xs
xsm
sm
md
lg

NPLใหม่โผล่6.4หมื่นล้าน อสังหาฯสูงสุด-อุตฯพุ่งแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติเผยไตรมาส 2 อสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนเอ็นพีแอลมากที่สุดในระบบถึง 15.16% ขณะที่หนี้ที่เพิ่มขึ้นเกิดลูกหนี้รายใหม่ก่อตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวถึง 63,972 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากแบงก์พาณิชย์ไทย ส่วน "ยอดเพิ่มสูงสุด" อยู่ที่ธุรกิจอุตสาหกรรม 41,891 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนเพิ่มจาก 9.92 เป็น 11.32% มีทั้งลูกหนี้ใหม่-เก่า ด้านเอ็นพีแอลรายย่อยส่อวิกฤต ความสามารถในการชำระหนี้ทรุด รวมกลุ่มแจ้งกองปรับจับ 4 แบงก์

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.ได้รายงานยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แยกรายภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นเอ็นพีแอลที่สถาบันการเงินยังไม่ได้กันเงินสำรองสำหรับหนี้สงสัยจะสูญหรือหนี้สูญ ล่าสุดสิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 พบว่า ในระบบภาคธุรกิจมียอดเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 470,645 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.83% โดยภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมมากที่สุด คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็น 15.16% หรือมีเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 51,947 ล้านบาท รองลงมาเป็นธุรกิจก่อสร้าง คิดเป็น 13.91% มีมูลหนี้ 26,965 ล้านบาท อันดับ 3 ธุรกิจเกษตร ประมง และป่าไม้ คิดเป็นสัดส่วน 11.62% คิดเป็นมูลหนี้ 12,046 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจการเหมืองแร่และย่อยหินคิดเป็นสัดส่วน 11.42% มีมูลหนี้ 2,450 ล้านบาท ธุรกิจอุตสาหกรรมสัดส่วน 11.32% มีหนี้ 117,275 ล้านบาท ธุรกิจการพาณิชย์มีสัดส่วน 7.88% คิดเป็นเอ็นพีแอล 76,690 ล้านบาท ธุรกิจการบริการ 7.40% หรือมีเอ็นพีแอล 33,927 ล้านบาท ธุรกิจการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลสัดส่วน 4.94% มีเอ็นพีแอล 64,924 ล้านบาท ธุรกิจการธนาคารและธุรกิจการเงินสัดส่วน 2.42% มูลหนี้ 15,960 ล้านบาท ธุรกิจสาธารณูปโภคสัดส่วน 2.36% มูลหนี้ 8,412 ล้านบาท และธุรกิจอื่นๆ อีก 0.19% คิดเป็นมูลหนี้ 48 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากสัดส่วนเอ็นพีแอลของรายธุรกิจดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าในธุรกิจอุตสาหกรรม การพาณิชย์ การธนาคารคารและธุรกิจการเงิน การสาธารณูปโภค และการบริหารมีสัดส่วนเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ไตรมาสนี้มีสัดส่วน 11.32% จากไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วน 9.92%

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากยอดเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ พบว่า ภาคธุรกิจมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 97,249 ล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมดมาจากลูกหนี้รายใหม่จำนวน 63,972 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24,800 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นลูกหนี้รายเก่าที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วกลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่ (รี-เอ็นทรี) 24,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,467 ล้านบาท และมีเพียงเอ็นพีแอลที่เกิดจากเหตุผลอื่นๆ อีก 9,024 ล้านบาท ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน 11,834 ล้านบาท

โดยรายภาคธุรกิจที่มียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมากที่สุดในไตรมาส 2 ของปีนี้ คือ ธุรกิจอุตสาหกรรมมีหนี้เพิ่มขึ้นถึง 41,891 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเอ็นพีแอลที่เกิดจากลูกหนี้รายใหม่ 25,908 ล้านบาท เป็นรีเอ็นทรี 10,244 ล้านบาท ซึ่งเป็นเอ็นพีแอลที่เกิดจากลูกหนี้รายใหม่และที่เป็นรีเอ็นทรีสูงสุดในระบบภาคธุรกิจ และที่เหลืออีก 5,740 ล้านบาท เป็นเอ็นพีแอลจากเรื่องอื่นๆ

รองลงมาธุรกิจการพาณิชย์มีเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น 18,346 ล้านบาท โดยเป็นเอ็นพีแอลจากลูกหนี้รายใหม่ 13,264 ล้านบาท รีเอ็นทรี 4,323 ล้านบาท และเหตุผลอื่นๆ 759 ล้านบาท และอันดับ 3 เป็นธุรกิจการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 13,357 ล้านบาท แบ่งเป็นเอ็นพีแอลเกิดจากลูกหนี้รายใหม่ 9,764 ล้านบาท รีเอ็นทรี 2,687 ล้านบาท และเรื่องอื่นๆ อีก 906 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของยอดเอ็นพีแอลในไตรมาสนี้ภาคธุรกิจที่มีการเร่งตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ ธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งมียอดเอ็นพีแอลส่วนต่างเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบถึง 19,888 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีธุรกิจการพาณิชย์ การอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การสาธารณูปโภค และธุรกิจการบริการ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ สาเหตุการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลทั้งระบบเกิดจากเอ็นพีแอลรายใหม่จำนวน 63,972 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 61,763 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 1,915 ล้านบาท และบริษัทเงินทุน 294 ล้านบาท ส่วนกลุ่มรีเอ็นทรีล้วนเกิดจากธนาคารพาณิชย์ไทยแทบทั้งสิ้นจำนวน 24,253 ล้านบาท และในสาเหตุอื่นๆ จำนวน 9,024 ล้านบาท จากธนาคารพาณิชย์ไทย 8,221 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 791 ล้านบาท และบริษัทเงินทุนอีก 11 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากพิจารณาจากตัวเลขเอ็นพีแอลที่สถาบันการเงินได้รายงานในไตรมาสนี้ พบว่า เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น 97,249 ล้านบาท และมีเอ็นพีแอลที่ลดลง 75,747 ล้านบาท ทำให้มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นสุทธิ 21,520 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นจากลูกหนี้รายใหม่ ซึ่งได้รับผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้มียอดหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้ที่เกิดจากการรีเอ็นทรีก็กลับมาเร่งตัวมากขึ้นเช่นกัน

***การชำระหนี้รายย่อยส่อวิกฤต
การก่อตัวของหนี้เสียภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เป็นความต่อเนื่องหลังจากรายย่อยหรือผูบริโภคมีปัญหาชำระหนี้หลังจากเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะเอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในครึ่งปีแรกของปี 2550 โดยครึ่งแรกของงปีนี้ เอ็นพีแอลโดยรวมเพิ่มขึ้น 27 ,000 ล้านบาท ส่งผลให้เอ็นพีแอลในระบบปรับเพิ่มขึ้น 7.8 % ของสินเชื่อรวม จากระดับ 7.5% ณ สิ้นปี2549 ขณะที่เอ็นพีแอลสุทธิหรือหักสำรองหนี้เสียแล้วเพิ่มขึ้น 18,300 ล้านบาท หรือประมาณ 4.4%ของสินเชื่อรวม สูงขึ้นจากระดับ 4.1 % ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเอ็นพีแอลในภาคธุรกิจการผลิตปรับเพิ่มขึ้นที่ 11.3 %จาก 9.9% ในไตรมาสแรก ส่วนภาคพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7.9% จาก 7.3% ในไตรมาสแรก และภาคก่อสร้างปรับตัวลดลงจากระดับ 16.2%ในไตรมาสแรกเหลือ 13.9% ในไตรมาส 2

ทั้งนี้ ภาคอุปโภคบริโภคปรับเพิ่มขึ้น เช่น บัตรเครดิตเพิ่มจาก 3.1%เป็น 3.5%เช่าซื้อรถยนต์เพิ่มจาก 1.3%เป็น 1.7%ส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธปท.เพิ่มจาก 4.4%เป็น 4.9% เอ็นพีแอลของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับลดลงจาก 6.0%เหลือ 5.7% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ความสามารถในการผ่อนชำระของลูกค้ามีเพิ่มขึ้น โดยระบุว่าธปท.ยังมีความห่วงต่อแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลในระบบ ซึ่งมีสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวออกไปอีก ผู้บริหาร ธปท.ยอมรับว่ากำลังจับตาสถานการณ์เอ็นพีแอลของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด

**ลูกหนี้รวมกลุ่มแจ้งกองปราบ
วานนี้ (26 ส.ค.) ลูกหนี้บัตรเครดิตรวมกลุ่มกันแจ้งความกองปราบให้ดำเนินคดี 4 แบงก์พาณิชย์ข้อหากรรโชกทรัพย์ โดยนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค นำลูกค้าบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลกว่า 50 คน เจ้าแจ้งความพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เพื่อให้ดำเนินคดีกับสถาบันการเงิน 4 แห่ง ในข้อหาหมิ่นประมาท กรรโชกทรัพย์ และข่มขู่ ทำให้เกิดความหวาดกลัว หลังจากผู้เสียหายตกเป็นหนี้บัตรเครดิต เนื่องจากไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าสินค้าได้ สถาบันการเงินเจ้าหนี้ จึงว่าจ้างให้บริษัทรับทวงหนี้มาทวงหนี้โดยวิธีการไม่สุภาพ ทั้งข่มขู่ และกรรโชก ด้วยถ้อยคำหยาบคาย รวมทั้งส่งเอกสารทวงหนี้ไปที่ทำงาน และที่บ้าน หลายครั้ง เพื่อให้เกิดความอับอาย นอกจากนี้ ยังทำจดหมายเลียนแบบหมายศาลเพื่อให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าเป็นคำสั่งศาล หากไม่ใช้หนี้จะถูกยึดทรัพย์เบื้องต้น เจ้าน้าที่ตำรวจ ได้ลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ก่อนที่จะเรียกผู้เกี่ยวข้องเพื่อสอบปากคำต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น