xs
xsm
sm
md
lg

ThaiBMAยันซับไพรม์ไม่กระทบ แนะธุรกิจหันระดมทุนในประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน : ตลาดตราสารหนี้เชื่อปัญหาซับไพรม์ไม่กระทบตราสารหนี้โดยตรง เหตุนักลงทุนรายย่อย-ทั่วไปไม่มีการลงทุนในตราสาร CDO มีเพียงสถาบันการเงินไม่กี่แห่งที่เข้าไปลงทุนแต่ก็เป็นจำนวนไม่มากนัก แต่กลับจะได้รับผลดีหากผู้ประกอบการที่มีแผนออกตราสารหนี้ต่างประเทศ หันมาออกตราสารในประเทศเพื่อลดต้นทุนและดอกเบี้ยขาลงหนุน

นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยถึงผลกระทบจากวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐอเมริกาต่อตลาดตราสารหนี้ของไทยว่า โดยภาพรวมส่วนใหญ่แล้วเชื่อว่าไม่น่าที่จะมีผลกระทบ แต่อาจจะมีบ้างก็เฉพาะในส่วนของนักลงทุนในประเทศ ที่เป็นนักลงทุนประเภทสถาบันอย่างธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)บางแห่งที่มีการเข้าไปลงทุนใน CDO หรือตราสารประเภทซีเคียวริไทซ์ ของซับไพร์มเท่านั้น ซึ่งก็เป็นจำนวนที่ไม่มากนัก

"ในแง่ของนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนทั่วไปค่อนข้างที่จะไม่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้เลย เพราะส่วนใหญ่นักลงทุนทั่วไปที่ไม่ใช่สถาบันแทบจะไม่รู้จักตราสารซีดีโอ หรือเข้าไปลงทุนในซับไพร์ม จะมีก็เพียงนักลงทุนสถาบัน เนื่องจากว่าผลตอบแทนที่ได้รับค่อนข้างสูง แต่ความเสี่ยงก็สูงด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นสำหรับเมืองไทยผลกระทบในเชิงลบโดยตรงคิดว่าค่อนข้างน้อยมาก"นายณัฐพลกล่าว

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาในทางอ้อมบ้าง เช่น ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหา ย่อมส่งผลมายังเศรษฐกิจไทยไปด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งออก หรือในเรื่องของผลกระทบในเรื่องของทิศทางอัตราดอกเบี้ย ที่ค่อนข้างจะชัดเจนว่าในระยะที่ยังมีปัญหาเรื่องซับไพร์มอยู่ ทางอเมริกาคงยังไม่มีการขยับดอกเบี้ยขึ้นมาแน่ เพราะฉะนั้นทิศทางดอกเบี้ยของไทยในครึ่งปีหลังนี้ก็น่าจะได้รับอิทธิพลอยู่ระหว่างทรงตัว กับอาจจะลดต่ำลงได้บ้างเล็กน้อย แต่จะยังไม่เป็นทิศทางขาขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับในเรื่องที่จะมีผลต่อการแนวทางในการทำซีเคียวริไทเซชั่นในตลาดตราสารหนี้ของไทยหรือไม่นั้น เชื่อว่าในกรณีของซับไพร์มไม่น่าจะมีผล เพราะวิธีการในการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือซับไพร์มของอเมริกา กับการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของไทยนั้นมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ที่สำคัญที่สุดคือสินเชื่อของไทยอยู่ในมือของธนาคารพาณิชย์ราว 85% และอีกที่เหลือจะอยู่ในมือของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งมักจะถือเอาไว้ในพอร์ตไม่ได้มีการนำเอาออกมาทำ Mortgage-backed Securitization อยู่แล้ว จึงไม่ได้มีผลอะไรนักในเรื่องนี้

"แต่ที่น่าจะเป็นผลดีก็คือ การที่เกิดกรณีซับไพร์มขึ้นมาจะทำให้ผู้ที่สนใจไปออกบอนด์ในต่างประเทศจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น และออกได้ลำบากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ต้องมีการหันกลับมาออกบอนด์ภายในประเทศแทนมากขึ้น ประกอบกับการที่ทิศทางดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระยะต่ำเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ในแง่ของผู้ออกตราสารหนี้น่าจะมีการออกตราสารหนี้กันมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มน่าจะเป็นไปดังที่เคยคาดไว้ว่าปลายปีนี้จะมีการออกตราสารหนี้กันมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีทยอยให้เห็นบ้างแล้ว” นายณัฐพลกล่าว

ทั้งนี้ แนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทางตลาดตราสารหนี้วิเคราะห์ว่า การที่เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรอีกครั้งหนึ่ง โดยปรับลดลง 0.25% จากร้อยละ 3.50% เป็น 3.25% และมีการประกาศมาตรการผ่อนคลายระเบียบการฝากเงินและการโอนเงินตราต่างประเทศ จำนวน 6 มาตรการ ประกอบกับการที่นักลงทุนส่วนหนึ่งโยกเงินลงทุนจากตลาดหุ้นที่ผันผวนมากในช่วงครึ่งหลังของเดือนมายังตลาดตราสารหนี้ น่าที่จะสามารถเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีแรงจูงใจในการลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น โดยที่พบว่ามูลค่าการซื้อขายสุทธิ(Net)ของนักลงทุนต่างชาติเปลี่ยนจากการขายสุทธิ (Net Sell) เป็นยอดซื้อสุทธิ (Net Buy)เป็นครั้งแรกในรอบปี โดยมียอดซื้อสุทธิ (Net Buy) เท่ากับ 2,675 ล้านบาท ในเดือนกรกฎาคม 2550 และ 1,579 ล้านบาทในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม

สำหรับภาพรวมการซื้อขายของตลาดตราสารหนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 50 พบว่าตลาดตราสารหนี้มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 4.8 ล้านล้านบาท สูงกว่ามูลค่าการซื้อขายในช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 215% และสูงกว่ามูลค่าการซื้อขายทั้งปี 2549 อยู่ 13% อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติลดลงอย่างมาก โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 50 มูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเท่ากับ 96,292 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 48% ในขณะที่ สัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติลดลงจากปี 2549 ที่เท่ากับ 13% ของมูลค่าซื้อขายรวม มาอยู่ที่ 2% โดยเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเป็นการขายสุทธิ (Net Sell) จำนวน 44,332 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ ธปท.จะเพิ่มทางเลือกให้เงินลงทุนในตราสารหนี้สามารถเลือกทำการป้องกันความเสี่ยงแบบเต็มจำนวน (Fully Hedge) แทนการกันสำรอง 30% ได้ก็ตาม แต่พบว่ามาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถจูงใจให้ต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของนักลงทุนต่างชาติลดลงเหลือเดือนละ 16,049 ล้านบาท เทียบกับปี 2549 ที่มูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเฉลี่ยเดือนละ 45,210 ล้านบาท

สำหรับสัดส่วนการลงทุนโดยแยกตามอายุของตราสารหนี้พบว่าการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของนักลงทุนต่างชาติจะเน้นที่ตราสารหนี้ที่มีอายุระหว่าง 5-10 ปี โดยคิดเป็น 36% ของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ในขณะที่ปี 2549 สัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุระหว่าง 5-10 ปี มีเพียง 15% โดยการลงทุนถึง 43% อยู่ในตราสารหนี้ที่มีอายุไม่ถึง 1 ปี

ในแง่ของสัดส่วนการลงทุน ที่แบ่งตามประเภทของตราสารหนี้ พบว่ามูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาล ถึง 51.82% และพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bonds : SA) ซึ่งเป็นพันธบัตรประเภทอายุสั้นๆ ไม่ถึง 1 ปี ในสัดส่วน 38.90%

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield curve) ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งเส้น ประมาณ 165-190 bps เป็นผลจากการที่ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP 1 วัน) ถึง 4 ครั้ง จากระดับ 5.0% ในเดือนมกราคม มาอยู่ที่ 3.50% เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม และเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ปรับลดลงอีก 0.25 % มาอยู่ที่ 3.25% อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 1 ปี ปรับตัวลดลง 191 bps. จาก 4.98% เป็น 3.072% พันธบัตรอายุ 5 ปีลดลงประมาณ 174 bps จาก 5.1% เป็น 3.35% ในขณะที่พันธบัตรระยะยาว 10 ปีปรับตัว 170 bps จาก 5.45% เป็น 3.75%

โดยสรุปยอดถือครองตราสารหนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าจากการที่นักลงทุนต่างชาติทยอยขายตราสารหนี้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้มูลค่าการถือครองตราสารหนี้ของต่างชาติ (Net Holding) ลดลงไป 53 % จาก 102,300 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 เหลือเพียง 48,415 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.2 % ของมูลค่าคงค้างรวมของทั้งตลาด
กำลังโหลดความคิดเห็น