ไม่ต้องใจของคุณแม่ของมนูญผล รวมทั้งน้าๆ ด้วย ดังนั้นผมจึงมักถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ค่อยชอบใจนัก แต่ผมก็ถือเสียว่าแม่เพื่อน น้าเพื่อน ก็เหมือนแม่ตัว น้าตัว จึงได้วางใจเป็นปกติอยู่

เพราะเหตุดังกล่าวนั้นทั้งแม่และน้าของมนูญผลจึงไม่ได้ใส่ใจใดๆ ในการที่ผมกินอยู่ที่บ้าน เวลากินผมก็หากินเอง มีอะไรในครัวก็หามากิน หากไม่มีหรือกลับดึกค่ำมืดผมก็หากินข้างนอก เสื้อผ้าผมก็ซักเอง ซักไปก็ร้องเพลงไป ทำให้เกิดความเพลิดเพลินใจอีกอย่างหนึ่ง และเพื่อไม่ให้ยุ่งยากมากนักผมจึงไม่รีดเสื้อผ้า ถือเสียว่าเป็นของนอกกาย จึงทำให้สบายขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง

ที่หลับที่นอนผมก็จัดการเองทั้งหมด ห้องนอนของผมแม้ไม่ได้ปิดประตูแต่ก็ไม่มีใครมาดูแล ผมต้องปัดกวาดทำความสะอาดเอง

ตรงบริเวณทางเข้าประตูห้องนอนด้านซ้ายมือระดับเพียงตา ผมทำหิ้งพระตั้งรูปเจ้าประคุณสมเด็จ และรูปพระอาจารย์ที่ติดตัวมาตั้งแต่ครั้งเข้ามากรุงเทพฯ ใหม่ๆ เวลาจะไปไหนมาไหนผมก็จะกราบไหว้บอกกล่าวทุกครั้ง ถึงวันอุโบสถหรือวันปวารณาผมก็มักจะสวดมนต์ ทำสมาธิตามที่เคยมาแต่ก่อน

ดังนั้นระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์เวลาอยู่บ้านผมก็เหมือนกับอยู่ตัวคนเดียว แต่ก็มีความรู้สึกลึกๆ ในใจว่าไม่มีความโดดเดี่ยวเดียวดายเพราะในใจนั้นรู้สึกว่ายังอยู่ใกล้เจ้าประคุณสมเด็จ อยู่ใกล้พระอาจารย์ รู้สึกนึกคิดอย่างไรก็เหมือนกับว่ากราบเรียนปรึกษาหารือกันได้

อันชีวิตของคนเราจะโดดเดี่ยวเดียวดายหรือไม่ แท้จริงแล้วในส่วนร่างกายก็เป็นเพียงส่วนเดียว สำคัญกว่านั้นอยู่ที่ใจ หากใจไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายเสียแล้วก็จะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายเลย เพราะความรู้สึกที่โดดเดี่ยวเดียวดายนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจ แม้โดดเดี่ยวทางร่างกายเพราะไกลญาติพี่น้องเพื่อนพ้องทั้งปวงแล้ว แต่ถ้าไม่โดดเดี่ยวทางจิตใจก็จะมีความอบอุ่นทางจิตใจ และมีความเป็นอยู่ที่ผาสุกเสมอ

เพราะเหตุนี้ในพระพุทธศาสนาจึงอบรมสั่งสอนชาวพุทธให้ฝึกฝนอบรมจิตใจเป็นสำคัญ และการอบรมจิตใจนี้ก็คือเนื้อตัวที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นแล้วเป็นเปลือกเป็นกะพี้ทั้งสิ้น เพราะการบรรลุถึงมรรคผลนิพพานไม่ใช่การเดินทางที่ไปถึงด้วยกาย ไม่อาจตีตั๋วรถเมล์ รถไฟ หรือยานพาหนะใดๆ ไปได้เลย หากไปถึงได้ก็ด้วยจิตที่ได้รับการอบรมบ่มเพาะจนบรรลุภูมิธรรมขั้นสูงในพระพุทธศาสนาแล้วเท่านั้น แม้ทุกข์ก็เกิดและดับที่จิต วิชชาทั้ง 8 ในพระศาสนาจักสำเร็จได้ก็ด้วยจิต การกระทำอิทธิฤทธิ์ และปาฏิหาริย์ได้ก็ด้วยจิตทั้งสิ้น นามกาย ทิพย์กาย และธรรมกาย ก็เป็นเรื่องของจิตทั้งหมด นั่นเป็นเรื่องของภูมิธรรมขั้นสูง แต่ในขั้นของชาวบ้านก็สามารถประพฤติปฏิบัติฝึกฝนอบรมได้ตามอัชฌาสัยของแต่ละคน ฝึกฝนอบรมได้เท่าใดก็ได้รับผลเท่านั้น เป็นผลที่เกิดกับตัวเอง จะซื้อหาหรือให้คนอื่นทำแทนไม่ได้

วันหนึ่งในปีนั้นผมกลับจากมหาวิทยาลัยเร็วกว่าปกติ มาถึงบ้านเวลาราวบ่ายสามโมง พอเปิดประตูหน้าบ้านเท่านั้นก็ได้ยินเสียงคนร้องไห้ก็ตกใจ จึงรีบวิ่งขึ้นไปดู พอถึงหน้าประตูห้องเห็นคุณแม่ของมนูญผลนอนหงายอยู่กับพื้นในลักษณะแผ่หราแน่นิ่ง หน้าซีดเผือด น้าทั้งสองคนร้องไห้ในขณะที่มือก็นวดเฟ้น แล้วบอกว่าแม่เสียแล้ว

ผมได้ยินดังนั้นก็ยิ่งตกใจ ไม่ทันถอดรองเท้าก็ก้าวขึ้นไปบนห้องซึ่งเป็นห้องรับรองด้านหน้า ใช้มืออังที่ริมจมูกเพื่อจะรู้ว่ายังมีลมหายใจอยู่หรือไม่ เพราะสังเกตดูบริเวณทรวงอกไม่กระเพื่อมไหวเลย ปรากฏว่าแทบไม่รู้สึกว่ายังมีลมหายใจอยู่ จึงจับดูที่ชีพจรก็พบว่าชีพจรยังเต้นแต่ช้าและเบาหวิวมาก

ผมรู้ว่าถึงแม่ยังไม่ตาย แต่ชีวิตแม่คงอยู่ในอุ้งหัตถ์แห่งมัจจุราช และกำลังก้าวสู่ประตูแห่งความตายเป็นแท้แล้ว เพราะผมเคยเห็นอาการของคนใกล้ตายตั้งแต่ครั้งที่อยู่บ้านนอกมาหลายรายแล้ว คนบ้านผมนั้นเวลาป่วยไข้อาการมาก ญาติก็รักที่จะรักษาพยาบาลอยู่ที่บ้าน หรือถ้าหากคนไข้ไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่พอรู้ว่าอาการมากญาติก็จะรีบนำกลับมาบ้านเพื่อให้คนไข้มีความอุ่นใจ

ญาติพี่น้องจึงได้มีโอกาสเฝ้าไข้อย่างใกล้ชิด และบางครั้งญาติๆ ก็จะนิมนต์พระมาสวดจำเริญอายุให้กับคนไข้ นัยว่าเพื่อเป็นการต่ออายุให้คนไข้นั้นได้สร่างหายคลายจากโรคภัยไข้เจ็บ

ความจริงที่เรียกว่าการสวดจำเริญอายุนั้นก็คือการนิมนต์พระมาสวดพระปริตรบทสำคัญบทหนึ่งที่เรียกว่าโพชฌงคปริตร ประกอบกับพระปริตรอื่นๆ ตลอดจนบทพระคาถาสำคัญอันเป็นที่นับถือของชาวบ้านในถิ่นนั้นๆ

โพชฌงคปริตรเป็นบทสวดที่เชื่อถือกันมาว่าเป็นการเจริญอายุ ทำให้อายุยืน ทำให้หายจากความป่วยไข้ เพราะเรื่องราวมีมาแต่พุทธกาล คือสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประชวรมีพระอาการมาก ทรงโปรดให้พระสาวกสวดโพชฌงค์ถวาย ครั้นได้ทรงสดับโพชฌงค์แล้วพระอาการประชวรนั้นก็หาย

จึงเป็นแบบอย่างของการสวดโพชฌงค์มาตั้งแต่บัดนั้น โดยในครั้งโพธิกาลหลังจากเหตุการณ์ครานั้นแล้ว ยามใดที่พระสาวกป่วยหนัก พระบรมศาสดาเองบ้าง หรือพระสาวกด้วยกันเองบ้างก็จะสวดโพชฌงค์ถวาย และอาการป่วยไข้ก็หาย

เพราะเหตุนี้หลังจากโพธิกาลเป็นต้นมา จึงเป็นที่เชื่อถือปฏิบัติของชาวพุทธทั่วโลกว่าโพชฌงคปริตรเป็นพระปริตรที่สวดแล้วจะสามารถรักษาอาการป่วยไข้ให้หายและทำให้อายุยืน ดังนั้นจึงเกิดธรรมเนียมสวดเจริญอายุให้กับคนไข้ใกล้ตายมาจนถึงบัดนี้

ความจริงโพชฌงคปริตรนั้น ถึงแม้จะถือว่าเป็นธรรมโอสถอันวิเศษ แต่ก็ไม่สามารถทำให้คนพ้นจากความตายไปได้ ทุกชีวิตเกิดมาแล้วย่อมต้องตาย ไม่อาจล่วงพ้นไปได้เลย โพชฌงคปริตรจึงมีความศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ที่ยังไม่ถึงเวลาตาย และสำหรับผู้ที่มีภูมิธรรมขั้นสูง ใช้ยืดอายุเพื่อปฏิบัติภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จก่อน จึงสามารถขยายเวลาแห่งความตายออกไปได้ตามควรแก่เหตุและปัจจัย

โพชฌงค์เป็นองค์ธรรมแห่งความตรัสรู้ ประกอบด้วยองค์เจ็ดประการคือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ ปิติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์ธรรมอันเป็นเครื่องมือแห่งความหลุดพ้นหรือเป็นยานสำหรับข้ามแดนโลกียะมิติไปสู่วิมุตตะมิติ ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ ครั้นได้สดับโพชฌงค์แล้ว จิตก็จะโน้มนำไปสู่ความตั้งมั่น ไปสู่ความบริสุทธิ์ และมีพละกำลังอันควรแก่การทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของจิต จึงประกอบด้วยอิทธิฤทธิ์และปาฏิหาริย์

จิตเช่นนั้นเมื่อมีความปรารถนาและโน้มจิตไปให้ความป่วยไข้สร่างหายก็จะมีอานุภาพที่จะทำให้ความป่วยไข้นั้นสร่างหายได้จริง ดังนั้นโพชฌงค์จะสัมฤทธิผลได้จริงก็ต้องประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างหนึ่ง และสามารถปฏิบัติให้ถึงขั้นที่สามารถรับอานิสงส์ธรรมดาธรรมชาติแห่งโพชฌงค์นั้นอีกอย่างหนึ่ง

ในวัยเด็กของผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมคนป่วยไข้อาการมากเป็นเนืองนิตย์ บ้างก็เป็นการติดตามก๋งหรือยายหรือไม่ก็ติดตามแม่ไปเยี่ยมญาติหรือเพื่อนบ้านที่ป่วยไข้ จึงมีโอกาสเห็นคนใกล้ตายหลายครั้งและจำหมายได้ว่าคนเรายามใกล้จะตายนั้นมีอาการอย่างไร

โปรดติดตามตอนที่ 58 “สมเด็จโตรักษาโรคหัวใจ ตอน 2 (จบ)” ในวันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2550
กำลังโหลดความคิดเห็น