xs
xsm
sm
md
lg

แฉแก๊งปลิงดูดเลือดทีโอที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที
ผู้จัดการรายวัน – ฉีกหน้ากากก๊วนผลประโยชน์ ‘นที-นาฬิกอติภัค-สุภา-โสภณ’ อาศัยคราบกรรมการบอร์ดทีโอทีกับสหภาพฯแตกแถว เดินเกมประสานงานกับผู้บริหารมือเท้าเก่าในระบอบทักษิณ หวังเคลียร์ทางให้หัวเหว่ยแจ้งเกิดอีกรอบ แฉแผนทำลายล้าง ‘สมควร’ ทำไม เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ไม่ได้

เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 28 ส.ค. นายนุกูล บวรสิรินุกูล รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษคณะกรรมการบริษัท ทีโอทีในประเด็นละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชิบก่อให้เกิดความเสียหายกับทีโอที ตามมาตรา 157 ของประมวลกฏหมายอาญา

นายนุกูลกล่าวว่าต้องการให้รมว.ไอซีทีรับทราบถึงปัญหาการทำหน้าที่ของบอร์ดแต่ไม่ได้เจตนามุ่งขับไล่บอร์ด เพียงแต่ห่วงเรื่องนิติกรรมหรือการทำสัญญาใดๆ ของคณะกรรมการบริษัทมอบหมายให้กับผู้รับมอบอำนาจไปอาจจะเกิดความเสียหาย และในวันนี้ (29 ส.ค.) จะไปยื่นหนังสือให้กับนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้เร่งรีบดำเนินการในการจัดการในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน และหากยังไม่ชัดเจนอีกก็จะไปยื่นหนังสือกับพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และพล.อ. สนธิ บุณยรัตนกลิน ประธาน คมช.ห้รับทราบถึงปัญหาและดำเนินการแก้ไข ต่อไป

“มีบอร์ด 4-5 คน ที่มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ มีจุดมุ่งหมายที่ไม่เป็นผลดีกับทีโอทีซึ่งในภาพรวมเขาไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหา เมื่อดูจากการที่ลงมาเล่นบทบาทเกินหน้าที่มากกว่าการเข้ามาทำหน้าที่บริหารดูแลตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง”

นายนุกูลยังยกเรื่องการทำหน้าที่ไม่เหมาะสมของบอร์ดในประเด็นการจ่ายค่าจ้างเหมาบุคลากรทางด้านกฎหมาย เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับคดีข้อพิพาทกรณีค่าเชื่อมต่อโครงข่าย(เอซี) และค่าเชื่อมต่อโครงข่าย(ไอซี) ที่ได้ว่าจ้างนายศาสตรา โตอ่อน มาให้ความเห็นและการดำเนินคดีต่างๆในศาลหรืออนุญาโตตุลาการซึ่งมีพ.อ.นที ศุกลรัตน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท โดยมีสัญญาว่าจ้าง 25 เมษายน ถึง 31 ธันวาคม 2550 ในอัตราเดือนละไม่เกิน 150,000 บาท

ทั้งนี้นายศาสตรา เป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย หนึ่งในคณะทำงานด้านกฎหมาย ที่มีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ และ พ.อ.นที เป็นที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้มีประเด็นถึงความไม่ชอบมาพลถึงการใช้อำนาจในทางที่ไม่เหมาะสมและความผิดต่อการใช้งบประมาณเบิกจ่ายค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญโดยไม่ใช่วงเงินตามมติบอร์ด ที่ได้เคยกำหนดไว้ ตามหน้าที่ โดยนายศาสตรา เป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญซึ่งควรจะต้องได้รับวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อเดือน แต่เมื่อพ.อ.นทีเข้ามาทำหน้าที่ เป็น รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่มีการแก้ไขเป็นเดือนละ 1.5 แสนบาท ซึ่งอัตรานี้จะต้องเป็นเงินว่าจ้างส่วนของผู้เชี่ยวชาญพิเศษ

“พ.อ.นทีได้รับคำสั่งจากใครที่แก้ไขสัญญาจ้างโดยลืมมติบอร์ด เหมือนได้รับคำสั่งจากใคร หรือเป็นคำสั่งของคุณสุภา เพราะเป็นหัวหน้าทีมกฎหมายที่ต้องการให้มีการแก้ไขเกิดขึ้น”

สำหรับสัญญาฉบับนี้เป็นเอกสารประกอบหนังสือเลขที่ ทีโอที ชง./122 วันที่ 12 กรกฎาคม 2550 เรื่องการจ่ายเงินค่าจ้างเหมาบุคลากรทางด้านกฎหมาย โดยขัดต่อมติของบอร์ด ทีโอที ในครั้งที่ 10/2550 ระเบียบวาระ6.6 ในหนังสือเลขที่ ทีโอที ลกจ.(ล.)/459 วันที่ 4 พฤษภาคม 2550

นายนุกูลย้ำว่า การที่ออกมาพูดเพราะต้องการให้บอร์ดมีการปรับตัวในเรื่องของการทำงาน โดยอยากให้ทำงานแก้ไขปัญหา แต่ไม่ใช่ลงมาล้วงลูกเล่นเอง จนทำให้การทำงานภายในของทีโอทีเกิดความยุ่งเหยิง และไม่ได้คิดจะต่อสู้กับพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ประธานบอร์ดตามที่เป็นข่าว แต่ต้องการที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับองค์กรที่ขณะนี้รายได้ไม่มีเข้ามา มีแต่การตรวจสอบโยกย้าย ซึ่งประธานสหภาพฯไม่สามารถวางเฉยไม่ตระหนักถึงปัญหาในองค์กรได้ แตกต่างจากกรรมการสหภาพฯบางคนอย่างนายโสภณ ยาเอก ที่เป็นกรรมการในบอร์ดบริษัท เอซีที โมบายในฐานะตัวแทนสหภาพฯแต่กลับนิ่งเฉยมาเป็น 3 ปีทั้งๆที่รู้ปัญหาแต่กลับไม่ออกมาเรียกร้อง รวมทั้งเมื่อจะมีการตั้งพล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียนมาเป็นประธานเอซีที โมมายกับไทยโมบายกลับคัดค้าน คงเพราะกลัวจะมีการตรวจสอบขุดคุ้ยขึ้น

“ผมต้องออกมาพูดบ้างแล้ว ยอมไม่ได้กับที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนสร้างความแตกแยกวุ่นวาย ทั้งๆที่ผมออกมาเคลื่อนไหวให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น”

ทั้งนี้บอร์ดควรตรวจสอบแบบตรงไปตรงมาเพราะนอกจากนายสมควรแล้วยังมีผู้บริหารทีโอที อีกหลายคน อาทิ นายวาสุกรี กล้าไพรี โครงการไทยโมบาย 1900 นายสุวิทย์ สัตยารักษ์ โครงการ 5.6 แสนเลขหมาย นายชัยเชวง กฤตยาคม โครงการระบบบิลลิ่ง ก็ยังไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง และไม่มีความคืบหน้าของผลการสอบสวน เมื่อเทียบกับกรณีนายสมควร ซึ่งตรวจสอบได้ผลเร็วผิดสังเกตุ ซึ่งในฐานะประธานสหภาพฯเห็นว่าไม่เหมาะสม โดยบอร์ดควรที่จะให้ความเป็นธรรม และ กล้ารับผิดชอบในการกระทำในเรื่องของมติบอร์ดทุกๆเรื่อง โดยสหภาพฯจะไม่ได้เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือนายสมคว เพราะทีโอท คือองค์กรที่ต้องหารายได้เข้าสู่รัฐและต้องให้บริการประชาชน

ปัญหาบอร์ดเลอะเทอะ

ต้นเหตุของความวุ่นวายในทีโอทีที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกิดจากพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ในฐานะประธานบอร์ดไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมบอร์ดบางคนที่ออกนอกลู่นอกทางได้ ทั้งๆที่กระทรวงการคลัง มีหลักเกณฑ์และแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ ระบุไว้ชัดว่าบอร์ดกับฝ่ายบริหารควรแบ่งแยกหน้าที่กันอย่างชัดเจน และมีมติครม.เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2544 ให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งนำไปปฏิบัติ เพียงแต่ที่ผ่านมาถูกละเลยและมองข้ามไปเนื่องจากผลประโยชน์บังตา โดยเฉพาะนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ก็เคยอยู่ในคณะกรรมการยกร่างระเบียบดังกล่าวด้วย

หากไล่ลำดับเหตุการณ์จะเห็นภาพที่ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นในทีโอที และบอร์ดเล็กที่ประกอบด้วยพ.อ.นที ศุกลรัตน์ พ.อ.นาฬิกอติภัค แสงสนิท นางสาวสุภา ปิยะจิตติ เล่นเกมอะไรที่เอื้อประโยชน์เอกชนและทำความเสียหายให้ทีโอที เริ่มจาก

1. ยิ่งทีโอทีมีปัญหามากเท่าไหร่ คู่แข่งยิ่งเติบโตได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในการแข่งขันเชิงธุรกิจ เพราะโลกวันหน้าบริการบรอดแบนด์หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะเป็นโอกาสรอดของผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน ด้วยเทคโนโลยีอย่างวอยซ์โอเวอร์ไอพีหรือโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตที่จะเข้ามาแทนที่โครงข่ายพื้นฐานในปัจจุบัน

2. ทีโอทีฟ้องอุทธรณ์คำวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการกรณีค่าเชื่อมโยงโครงข่าย ที่ตัดสินให้ทีโอทีแพ้ต้องจ่ายให้ทรู 9 พันล้านบาทซึ่งหากคิดรวมดอกเบี้นจนถึงทุกวันนี้เป็นเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท โดยคดีนี้นายสมควร บรูมินเหนทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นผู้ยื่นอุทธรณ์และถือเป็นคนที่ขวางเงินก้อนโตดังกล่าว ดังนั้นกระบวนการกระทืบสมควรให้จมดินทำเหมือนสมควรเป็นผู้ก่อการร้ายจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทีโอทีแพ้อุทธรณ์

3. พฤติกรรมของบอร์ดเล็กทีโอที ตั้งแต่ต้นในช่วงสมัยนายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์เป็นกรรมการ ก็ขัดขวางการทำงานของสมควรทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแผนธุรกิจ ปรับโครงสร้าง การโยกย้ายผู้บริหาร บอร์ดเล็กจะขวางทุกเรื่อง โดยเป้าหมายต้องการตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่เสียเอง ซึ่งเมื่อนายวุฒิพงษ์ได้ตำแหน่งสมใจก็ทำทุกเรื่องที่เคยขวางสมควร แต่สุดท้ายกลายเป็นปลาหมอตายเพราะปาก พูดจาก้าวล่วงนายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.ไอซีทีจนต้องถูกไล่ออก โดยที่บอร์ดเล็กก็ตั้งพ.อ.นทีมารักษาการเพื่อสานงานต่อ

"นที" เพื่อนซี้ "หัวเหว่ย"

3.ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างพ.อ.นทีกับหัวเหว่ยเวนเดอร์ในระบอบทักษิณ ซึ่งกล่าวกันว่าพ.อ.นทีเป็นมือเขียนทีโออาร์โครงการโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอของบริษัท กสท โทรคมนาคมประเคนให้หัวเหว่ย และในช่วงระหว่างทีโอทีมีโครงการขยายโครงข่ายโทรศัพท์มือถือในระบบ 3G ในขณะนี้ก็มีคนเห็นการประชุมลับของพ.อ.นทีกับหัวเหว่ย นอกจากนี้ในช่วงรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ พ.อ.นทียังเรียกใช้รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่เป็นมือเป็นเท้าในระบอบทักษิณที่ถูกสอบไม่ว่าจะเป็นนายสุวิทย์ สัตยารักษ์ ที่เคยดูแลด้านพัสดุจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ให้หัวเหว่ยโดยใช้วิธีช็อตลิสต์ ล็อกสเปก ซอยงบประมาณ นายวาสุกรี กล้าไพรี ที่ปั้นโครงการให้หัวเหว่ยหลายโครงการ ทั้งๆที่อยู่ถูกตั้งกรรมการสอบเรื่องปัญหาไทยโมบาย แต่กลับมาเป็นกุนซือเบื้องหลังให้ตอนพ.อ.นทีรับตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่

นอกจากนี้พ.อ.นทียังมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติเนื่องจากตอนรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอทีไม่ได้ลาออกจากทหารเหมือนที่เคยพูดก่อนหน้านี้ คงยังรับเงินเดือนทหารเต็มจำนวน ซึ่งกรรมการบอร์ดคนอื่นแม้กระทั่งสายกระทรวงการคลังซึ่เงป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ไม่เคยสนใจความถูกต้อง

"โสภณ" สหภาพฯ เสือหิว

5.การอาศัยนายโสภณ ยาเอก กรรมการสหภาพฯแตกแถวสร้างความชอบธรรมและความสง่างามให้บอร์ด ในขณะที่ความเห็นที่คัดค้านหรือเป็นผลเสียกับบอร์ดของนายนุกูล บวรสิรินุกูล กลายเป็นความเห็นส่วนตัวทั้งๆที่เป็นประธานสหภาพฯ โดยเฉพาะนายโสภณอยู่ใต้ชายคานายวาสุกรี ที่ถือเป็นฐานกำลังสำคัญของบอร์ดเล็กในการขับเคลื่อนภายในทีโอที นายโสภณที่เดินล้อมหน้าล้อมหลังพล.อ.สพรั่ง ทำตัวประหนึ่งเป็นกรรมการบอร์ดหรือผู้บริหารมีหน้าที่หลักคือเพ็ดทูลป้อยอให้บอร์ดคล้อยตามว่าสหภาพฯหรือพนักงานเห็นชอบทุกสิ่งทุกอย่างที่บอร์ดปฏิบัติ ทั้งๆที่ตัวแทนพนักงานทุกกลุ่มหลัก เห็นว่าถึงเวลาที่บอร์ดต้องเปลี่ยนแปลง มีแต่นายโสภณเห็นดีเห็นงามกับบอร์ดชุดนี้

พฤติกรรมนายโสภณเหิมเกริมถึงขนาดทำหนังสือยับยั้งการตั้ง พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ที่ปรึกษาประธานบอร์ดเป็นประธานบริษัท เอซีที โมบายและกิจการร่วมค้าไทยโมบาย เนื่องจากนายโสภณต้องการกลบเกลื่อนสิ่งที่สมัยตัวเองเป็นกรรมการเอซีทีโมบายตลอด 3 ปีทำไว้ ไม่ต้องการให้ถูกขุดคุ้ย รวมทั้งไม่ต้องการให้โครงการสำเร็จในรัฐบาลนี้มีความต้องการดึงเรื่องออกไปสนองความต้องการนายของตัวเอง เนื่องจากรู้ว่าด้วยบุคลิก พล.ร.อ.บรรณวิทย์จะผลักดันโครงการนี้ให้เกิดโดยเร็วภายใต้รัฐบาลที่ปลอดจากนักการเมืองเพื่อประโยชน์สูงสุดของทีโอที

"สุภา" หลงบทตัวแทนคลัง

6.บทบาทไม่สมประกอบของบอร์ดที่มาจากตัวแทนคลังอย่างนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ที่แยกไม่ออกระหว่างอำนาจกำกับดูแลของบอร์ดกับอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารแม้กระทั่งการกระทำที่หมิ่นเหม่กับการละเมิดคำสั่งศาลปกครองที่คุ้มครองอำนาจกรรมการผู้จัดการใหญ่ของนายสมควร โดยนางสาวสุภาได้สั่งการให้นางทิพย์วรรณ์ วุฒิสาร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่เซ็นยื่นอุทธรณ์ไปยังกทช.เรื่องค่าธรรมเนียมเลขหมาย โดยที่หากคำสั่งศาลปกครองคุ้มครองนายสมควรยังมีผล ก็จะทำให้การยื่นอุทธรณ์ค่าเลขหมายเป็นโมฆะ ทีโอทีต้องจ่ายค่าปรับกว่า 700 ล้านบาทบวกค่าปรับอีกวันละ 2 หมื่นบาท

นอกจากนี้กรณีตามล่าตามล้างนายสมควรไม่ให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ นางสาวสุภากับพ.อ.นทียังมีการประชุมลับร่วมกับนายศาตรา โตอ่อนที่เป็นกรรมการสอบเรื่องที-เน็ปต้นเหตุที่เลิกสัญญาจ้างนายสมควรกับกลุ่มพลังมวลชนบางคนที่โรงแรมแรมคอนราด โดยต้องการล็อบบี้ประเด็นให้เห็นด้วยกับการปลดนายสมควรกับกลุ่มตัวแทนพลังมวลชนดังกล่าว ซึ่งพล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียนกำลังติดตามเรื่องนี้อย่างเข้มข้มว่าทำไมไม่ใช้ห้องประชุมทีโอทีที่มีอยู่จำนวนมาก และเงินที่ใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเงินส่วนตัวหรือเป็นเงินทีโอที

7.บอร์ดชุดนี้ยังไม่ปฏิบัติตามนโยบายของนายสิทธิชัย รมว.ไอซีที กรณีมีนโยบายให้บริษัทที่ยังไม่สามารถติดตั้งหรือดำเนินโครงการแล้วเสร็จ ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่ได้ โดยที่บอร์ดมักอ้างว่าไม่สามารถขึ้นแบล็กลิสต์ได้ แต่บอร์ดสามารถทำได้ในขั้นตอนการประกาศทีโออาร์ให้สงวนสิทธิ์บริษัทที่ทำงานไม่เสร็จห้ามเข้าประมูล แต่บอร์ดกลับไม่ทำ เพราะหัวเหว่ยมีโครงการไม่เสร็จในทีโอทีและกสทหลายโครงการอย่างโครงการซีดีเอ็มเอที่โด่งดัง เพราะล่าช้าเกือบปีหากต้องปรับตามเนื้อผ้าก็เป็นเงินกว่าหมื่นล้านบาท ในขณะที่พ.อ.นทีกลับสั่งการโดยตรงไปยังนายกิตติพงศ์ เตมียะประดิษฐ์รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้ชะลอการประกวดราคาโครงการ MSAN หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่โซน 4 นครหลวงไว้ก่อนเพราะต้องการเป็นคนจัดการเอง ทำให้เห็นว่าทุกอย่างบอร์ดชุดนี้ทำได้หมด แต่เลือกว่าจะทำให้ใครหรือไม่ทำให้ใครเท่านั้น

จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าพ.อ.นที พ.อ.นาฬิกอติภัค นางสาวสุภา เป็นกลุ่มก๊วนเดียวกันโดยมีนายโสภณเป็นแรงสนับสนุนในฐานะกรรมการสหภาพฯแตกแถว ประสานงานกับผู้บริหารมือเท้าเก่าในระบอบทักษิณ ที่ประเคนงานให้หัวเหว่ยพร้อมทั้งมีกลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่นที่เก็บตกผลประโยชน์ในความวุ่นวายเลอะเทอะที่เกิดขึ้น

ในขณะที่ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนกรณีทีโอทีกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งศาลที่กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้นายสมควร บรูมินเหนทร์ ผู้ฟ้องคดี โดยนัดไต่สวน 29 ส.ค. เวลา 13.30 น. หากศาลปกครองเห็นว่ามีการละเมิดคำสั่งศาลก็น่าจะทำให้ให้เกิดการขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการทีโอที เนื่องจากข้อบังคับข้อ 17(10) ทีโอทีระบุว่ากรรมการต้องไม่มีพฤติกรรมที่แสดงถึงการละเลยการทำหน้าที่ตามสมควรในการตรวจสอบดูแลมิให้บริษัทฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่เป็นไปตามกม.หรือวัตถุประสงค์และข้อบังคับของบริษัทตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

"รมว.คลัง" ให้ไอซีที-ทีโอทีดำเนินการ

ด้านนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวถึงความขัดแย้งภายในทีโอทีว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายให้ดำเนินการตามที่กระทรวงไอซีทีเห็นว่าเหมาะสม ในเบื้องต้นได้มีการหารือกั รมว.ไอซีท แล้ว แต่ยังไม่ลงในรายละเอียด เพราะยังต้องการให้คณะกรรมการทีโอทีและฝ่ายบริหารสะสางปัญหา อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น พร้อมที่จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ทุนวิสาหกิจ

"กระทรวงการคลังมีสิทธิปรับเปลี่ยนบอร์ดได้ แต่ตอนนี้เรามีตัวแทนกระทรวงฯ คือ นายชวลิต เศรษฐเมธีกุล และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ดูแลอยู่" นายฉลองภพ กล่าว
นายโสภณ ยาเอก กรรมการสหภาพฯ
นางสาวสุภา ปิยะจิตติ
กำลังโหลดความคิดเห็น